ภัตตาคารโฟร์ซีซั่น ทั้ง 4 สาขา ได้แก่ สยามพารา เมกะบางนา เอ็มควอเทียร์ และเซ็นทรัลชิดลม แสดงเจตนารมณ์ในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยให้ลูกค้าร่วมลดการใช้กล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติก สำหรับใส่อาหารที่เหลือจากการบริโภคภายในร้านกลับบ้าน ซึ่งคิดเป็นปริมาณ 1,700-1,800 ชิ้นต่อเดือน ด้วยการขอความร่วมมือจากลูกค้าแบบสมัครใจ หากลูกค้าต้องการใช้กล่องก็ขอร่วมบริจาคเงินเข้าสมทบกองทุนสุขภาพกับสภาวะโลกร้อน โครงการภายใต้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ภัตตาคารโฟร์ซีซั่น เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการลดปริมาณขยะในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะขยะประเภทกล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เกิดจากบริโภคของประชาชนในเมืองหลวง ซึ่งมีรูปแบบการดำรงชีวิตประจำวันแบบการบริโภคอาหารนอกบ้าน และพอรับประทานอาหารเหลือมักจะนิยมใส่กล่องสำหรับห่ออาหารกลับบ้าน
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ ภัตตาคารโฟร์ซีซั่น จึงได้ร่วมมือเพื่อลดการใช้กล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติก และสนับสนุนให้ประชาชนที่ใช้บริการภัตตาคารโฟร์ซีซั่นทั้ง 4 สาขา คือ สาขาสยามพารากอน เมกะบางนา เอ็มควอเทียร์ และเซ็นทรัลชิดลม เห็นความสำคัญการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าด้วยการลดจำนวนการใช้กล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติกในภัตตาคาร โดยสถาบันฯ มองการขยายผลความร่วมมือลดการใช้กล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปยังภัตตาคารอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยลดปริมาณขยะของกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ในกรุงเทพมหานครมีภัตตาคารประเภทต่างๆ มากมาย ส่งผลให้เกิดปริมาณขยะประเภทกล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มจำนวนมากขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการร้านอาหารมีส่วนร่วม และตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากขยะ และร่วมลดการใช้กล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ด้าน มร.แลม ชิ ซุง ราแมน กล่าวว่า ภัตตาคารโฟร์ซีซั่น จะทำกล่องบริจาคเงินให้ลูกค้ามองเห็นชัด พร้อมกับให้พนักงานชี้แจ้งให้ลูกค้าทราบก่อนว่า โฟร์ซีซั่นร่วมรณรงค์ลดขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ และลูกค้าก็มีส่วนร่วมช่วยกันลดขยะได้ตามความสมัครใจ โดยภัตตาคารจะรับเป็นเงินสดใส่กล่องบริจาคเท่านั้น และไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ จากนั้นจะนำเงินดังกล่าวบริจาคให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อไปใช้ในการดำเนินงานกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่เยาวชนและสังคมต่อไป
“เราถือว่าเป็นผู้นำร่องไปสู่การขยายผลความร่วมมือการลดการใช้กล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติก พร้อมคาดหวังการนำร่องในระยะเวลา 8 เดือนนับจากนี้ไปจะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในการลดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ก่อขยะ และเป็นการสนับสนุนการศึกษาวิจัยของเยาวชนในการดำเนินกิจกรรมและงานวิจัยท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสภาวะโลกร้อน”