พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ที่บ้านดงดิบ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี หรือที่คนในละแวกเรียกท่านพระครูสั้นๆ กันว่า "พระอาจารย์" ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม มาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันเปิดสอนทั้ง ม.ต้น-ปลาย และล่าสุดได้พัฒนาต่อยอดให้โรงเรียนแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าใช้เองจากแผงโซลาร์เซลล์จนถูกขนานนาม “โรงเรียนโซลาร์เซลล์” ด้วยเหตุจากโจทย์สำคัญก็คือ “ความขาดแคลน”
พระครูวิมลปัญญาคุณ เล่าถึงแนวคิดที่นำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้เองในโรงเรียน ว่าตอนนั้นเพิ่งย้ายเข้าเรียนในอาคารเรียนใหม่ โดยการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ กลับไม่มีอุปกรณ์การสอนเลย มองเห็นแต่ "แสงแดด" จึงคิดถึงการใช้ประโยชน์จากแสงแดด ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด และในตอนนั้นมีเพียงแผ่นโซลาร์เซลล์เก่าๆ แตกๆ ที่พังแล้วมาซ่อม และทดลองใช้ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงได้เข้าไปร่วมประกวดโครงการงานต่างๆ จนกระทั่งได้รับรางวัล
ในที่สุดเราเดินหน้าติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 6 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งทำให้ค่าไฟลดลงอย่างมากจากเดือนละ 6,000 บาท เหลือเพียง 40 บาท รวมถึงโปรเจกต์ใหญ่ในขณะนี้ คือ การสู้กับภัยแล้งด้วยระบบสูบน้ำลึกพลังแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในระบบประปาหมู่บ้าน ที่พระอาจารย์และน้องๆ ทำการติดตั้งให้กับ 2 หมู่บ้าน ใน อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สว่างวีรวงศ์ จ.อุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งสามารถลดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 5,000 บาท
ผลงานดังกล่าวติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นที่ประทับใจของชุมชนอย่างมาก พวกเขาแทบไม่เชื่อด้วยสายตาว่าเด็กชั้น ม.ปลาย จะมีทักษะในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ได้ อีกทั้งใช้เวลาแค่ 1 วันต่อ 1 โปรเจกต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้อย่างทันท่วงที ในฐานะอาตมาทำงานด้านพลังงานทดแทนมาเป็นเวลานาน สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด คือการที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือน (Net Metering) เพื่อจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง
"หากทุกบ้านสามารถสร้างรายได้จากหลังคาของตัวเอง ก็จะช่วยให้พวกเขามีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้จะเพียงแค่เดือนละ 1,000-2,000 บาท แต่สำหรับคนบ้านนอกถือว่าเยอะมาก ถ้ามองภาพใหญ่ขึ้นไป มันคือการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรากหญ้าขึ้นมา หรืออาจให้เขาทำเป็นกลุ่ม คือกองทุนหมู่บ้านละล้าน เอาเงินมาลงทุนทำโซลาร์เซลล์ แล้วรัฐรับซื้อจากเขา ลองรัฐบาลรับซื้อ 7 ปี เชื่อว่าจะมีเงินทุนคืน เพราะขนาดอาตมาทำประมาณ 3 ปีก็ได้ทุนคืนแล้ว อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นพลังงานสะอาด ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐยังก้าวไม่พ้นพลังงานจากถ่านหิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาชนในทุกด้าน”
หากว่ารัฐมีการส่งเสริมให้แต่ละระดับสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองตามศักยภาพ และรับซื้อพลังงานทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน ทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น และหากภาคประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เกินปริมาณที่ใช้อยู่ก็จะช่วยให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีไฟฟ้าในระบบเพิ่มมากขึ้น โดยภาครัฐไม่ต้องลงทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเลย เราดูตัวอย่างจากประเทศที่ประสบผลสำเร็จด้านพลังงานแสงอาทิตย์ก็ได้ เช่น ประเทศเยอรมนี เขารับซื้อไฟทั้งหมดที่ผลิตได้จากประชาชน ก็ทำให้วิกฤติการขาดแคลนพลังงานหมดสิ้นไปภายในระยะไม่กี่เดือนและมีพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย อาตมาอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่จุดนั้นบ้าง" พระครูวิมลปัญญาคุณ กล่าวในที่สุด
โคมไฟพลังแสงอาทิตย์ศรีแสงธรรม ที่นี่ คือโรงเรียนพลังงานทดแทนต้นแบบ
โคมไฟโซล่าร์เซลล์ ส่องถนนไปบ้านพักครูของโรงเรียนโดยทดลองทำขึ้นเพื่อรองรับแบตเตอรีที่จะมีผู้มีจิตศรัทธาที่จะนำมาบริจาคให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน เป็นโรงเรียนพลังงานทดแทนต้นแบบ
ปัจจุบันนี้ทางโรงเรียนได้นำมาติดตั้งบริเวณแปลงเกษตรหน้าบ้านพักครูเพื่อส่องสว่างในเวลากลางคืนและประหยัดค่าไฟฟ้าอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเป็นต้นแบบให้กับผู้ที่สนใจศึกษานำไปติดตั้งตามสวน บ้าน หรือทางเดินต่างๆ ตามความเหมาะสมของตนเองซึ่งโคมไฟพลังแสงอาทิตย์ศรีแสงธรรมนี้สว่างมาก ทำเสาสูง 3 เมตรส่องจนเห็นยอดหญ้าต้องเพิ่มเสาขึ้นเป็น 3.5 เมตร หรือ 4 เมตรก็ได้
อาคารเรียนบ้านดิน
ก่อนหน้านี้ อาคารเรียนแบบบ้านดินของโรงเรียนศรีแสงธรรม เกิดขึ้นได้จริงด้วยแนวคิดของท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ซึ่งท่านพระครู เล่าว่า "คงต้องเล่าย้อนถึงสาเหตุที่ตั้งโรงเรียนนี้ เราไม่อยากเห็นใครขาดแคลนการศึกษาเหมือนอาตมา สมัยที่เป็นเด็กอาตมาเรียนไม่จบมัธยม และต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานเพราะเป็นพี่ชายคนโตของบ้าน ส่วนอีกหนี่งเหตุผลสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจ เพราะต้องการสานต่อการช่วยชาติจากหลวงตามหาบัว ซึ่งอาตมาเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของท่าน ได้มีส่วนรวบรวมเงินบริจาคต่างๆ ซื้อทองคำเข้าคลังหลวง พอหลวงตาปิดโครงการช่วยชาติ ก็คิดว่าการช่วยชาติที่ดีที่สุด ก็คือการผลิตคนดีเข้าสู่สังคม เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ
จากจุดเริ่มต้นของโรงเรียนซึ่งมีปัจจัยเพียงน้อยนิดจากการบริจาค จึงตัดสินใจพาเด็กๆ สร้างอาคารเรียนแบบบ้านดิน เป็นแนวทางที่ประหยัดที่สุด และสามารถทำได้ด้วยตัวพวกเราเอง ทุกคนลงมือปั้นดินด้วยตัวเองนับพันนับหมื่นก้อนเพื่อสร้างอาคารเรียนบ้านดิน ทำให้เด็กๆ เกิดความภูมิใจมาก เพราะเป็นห้องเรียนที่ทุกคนสร้างมากับมือ ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง"
โรงเรียนศรีแสงธรรม
ได้จัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ด้วยปรัชญาของโรงเรียน "คุณธรรมนำความรู้ สู่ความเป็นเลิศ"
เอกลักษณ์ของโรงเรียนคือ โรงเรียนส่งเสริมคุณธรรม การพึ่งพาตนเอง และพลังงานทดแทน
อัตลักษณ์ของโรงเรียนคือ ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง