•เบื้องหลัง นโยบาย EDI หรือการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม
•กุญแจที่เกิดประสิทธิผลในทุกประเทศที่ไปเปิดดำเนินงาน
•เสริมสร้างเป็นวัฒนธรรมขององค์กรจนถูกยอมรับว่าเป็นองค์กรชั้นแนวหน้าของสหราชอาณาจักร
จากการประกาศใช้นโยบายการส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม (Equality, Diversity and Inclusion: EDI) โดยให้คุณค่าอย่างจริงจังในเรื่องความแตกต่างหลากหลายของผู้คนเป็นหลักสำคัญในการดำเนินงาน บริติช เคานซิล ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร ที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คนทั่วโลกที่มีภูมิหลังที่แตกต่างและหลากหลาย ได้กำหนดแนวทางและแสวงหามาตรการเพื่อสอดรับกับการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวอย่างจริงจัง
มร. แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า นโยบาย EDI หรือการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมสะท้อนถึงความเป็นสังคมร่วมสมัยของสหราชอาณาจักรและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการจัดการองค์กร นโยบายนี้มิได้เพียงแค่ทำให้บริติช เคานซิล สามารถปฏิบัติตามกฏหมายด้านการเลือกปฏิบัติได้เท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะทำให้บริติช เคานซิลเป็นองค์กรที่มีประสิทธิผลในการดำเนินงานมากขึ้นอีกด้วย
นโยบายการส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมนั้นปรากฏอยู่ในทุกภาคส่วนขององค์กร ดังต่อไปนี้
-การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน
-ความสมดุลระหว่างภาระการงานและชีวิตส่วนตัว
-การแสดงความคิดเห็นต่อเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน และผู้บริหารได้อย่างสร้างสรรค์ และอิสระเสรี
-การจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม
-สุขภาพกายและจิตใจ และความปลอดภัยและความคล่องตัวของพนักงานในการทำงาน
พนักงาน ลูกค้า ผู้มาใช้บริการ และผู้ให้บริการ มีความเท่าเทียม
“พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติและเคารพต่อหลักมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน ซึ่งกำหนดให้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติตนของพนักงานทุกคนในองค์กร ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่ใดในโลก นโยบายนี้ยังใช้กับบุคคลที่สามที่ทำงานร่วมกับบริติช เคานซิล อย่างเช่น ลูกค้า ผู้มาใช้บริการ และผู้ให้บริการ” ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล กล่าวถึงหลักความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสและการมีส่วนร่วมของทุกคนอย่างเท่าเทียม
พร้อมจะต้องมุ่งมั่นส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่เลือกปฏิบัติกับบุคคลด้วยความแตกต่างทางเพศ รวมทั้งผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศ สถานภาพสมรส (ซึ่งรวมถึงการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน) รสนิยมทางเพศ ศาสนาและความเชื่อ ความคิดเห็นทางการเมือง เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เวลาการทำงาน อายุ ความทุพพลภาพ หรือสถานะการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ ภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจ ความผิดที่เคยกระทำ การเป็นสมาชิกและการเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน รวมถึงการมีครอบครัวแล้ว หรือยังไม่มีครอบครัว หรือในด้านอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน เพื่อประโยชน์สำหรับพนักงาน รวมถึงผู้ที่สนใจร่วมงานกับองค์การในอนาคต องค์กรพันธมิตร ลูกค้าและผู้มาใช้บริการ ทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีและความเสมอภาคในการทำงาน อีกทั้งยังช่วยให้สามารถให้บริการที่ดีที่สุดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
เสริมสร้างเป็นวัฒนธรรมขององค์กร
ในฐานะองค์กรของสหราชอาณาจักรที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คนที่มีภูมิหลังที่แตกต่างหลากหลายผ่านการสร้างโอกาสทางการศึกษาและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม บริติช เคานซิลได้สร้างบรรยากาศแห่งการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งจนพนักงานนำมาปฎิบัติเป็นค่านิยมและเป็นกรอบในการกำหนดพฤติกรรมและการกระทำ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของพนักงานด้วยกันเองในองค์กร ตลอดจนเป็นกรอบในการดำเนินงานขององค์กรและการปฏิบัติงานของพนักงาน จนส่งผลให้บริติช เคานซิล ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรชั้นแนวหน้าของสหราชอาณาจักรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการความเสมอภาคและความหลากหลายในองค์กร
ดังจะเห็นจากการที่บริติช เคานซิล ได้รับการจัดลำดับสูงสุดโดยเว็บไซต์ของ Stonewall ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมความเสมอภาคและความยุติธรรมให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ได้แก่ เกย์ เลสเบี้ยน และไบเซ็กชวล ว่าเป็นองค์การที่เป็นมิตรกับเกย์ หรือ Gay Friendly Organisation มากที่สุด (The Guardian, 2014)
ชูแนวคิดเสมอภาค คัดสรรพนักงาน
แนวคิดความเสมอภาคในโอกาสและความหลากหลายเป็นหลักสำคัญในกระบวนการและขั้นตอนการสรรหาและคัดเลือกบุคลากร ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกระบวนการนี้ต้องได้รับการฝึกอบรมด้านนี้ก่อน การประกาศโฆษณาตำแหน่งงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรในทุกสื่อ ต้องไม่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการในการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (Unjustified Discrimination) ในประเด็นที่ได้กล่าวมาข้างต้น การประกาศตำแหน่งงานว่างต้องแสดงให้สาธารณะชนทราบถึงพันธกิจสำคัญในการนำหลักการนี้มาใช้ภายใต้คำกล่าวที่ว่า
“The British Council is committed to a Policy of Equal Opportunity and Diversity”
“We welcome applications from all sections of the communities”
“We guarantee an interview to disabled candidates who meet the essential criteria”
พนักงานทุกคนเมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกของบริติช เคานซิลแล้วจะได้รับคำแนะนำและการมอบหมายภาระหน้าที่อย่างชัดเจนและเป็นธรรมจากหัวหน้างาน ได้รับการฝึกอบรมที่เท่าเทียมและเหมาะสม และสามารถพูดคุยกับหัวหน้างานได้โดยตรงถึงการฝึกอบรมที่ตนเองต้องการ ซึ่งสามารถกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาตนเอง (Professional Development) ประจำปี นอกจากนั้น ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน หัวหน้างานจะประเมินการดำเนินงานเฉพาะจากหลักฐานที่แท้จริงเท่านั้น โดยปราศจากอคติหรือการสันนิษฐานด้วยตนเอง
ความสมดุลระหว่างภาระการงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) เป็นเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่บริติช เคานซิลแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจถึงประโยชน์ของการช่วยให้พนักงานสามารถสร้างความสมดุลให้กับงานและชีวิตส่วนตัว พนักงานทุกคนได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำงานได้อย่างมีความยืดหยุ่นเมื่ออยู่ในสภาวะที่ดำเนินงานได้ เช่น การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การไม่กำหนดระยะเวลาเข้างานหรือเลิกงาน กล่าวคือ ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการเริ่มงานที่ตายตัว แต่พนักงานต้องทำงานให้ครบจำนวน 7.5 ชั่วโมง และครอบคลุมช่วงระยะเวลาทำการหลักระหว่าง 11.00 - 16.00 น. ซึ่งความยืดหยุ่นมีผลในแง่จิตวิทยาที่ทำให้พนักงานไม่รู้สึกถูกควบคุมจนเกินไป ในทางกลับกันกับสร้างความมีระเบียบวินัยในการเข้างานได้ตรงเวลาและทำงานครบจำนวนชั่วโมงที่กำหนดได้อย่างดี เพราะพนักงานจะเกิดความละอายต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นหากมาทำงานสายหรือทำงานไม่ครบชั่วโมง นอกจากนั้น ยังมีการให้วันลาคลอด (Maternity Leave) สำหรับพนักงานผู้หญิง เป็นระยะเวลา 6 เดือน และวันลาสำหรับพนักงานผู้ชาย (Paternity Leave) ที่ต้องการดูแลภรรยาหลังจากให้กำเนิดบุตร เป็นระยะเวลา 10 วัน โดยทั้งสองกรณีพนักงานได้รับเงินเดือนตามปกติ นอกจากนั้น พนักงานยังสามารถหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน (Career Breaks) และลากรณีพิเศษ (Special / Compassionate Leave)
ภายใต้สิ่งแวดล้อมของการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม บริติช เคานซิล สนับสนุนให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็น (Speak Up) ทั้งต่อเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน และผู้บริหารได้อย่างสร้างสรรค์ และอิสระเสรี พนักงานทุกคนมีสิทธิที่จะทำการร้องเรียน (Complaint) ในกรณีที่รู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากหัวหน้างานหรือองค์กร หรือถูกรังแกหรือละเมิด (Bullying and Harassment) โดยสามารถร้องเรียนได้โดยช่องทางที่จัดเตรียมไว้ภายใต้โครงสร้างการร้องเรียน (Grievance Frame) โดยพนักงานที่ดำเนินการร้องเรียนจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติและได้รับความปลอดภัยจากการร้องเรียน นอกจากนั้น พนักงานยังสามารถแสดงความคิดเห็นสะท้อน (Feedback) ผ่านแบบฟอร์ม 360 องศา
ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม (Equality and Pay) นั้น ทางบริติช เคานซิล ได้ใช้การจ่ายค่าตอบแทนต่อพนักงานที่โปร่งใส และขึ้นอยู่กับเกณฑ์ตามวัตถุประสงค์ การจ่ายอย่างเท่าเทียม ปราศจากอคติในเรื่องเพศ และเรื่องอื่นๆดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ในงานที่เหมือนหรือใกล้เคียงกันในองค์กร และทางบริติช เคานซิลมีการสำรวจเงินเดือน (Salary Survey) ในเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อทำให้พนักงานมั่นใจได้ว่าอัตราเงินเดือนที่กำหนดสอดคล้องกับอัตราเงินเดือนในองค์การอื่นๆในตลาดแรงงานที่ดำเนินงานและมีสถานะขององค์การคล้ายคลึงกับริติช เคานซิล นอกจากนั้น เพื่อความโปร่งใส ทางบริติช เคานซิลยังดำเนินการตรวจสอบทางบัญชีประจำปีจากผู้ตรวจสอบบัญชีจากหน่วยงานภายนอก (Equal Pay Audit)
นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและจิต และความปลอดภัยของพนักงานในการทำงานผ่านนโยบาย Health and Safety ตลอดจนสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการทำงานอย่างสร้างสรรค์มาใช้ ผ่านวิธีการทำงานอย่างชาญฉลาด (Smart Working) ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่มุ่งเน้นการจัดการผลลัพธ์ พนักงานจะถูกประเมินจากผลลัพธ์จากการดำเนินงานว่าเป็นไปตามตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยมีหัวหน้างานเป็นผู้สอนงานที่คอยสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกน้องมากกว่าที่จะเป็นผู้ควบคุมกระบวนการทำงาน พนักงานมีเสรีภาพและมีอำนาจในการตัดสินใจ พนักงานสามารถสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในการทำงานกับพนักงานคนอื่นๆผ่านการใช้พื้นที่ทำงานร่วมกัน กล่าวคือ พนักงานไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะทำงานประจำ (Hot Desking) ทำให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ เช่น เครื่องมือสื่อสารภายใน ( Office Communicator) ที่ช่วยให้พนักงานสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็วกับทั้งพนักงานภายในประเทศและในประเทศอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้พนักงานของบริติช เคานซิลได้ทำงานในสถานที่เหมาะสม มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์พร้อม มีการทำงานที่ยืดหยุ่น และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
บริติช เคานซิลเป็นองค์การระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อความร่วมมือด้านโอกาสทางการศึกษา และศิลปวัฒนธรรมกับนานาประเทศ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ และสถานทูตอังกฤษในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทของสหราชอาณาจักรบนเวทีโลกในฐานะมิตรประเทศ โดยมีความเชื่อมั่นว่าการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ ภาษา และวิถีชีวิตสามารถนำไปสู่ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างกันได้ ซึ่งงานของบริติช เคานซิล ครอบคลุมด้านการขยายโอกาสทางการศึกษา การสอนภาษาอังกฤษ บริการการสอบ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ วิทยาศาสตร์ และงานพัฒนาสังคม โดยสำนักงานของบริติช เคานซิลที่ดำเนินงานอยู่ในแต่ละประเทศนั้น ล้วนประกอบไปด้วยความหลากหลายของพนักงาน เช่น เพศ อัตลักษณ์ทางเพศ เชื้อชาติ อายุ ศาสนา หรือวัฒนธรรม เป็นต้น
“นโยบาย EDI ดังกล่าว เริ่มต้นที่สหราชอาณาจักร เนื่องจากองค์กรของเราจัดตั้งขึ้นและมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร แต่นโยบายนี้มีผลบังคับใช้ทั้งในสหราชอาณาจักรและในทุกประเทศที่บริติช เคานซิลดำเนินงานอยู่ตามแต่กฎหมายในแต่ละประเทศจะอำนวยให้ หากระเบียบปฏิบัติและกฎหมายท้องถิ่นในประเทศนั้นๆได้รับการพัฒนาและมีข้อกำหนดที่ครอบคลุมเข้มงวดมากกว่าในสหราชอาณาจักร บริติช เคานซิลก็จะปฏิบัติตามข้อบังคับของท้องถิ่นนั้น” มร. แอนดรูว์ กลาส กล่าวในที่สุด