xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรีฯ ชู 2 แนวทางสู้ภัยโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดกิจกรรม “ค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม” สร้างกลุ่มผู้นำเยาวชนรุ่นที่ 18  ปีที่ 9 ที่จังหวัดขอนแก่น นำโดย ประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ และ บุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ราชบุรีโฮลดิ้ง
บุญทิวา ด่านศมสถิต  หัวเรือหลัก “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชน” ที่ช่วยผลักดัน ป่าชุมชนร่วมกับกรมป่าไม้ เป็นผลสำเร็จ
การสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด วางแนวทางในการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งให้เกิดความเท่าเทียมจนนำสังคมธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน พร้อมชู “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชน” ช่วยเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว เป็นหนทางที่ยั่งยืนลดโลกร้อน
บุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ภัยธรรมชาติทั่วโลกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นภาพความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สินและระบบนิเวศมากขึ้น ปริมาณน้ำในโลกเราลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 21-31 ต่อปี สืบเนื่องจากความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณรังสีดวงอาทิตย์บริเวณผิวโลกสูงขึ้น จากการเพิ่มของอุณหภูมิบริเวณผิวโลกนี่เองส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนและการระเหยของน้ำเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำในลำธารและน้ำใต้ดินลดลง เนื่องจากระเหยแห้งไปกับความร้อนที่สูงขึ้น ทำให้ปริมาณฝนตกน้อยลง หรือทิ้งช่วงเป็นเวลานานและเกิดภาวะแห้งแล้งมากขึ้น
ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทรัพยากรน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และสภาวะแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานที่มีผลสืบต่อเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนขึ้น
เดินหน้า “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชน”
ในฐานะหัวเรือหลัก “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชน” บุญทิวา กล่าวว่าเป็นหนึ่งในพันธกิจการขับเคลื่อนองค์กร และหนึ่งในนั้น คือการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญของการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ที่ประกอบด้วย 3 มิติหลัก ๆ คือด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการเปิดเผยข้อมูล”
ด้านสังคม เรามุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนภายใต้ความจำเป็นและความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ ด้านการเปิดเผยข้อมูล เราให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยกำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตรงไปตรงมา และสุดท้าย ด้านสิ่งแวดล้อม เรามีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยแนวทางที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลก ถูกแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมหลัก ๆ คือหนึ่ง การลดแหล่งกำเนิด สอง การเพิ่มแหล่งกักเก็บ”
การลดแหล่งกำเนิด เรามีการนำเอาพลังงานทดแทนมาใช้ในธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายที่จะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ถึง 50 เมกะวัตต์ ในปี 2559 ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังมีการนำเอาทรัพยากรบางอย่างกลับมาใช้ใหม่ ภายใต้มาตรฐานการยอมรับของสากล ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตขององค์กร (In Process)"
ส่วนภายหลังกระบวนการของธุรกิจ (After Process) เรามองว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชน บุคคลทั่วไปตระหนักว่าตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาคือคน และกว่า 50% ในกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ด้านการเพิ่มกักเก็บ เป็นที่ทราบกันดีว่าแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้ผลมากที่สุดคือป่าไม้ เพราะเหตุนี้เราจึงจัดทำโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชนขึ้น นอกจากจะเป็นแหล่งกักเก็บที่ดีแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยชุมชนเป็นเจ้าของ และได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ที่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างโครงการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนที่ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 2 ชุมชนใน จ.ราชบุรี โดยมีการสำรวจข้อมูลการใช้พลังงานของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 170 ครัวเรือน และมีการนำเอาองค์ความรู้ด้านพลังงานชุมชนมาให้ ทั้งเตาประหยัดพลังงาน ก๊าซชีวภาพ โดยให้ชุมชนเลือกตามความเหมาะสม ซึ่งภายหลังจากดำเนินงาน พบว่าทั้ง 170 ครัวเรือนที่ใช้พลังงานชุมชน สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไปกว่าหนึ่งแสนบาทต่อปี โดยในปี 2558 เราจะได้มีการขยายโครงการพลังงานชุมชนไปในชุมชนอีก 3 พื้นที่ คือ จ.ราชบุรี, จ.กาญจนบุรี และ จ.เพชรบุรี
บุญทิวา บอกว่า ในการดำเนินงานโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชน 7 ปีผ่านมามี 3 เรื่องหลัก ๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ประกอบด้าวย การประกวดป่าชุมชนดีเด่น กิจกรรมค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม และการสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้ม ซึ่งจากการสำรวจของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าโครงการได้รับผลตอบรับที่ดีจากสังคม มีจำนวนป่าชุมชนที่จดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มจาก 3,000 แห่งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เป็น 8,500 แห่งในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีชุมชนกว่า 9,000 แห่งที่ร่วมจัดการป่าชุมชน ซึ่งนับว่าเป็น 15% ของหมู่บ้านทั้งประเทศ


เยาวชน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม เรียนรู้รักษ์โลกผ่าน 5 สถานีเรียนรู้
ส่วนกิจกรรม “ค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม” ได้ดำเนินการร่วมกับกรมป่าไม้มาตั้งแต่ปี 2551 ปีนี้เป็นปีที่ 9 ล่าสุดจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นการสร้างกลุ่มผู้นำเยาวชนรุ่นที่ 18 โดยมีเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกิจกรรม รวม 80 คน
“เรามุ่งหวังสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อจากคนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นเน้นที่การปลุกจิตสำนึกด้วยการให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ และวิธีการอนุรักษ์ให้แก่เยาวชน หาเยาวชนเข้าใจก็จะตระหนัก สำนึกความเป็นเจ้าของและต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาดูแลทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นของตน ผลลัพธ์ในระยะยาวได้ทั้งทรัพยากรป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น ได้คนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อดูแล อีกทั้งส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนน้อยลงได้ในระยะยาว”

“ถือว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะเป็นการจุดประกายแนวคิดในสิ่งต่าง ๆ ที่เริ่มต้นจากความเข้าใจ หาวิธีการ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน จนเกิดเป็นขยายผล การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การศึกษาดูงาน การเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชน ที่สำคัญผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของป่ารวมถึงมีส่วนในการอนุรักษ์ รักษา และร่วมเป็นเจ้าของป่าชุมชนร่วมกัน จากการทำงานโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชนที่เราเข้าไปในชุมชนพื้นที่ต่าง ๆ พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่มีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดเป็นโครงการสตรีกับการพัฒนา และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ” บุญทิวา กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น