บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดงาน “CPF CEO Awards 2015” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยมี อดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่บุคลากรซีพีเอฟที่มีผลงานนวัตกรรมโดดเด่น และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ ตามแบบฉบับ “ซีพีเอฟเวย์” เมื่อเร็วๆ นี้
วิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน “CPF CEO Awards” เปิดเผยว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยเล็งเห็นว่า โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง ฉะนั้น นวัตกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะสร้างความแตกต่างทางธุรกิจในฐานะผู้นำครัวโลก จากความมุ่งมั่นในการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ซีพีเอฟเป็นองค์กรที่มีนวัตกร TRIZ มากที่สุดในอาเซียน ปัจจุบันนวัตกรของซีพีเอฟตามแนวทาง TRIZ มีทั้งหมด 381 คน ในปีนี้มีผลงานที่ได้รับอนุสิทธิบัตร และ สิทธิบัตรเพิ่มขึ้นมา 35 ผลงาน รวมเป็น 59 ผลงาน จากเดิมที่มีเพียง 24 ผลงาน
“ในแต่ละปีบุคลากรของบริษัทฯ ต่างให้ความสนใจ ระดมความคิดสร้างสรรค์ คิดค้นและส่งผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมประกวด “CPF CEO Awards” เวทีแห่งการแจ้งเกิดนวัตกร ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะจัดต่อเนื่องเป็นปีที่7 แต่มีบุคลากรซีพีเอฟจากทั่วโลกร่วมส่งผลงานทั้งสิ้น 4,248 ผลงาน โดยมีผลงานที่ได้รับคัดเลือกจะถูกนำมาจัดแสดงภายในงานรวม 187 ผลงาน ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed), ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Farm), อาหาร(Food) และ ค้าปลีก(Retail) เวทีนี้จึงถือเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางธุรกิจ ส่งเสริมบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ รวมพลังซีพีเอฟเวย์ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ” วิโรจน์ กล่าว
ซีพีเอฟ ได้วางแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์กรเป็น 3 ลำดับ ได้แก่ ลำดับแรก "การสร้างวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรม" ผ่านการสร้างแรงจูงใจและบรรยากาศการพัฒนางาน จากการสนับสนุนของผู้บริหารในแต่ละสายธุรกิจ ผ่านการประกวดและแสดงผลงานนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานที่โดดเด่นจะได้นำมาจัดแสดงในเวที CPF CEO Awards เป็นประจำทุกปี ลำดับที่สอง "ความร่วมมือของเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก" จะทำให้คุณค่าของนวัตกรรมสูงขึ้นขณะที่ต้นทุนและเวลาในพัฒนาลดลง ซึ่งการผนึกกำลังของซีพีเอฟ ก่อให้เกิดพลังสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทำให้มีสินค้าดี มีประสิทธิภาพในการบริการสูงขึ้น ลำดับสาม คือ "สร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น" ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ชุมชน และสังคม ทำให้เกิดการบูรณาการจากทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งฝ่ายผลิต ฝ่ายตลาด และอื่นๆ ซึ่งเหล่านี้จะนำพาซีพีเอฟไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ผลรางวัล CPF CEO Awards 2015
จัดขึ้นภายใต้เแนวคิด “วัฒนธรรมองค์กร ความร่วมมือ นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ อันนำไปสู่ซีพีเอฟที่ยั่งยืน (Culture Collaborate Commercialize)” มีผลงานได้รับรางวัลทั้งสิ้น ทั้งสิ้น 18 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลระดับ i1 การปรับปรุงงาน จำนวน 8 รางวัล, รางวัลระดับ i2 การสร้างสิ่งใหม่ จำนวน 7 รางวัล, รางวัลระดับ i3 นวัตกรรม จำนวน 3 รางวัล นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลรางวัลสิทธิบัตรออกแบบ จำนวน 2 รางวัล และรางวัล อนุสิทธิบัตร จำนวน 33 รางวัล
ในปีนี้มีบุคลากรทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 4,248 ผลงาน จาก 20 สายธุรกิจ โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 18 รางวัล
สำหรับผลงานนวัตกรรมดีเด่นปีนี้ “เมจิ ไฮโปรตีน” จากกลุ่มธุรกิจ ซีพี เมจิ ที่ได้รับรางวัล ระดับ i3 ประเภท นวัตกรรม เกิดจากแนวคิด ที่ปัจจุบันเทรนด์การออกกำลังกายได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ประกอบกับมีนวัตกรรมโปรตีนนมเกิดขึ้น ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ เมจิ ไฮโปรตีน ที่รับประทานแล้วเห็นผลได้จริง โดยเวย์โปรตีน รสช็อคโกแลต เหมาะสำหรับท่านที่เล่นเวท เพื่อสร้างกล้าม อย่างไรก็ตามต้องลดการบริโภคแป้ง โปรตีน และไขมันลง จะทำให้เห็นชั้นกล้ามเนื้อได้ชัดขึ้น ในส่วนของสูตรแอลคาร์นิทีน รสจืด ที่ช่วยในเรื่องการเบิร์น เอาไขมันที่สะสมอยู่มาใช้ ควรรับประทานก่อนออกกำลังกาย 30 นาที จะทำให้สามารถออกกำลังกายได้นานขึ้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค
“Meat as Meals เม็ดเนื้อนุ่มมัดใจน้องหมา” จาก ได้รับรางวัล ระดับ i3 ประเภท นวัตกรรม เกิดจากแนวคิดที่ต้องการพัฒนาอาหารหลักสำหรับสุนัข โดยใช้วัตถุดิบหลักเป็นเนื้อไก่สดที่มีคุณภาพดี ให้มีลักษณะเนื้อสัมผัสคล้ายชิ้นเนื้อ มีความหอมอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนตรงตามที่สุนัขต้องการ มีความเป็นโฮลิสติกส์ ทำให้สุนัขชื่นชอบ อร่อย และเพลินเพลินในการรับประทาน ปลอดภัยต่อสุนัข ช่วยทำให้เกิดการย่อยอาหารที่ดี
“อบวุ้นเส้นอย่างไรให้ความยั่งยืน” เป็นโครงการจากกลุ่มธุรกิจอาหารสำเร็จรูปที่ได้รับรางวัล ระดับ i2 ประเภท สร้างสิ่งใหม่ โดยมีแนวคิดที่ต้องการผลิตอาหารที่เป็น Food destination ที่ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ทั้งมื้อหลักและมื้อรอง ที่เป็นเมนูระดับภัตตาคาร จึงเป็นที่มาของเมนูกุ้งอบวุ้นเส้น โดยทางทีมได้มีการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เริ่มตั้งแต่วุ้นเส้นที่มีความเหนียวนุ่ม และการคัดเลือกกุ้งคุณภาพดี รสชาติหวาน เนื้อสัมผัสดี นอกจากนี้ยังมีการนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้บรรจุสินค้าโดยใช้เครื่อง Microwave work station เพื่อยืนยันผลการออกแบบการบรรจุ และหาเวลาที่ทำให้วุ้นเส้นและกุ้งมีความอร่อยสูงสุด ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่มีความชื่นชอบ ทำให้บริษัทสามารถนำวัตถุดิบกุ้งมาใช้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจ คือ “การเพิ่มลูกแรกเกิดมีชีวิตในแม่สุกรสายพันธุ์คุโรบุตะ” ที่ได้รับรางวัล ระดับ i1 ประเภท การปรับปรุงงาน คิดค้นโดยกลุ่มธุรกิจสุกร มีแนวคิดมาจากความต้องการเพิ่มปริมาณการผลิตหมูซีพีคุโรบุตะ ซึ่งในอดีตมีการออกลูกในปริมาณต่ำ จึงต้องการเพิ่มปริมาณการออกลูกให้มากขึ้น โดยนำพ่อพันธุ์มาผสมพันธุ์กับแม่สายพันธุ์ลูกดก ทำให้ปัจจุบันสามารถผลิตลูกสุกรจากเดิม 9 ตัว เพิ่มเป็น 10.3 ตัว คิดเป็น 1.3 ตัวต่อแม่ ทำให้ปริมาณเพิ่มขึ้น โดยยังคงคุณภาพความนุ่มเหมือนเดิม
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ วางระบบบริหารจัดการนวัตกรรม ตามแนวทางของ CEN16555 โดยมีการพัฒนา นวัตกร อย่างต่อเนื่องตามแนวทางของ TRIZ และพัฒนาตัวแทนสิทธิบัตรภายในองค์กร โดยร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทำให้องค์กรสามารถพัฒนาการบริหารจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ โดยในปีนี้สามารถสร้างนวัตกรรมเพิ่มได้กว่า 500 คน ตั้งเป้าอีก 3 ปีข้างหน้า จะสามารถสร้างนวัตกรได้มากกว่า 1,000 คน พร้อมวางงบด้านการวิจัยและพัฒนาไว้ประมาณ 1-2% เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม