xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าเพิ่มผืน “ป่าชุมชน” กรมป่าไม้ ชูสร้างกันชนปกป้องป่าที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ประลอง ดำรงค์ไทย
ในช่วงประมาณ 1 ปีนี้ ป่าไม้ของประเทศไทยถูกทำลายลดลงกว่า 2 เท่าตัว จากปีละ 6 แสน-1 ล้านไร่ต่อปี เหลือเพียง 33,000 ไร่ต่อปี โดยเหตุผลที่สนับสนุน ไม่ใช่เพราะได้รัฐบาลทหารปกครองเท่านั้น แต่เป็นผลลัพธ์ของแนวร่วมประชาชนที่เข้ามาช่วยกันดูแลรักษา “ป่าชุมชน” กลายเป็นแนวกันชนปกป้องป่าสมบูรณ์ที่มีความยั่งยืน


ประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงผลลัพธ์ของการสร้างป่าชุมชน ว่าการได้ชุมชนมาช่วยกันจัดการฟื้นฟูดูแลรักษา ทั้งจากปัญหาไฟป่า การบุกรุกแผ้วถางทำลาย การปกป้องการหาของป่าจนเกินกำลังที่ป่าจะรับได้ มีลักษณะคล้ายกันคือ ชุมชนหรือหมู่บ้านที่ดูแลป่าชุมชนจะมีกฎระเบียบในการดูแลและร่วมใช้ประโยชน์ เช่น คนในชุมชนร่วมกันทำแนวกันไฟ การจัดเวรยามเดินลาดระเวณ การสร้างกติกาในการเก็บหาของป่า เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ เป็นต้น ทำให้ชุมชนหวงแหนป่าไม้ เพราะพวกเขาได้รับประโยชน์จากป่าด้วย และป่าชุมชนส่วนมากอยู่ใกล้กับชุมชนจึงเป็นการสร้างแนวกั้น
ขณะนี้การดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ 102.24 ล้านไร่ ส่วนหนึ่งตรึงป่าที่มีอยู่ด้วยความร่วมมือของกองทัพ กับอีกส่วนหนึ่งอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษา สำหรับป่าในประเทศไทยแบ่งเป็นป่าสงวน 59 ล้านไร่ และเป็นป่าอุทยานอีก 55 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ของ สปก. อีก 30 ล้านไร่ ซึ่งตัวพื้นที่ป่าไม้ 102.24 ล้านไร่ มาจากการเฉลี่ยแบบครึ่งต่อครึ่งทั้งภายในและนอกเขตอุทยาน ทั้งนี้ ในป่าสงวน นอกเขตอนุรักษ์ มีป่าสมบูรณ์ 33 ล้านไร่ เราใช้วิธีตรึงกำลัง และรักษาไว้ให้ได้โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษา ซึ่งเราเรียกว่าโครงการ “ป่าชุมชน” ซึ่งมีพื้นที่ 26 ล้านไร่ เป็นป่าเสื่อมสภาพ เวลานี้อาศัยชุมชน ภาคเอกชนเป็นความร่วมมือของประชารัฐมาร่วมกันฟื้นฟู
ลุ้น พ.ร.บ.ป่าชุมชน หนุนเพิ่มพื้นที่ป่า 10 ล้านไร่
เมื่อก่อนประมาณปี 2535 เป็นต้นมา มีชาวบ้านคอยช่วยดูแลป่า โดยพวกเขาพำนักอาศัยรอบๆ ป่า และอาศัยการใช้ประโยชน์จากป่า เช่นเข้าไปเก็บหาของป่าต่างๆ แต่มันไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ แต่ชาวบ้านสามารถช่วยดูแลป่าไม้ให้ดีขึ้น ทางการจึงนำนโยบายนี้กลับมาทำอีก ซึ่งในปี 2543 กรมป่าไม้ จัดทำโครงการป่าชุมชนขึ้นครั้งแรกที่ จ.ชัยนาท ปรากฏว่าตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้มีโครงการป่าชุมชนจำนวน 9,700 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 4.5 ล้านไร่ จากเป้าหมาย 10 ล้านไร่ทั่วประเทศหรือ 21,850 แห่ง ส่วนขนาดพื้นที่ก็จะแล้วแต่ว่าชาวบ้านจะสามารถดูแลได้มากน้อยเท่าใด และในอนาคตอาจจะนำป่าต้นน้ำมาทำเป็นป่าชุมชนด้วย
รองอธิบดีกรมป่าไม้ บอกว่า “เรื่องพระราชบัญญัติป่าชุมชน ขณะนี้ผ่าน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้ว หากออกมาเป็นกฎหมายสมบูรณ์จะสร้างความชัดเจน เพราะตอนนี้ป่าชุมชนอาศัยกฎหมายป่าสงวนรองรับ แต่ถ้ามีกฎหมายป่าชุมชนโดยตรง ชาวบ้านก็สามารถนำของป่ามาใช้ในเชิงการค้าได้เพื่อสร้างรายในเข้าในชุมชน เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านไม่สามารถขายของป่าได้ และรัฐก็ไม่ได้ให้ทุนสนับสนุน เพราะกฎหมายเดิมระบุว่าให้ใช้ของจากป่าเฉพาะภายในครัวเรือนเท่านั้น"
นอกจากนี้ ประโยชน์ของกฎหมายป่าชุมชน ยังก่อประโยชน์ในด้านการแบ่งพื้นที่ป่าไปใช้สอย กับพื้นที่อนุรักษ์ให้ทำการท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ เพราะ พรบ. ที่ออกมานั้นกรมป่าไม้จะเป็นผู้ดูแล ผ่านคณะกรรมการ 3 ระดับ ได้แก่
1.คณะกรรมการป่าชุมชนระดับพื้นที่ (ชาวบ้านเป็นคณะกรรมการเอง แต่ก็มีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เข้าร่วมด้วย)
2.คณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด (ผู้ว่าจะเป็นคนดูแล ควบคุมป่าชุมชนในจังหวัดของตัวเอง)
3.คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน (รัฐมนตรีจะเป็นประธานเมื่อเกิดปัญหาก็จะให้กรรมการชุดใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจ)

เหตุผลดีๆ ของป่าชุมชน
เพราะการอาศัยพลังของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ป่า เข้ามาร่วมฟื้นฟู ดูแลพื้นที่ป่า ให้เป็นป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ช่วยสร้างพื้นที่ที่มีประโยชน์ต่อการรักษาระบบนิเวศ ช่วยทั้งฟื้นฟูแหล่งน้ำ และความชุ่มชื้นตลอดจนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยที่ชุมชนแห่งนั้น จะได้ใช้ประโยชน์ยั่งยืนและเอื้อประโยชน์ไปถึงประชาชนที่อยู่ไกลผืนป่าออกไป รวมถึงประชาชนที่อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันซึ่งถือว่าสร้างความยุติธรรมในสังคม พร้อมทั้งยังเป็นแนวทางที่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการและรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น