๐ ตอบโจทย์ภัยแล้งด้วย “การบริหารจัดการน้ำระดับชุมชน”
๐ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
๐ ด้วยหลักการ “คิดแบบแม็คโคร ทำอย่างไมโคร”
๐ พิสูจน์ความสำเร็จจากชุมชนทั่วประเทศที่รอดผ่านทั้งเอลนีโญและลานีญา
จากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยาให้ข้อมูลว่า ภัยแล้งในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้งและทิ้งช่วง ซึ่งฝนแล้งเป็นภาวะปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สำหรับภัยแล้งในประเทศไทยมีผลกระทบโดยตรงกับการเกษตรและแหล่งน้ำ รวมทั้ง การดำรงชีวิตของประชาชน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ภัยแล้งจึงส่งผลเสียหายต่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น พื้นดินขาดความชุ่มชื้น พืชขาดน้ำ พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ รวมถึงปริมาณลดลง ส่วนใหญ่ภัยแล้งที่มีผลต่อการเกษตร มักเกิดในฤดูฝนที่มีฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน
สำหรับผลกระทบด้านต่างๆ มีดังนี้ คือ ”ด้านเศรษฐกิจ” สิ้นเปลืองและสูญเสียผลผลิตด้านเกษตร ปศุสัตว์ ป่าไม้ การประมง เศรษฐกิจทั่วไป เช่น ราคาที่ดินลดลง โรงงานผลิตเสียหาย การว่างงาน สูญเสียอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พลังงาน อุตสาหกรรมขนส่ง “ด้านสิ่งแวดล้อม” ส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่างๆ ทำให้ขาดแคลนน้ำ เกิดโรคกับสัตว์ สูญเสียความหลากหลายพันธุ์ รวมถึงผลกระทบด้านอุทกวิทยา ทำให้ระดับและปริมาณน้ำลดลง พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง ความเค็มของน้ำเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำในดินเปลี่ยนแปลง คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลง เกิดการกัดเซาะของดิน ไฟป่าเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพอากาศและสูญเสียทัศนียภาพ เป็นต้น และ “ด้านสังคม” เกิดผลกระทบในด้านสุขภาพอนามัย เกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำและการจัดการคุณภาพชีวิตลดลง
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากการติดตาม ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านทรงรับสั่งไว้อย่างชัดเจนมากว่า “วันนี้โลกเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการน้ำอย่างไรบ้าง สิ่งแรกคือเราต้องเข้าใจธรรมชาติก่อน ต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ทำไมน้ำแล้ง แน่นอนส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติ ที่ตามมาเราต้องปรับตัวเอง ส่วนหนึ่งของคำตอบในการปรับตัวคือการจัดการน้ำ”
สำหรับสาเหตุของน้ำแล้งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ สภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ทางเกษตรประมาณ 80% อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และฝนส่วนใหญ่ก็ตกท้ายเขื่อน ซึ่งตั้งแต่ปี 2541 ฝนตกน้อยลงเพียงรัอยละ 6 แต่ในปีที่ผ่านมากลับตกติดลบถึงร้อยละ 15
ถ้าดูสถิติฝนตกทั่วโลกโดยเฉลี่ย 1,000 มิลลิเมตร ขณะที่ประเทศไทยมีฝนตกที่มากกว่า คือ 1,400 มิลลิเมตร หรือที่มาเลเซียเฉลี่ยตกประมาณ 3,000 มิลลิเมตร แต่เมื่อตกเพียง 2,000 มิลลิเมตร ทำให้เกิดปัญหา การที่ฝนตกน้อยลง และยังเปลี่ยนเวลาตก แล้วยังตกผิดที่ โดยส่วนมากไปตกท้ายเขื่อนเสียอีก ทั้งฝนที่ตกมีปริมาณน้ำเพียงร้อยละ 5.7% เท่านั้นที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้ อยากให้กลับไปมองแนวทางแก้ไขปัญหาตามพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “ให้คิดแบบแม็คโคร (Macro) แต่ให้ทำอย่างไมโคร (Micro)” นั่นคือ “การบริหารจัดการน้ำระดับชุมชน”
การคิดแบบแม็คโครเป็นเรื่องเหนือน้ำ ท้ายน้ำ ปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสภาวะดินฟ้าอากาศ ส่วนการทำอย่างไมโคร ต้องมีข้อมูลน้ำ คนในชุมชนจะต้องเข้าใจ และสามารถกำหนดโจทย์ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะต้องเกิดความเข้าใจร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวถึงจะร่วมมือกันได้ โดยรวมไปถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน เมื่อร่วมมือกันได้จะพัฒนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีภาคประชาชน คือมูลนิธิโคคา-โคลา และภาครัฐคือสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งในปี 2555 มาทำในส่วนของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ซึ่งประชาชนคือชุมชน โดยราชการเข้ามาบางส่วน เช่น อบต. หน่วยราชการต่างๆ “ประชาชน” คือชุมชน “ราชการ” เข้ามาบางส่วน เช่น อบต.และหน่วยราชการต่างๆ
“พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้คิดแม็คโคร-ทำไมโคร สิ่งที่ทำคือโครงการจัดการน้ำชุมชน เราร่วมกับเอกชนซึ่งเข้าใจและพร้อมจะลงทุนกับชุมชน เมื่อชุมชนทำไม่สำเร็จ ผมไม่โดนตรวจสอบ ผมจึงใช้เงินโค้กซึ่งพร้อมจะเสี่ยงกับผม ดังนั้น ผมจึงกล้าทำอะไรต่างจากเดิม และทำให้มันเกิดขึ้นได้และเร็ว วันที่โลกเปลี่ยนเราต้องการคำตอบที่ต่างไปจากเดิม แต่ถ้าผมใช้เงินราชการปัญหาใหญ่จะตามมา เมื่อปี 2547ที่ไปลงทุนที่ชุมชนบ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ทำเรื่องปัญหาน้ำดื่ม ขณะที่ชาวบ้านไม่เชื่อเราเลย ปรากฏว่าเรานำน้ำในสระจากระบบไปจ่าย พอเขาเชื่อ จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เงินเกือบ 2 ล้านกว่าบาท กลายเป็นใช้ไปแค่ 2 แสนกว่าบาท นั่นคือการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาเรื่องน้ำ ในการทำงานจากจุดเริ่มจนเกิดความร่วมมือกับชุมชน เกิดแกนนำ เกิดเครือข่าย มีชุมชนเข้าร่วม 84 ราย และขยายผลไปได้อีกมาก”
“เราต้องทำอะไร อย่างไรบ้างนั้น ควรเริ่มจากการให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงการบริหารจัดการน้ำในชุมชน จึงจะเกิดการพัฒนาตามมา โดยต้องอาศัยองค์ประกอบ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การทำแผนที่น้ำ เพื่อให้รู้ว่าแหล่งน้ำอยู่ที่ใด ต้องการใช้น้ำที่ใด โครงสร้างที่มีอยู่เดิมใช้ได้หรือไม่ และ2. ข้อมูลน้ำ หมายถึงระดับน้ำ ปริมาณน้ำ”
จากข้อมูลในวันนี้ ภาคเหนือปีนี้ฝนตกน้อยลง 33 เปอร์เซ็นต์ แต่น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยลงครึ่งหนึ่ง ภาคอีสานพื้นที่ป่าซึ่งอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำใช้ปลูกมันสำปะหลัง ภาคตะวันตกฝนตกน้อยลง 16 เปอร์เซ็นต์ แต่น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยละ 48 เปอร์เซ็นต์ ภาคตะวันออกฝนตกน้อยละ 23 เปอร์เซ็นต์ แต่น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 60 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ปีที่แล้วพัทยาน้ำท่วม 3-4 ครั้ง แต่ไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้งที่อยู่ห่างไปไม่กี่สิบกิโลเมตร เพราะไม่ดูแลเรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องคลอง จะดูแค่อ่างเก็บน้ำไม่ได้ ต้องเข้าไปทำงานกับชุมชน เข้าไปฟื้นป่าและจัดการให้สมดุลให้ได้
ในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการบริหารจัดการสมัยใหม่โดยใช้ lean management ใช้ไอที ใช้การทำแผนที่ ใช้การสำรวจ ใช้จีพีเอส ใช้คอมพิวเตอร์ มีการจัดสรรน้ำ ใช้น้ำด้วยหลัก 3 Rs เช่น ชุมชนที่ต้องทำนาเมื่อรู้ว่าน้ำไม่พอต้องเปลี่ยนเป็นปลูกปาล์มและสวนผัก จากเดิมใช้น้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ มาเป็น 200 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ นำน้ำที่เก็บในร่องสวนกลับมาใช้เป็นการรีไซเคิล ช่วยลดการใช้น้ำ 40-50 เปอร์เซ็นต์ เพราะภาคเกษตรใช้น้ำมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้าต้องการให้ประเทศมีน้ำเหลือและมีความมั่นคง ต้องเน้นการปรับตัวที่ภาคเกษตร
ดร.รอยล กล่าวว่า “รังสิตถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านชลประทานของประเทศ แม้ในปี 2559 สถานการณ์ภัยแล้งยังคงสร้างผลกระทบให้กับภาคการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ชุมชนในพื้นที่รังสิตก็สามารถเดินหน้าอาชีพเกษตรกรรม และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค จากความร่วมมือของเกษตรกรที่ปรับการทำนามาเป็นเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ”
“เห็นได้ชัดว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เป็นแนวคิดที่ทำได้ง่าย และชุมชนสามารถเริ่มต้นได้ทันที แต่ให้ผลลัพธ์ที่แก้ปัญหาในพื้นที่โดยตรงในระยะยาว จึงอยากให้ภาครัฐ เอกชนและชุมชนอื่นๆ มองตัวอย่างการทำงานในรูปแบบนี้ ซึ่งหากชุมชนทั่วประเทศมีการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตน ก็จะสามารถบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในระดับประเทศได้"
ชุมชนบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในชุมชนตัวอย่างในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ “รักน้ำ” และด้วยองค์ความรู้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ การทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นและชาวบ้าน เมื่อเกิดภัยแล้ง ชาวบ้านซึ่งมีอาชีพหลักคือ ทำนา ก็หยุดทำนาชั่วคราวและปรับมาปลูกพืชอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อยแต่ยังสามารถสร้างงานสร้างรายได้ เกิดความร่วมมือในกาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ อาทิ การทำสระแก้มลิงและบ่อดินเพื่อเก็บกักน้ำ ซ่อมแซมบ่อและบานประตูพักน้ำ ซื้อเรือดูดเลนป้องกันคลองและแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างคลองหลัก คลองซอย และร่องสวน เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ
“ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาของเราเองเพราะอย่างแรกเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเกิดเอลนีโญหรือลานีญา ชุมชนก็รอด นั่นคือความมั่นคง อย่างที่สองคือการจัดการขนาดเล็กนำมาซึ่งการลดต้นทุน ทุกวันนี้เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่เราทำทั้งหมดเหมือนกับยุทธศาสตร์ Sustainable Goal ของ UN และจากการที่ร่วมทำงานด้วยกัน ตอนนี้ UN มาลงนามความร่วมมือ เขามองว่าเราคือตัวอย่างของการแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านการพัฒนาได้สำเร็จ”