xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “สถานีชาร์ต” รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หนุนลดใช้พลังงานเชื้อเพลิง-มลพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธานเปิดสถานีประจุไฟฟ้า ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานอธิการบดี
4 หน่วยงานจับมือร่วมโครงการศึกษาเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กแบบบูรณาการ เดินหน้าเปิดสถานีชาร์ต เผยผลสำรวจจากการเก็บข้อมูลการทดสอบใช้จริง พร้อมรวบรวมและวิเคราะห์เพื่อนำเสนอภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หวังนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพของยานยนต์ไฟฟ้า มจธ.เล็งส่งเสริมการใช้จักรยานไฟฟ้า หรือ e-bike ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย
ปัจจุบันจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย เฉพาะรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียน ณ ปี พ.ศ.2557 มีมากกว่าร้อยละ 38 ของจำนวนรถที่มีการจดทะเบียนทั้งหมดของประเทศ แต่เมื่อเทียบกับการใช้รถจักรยายนต์ไฟฟ้าแล้วกลับยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ขณะที่ภาครัฐและหลายหน่วยงานหันมาให้ความสำคัญในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงและลดมลพิษในภาคขนส่ง
4 หน่วยงานจับมือบูรณาการ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีพิธีเปิดสถานีประจุไฟฟ้า (Electric Motorcycle Charging Station) ภายใต้โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตและใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กขึ้น โดยนายภัทรพงศ์ เทพา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวแสดงความยินดี และรศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธานเปิดสถานีประจุไฟฟ้า ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานอธิการบดี เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือกัน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งขาติ (MTEC) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
นับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการศึกษาเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กแบบบูรณาการ โดยรวบรวมข้อมูลจากการทดสอบใช้จริงจากผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ในชีวิตประจำวัน และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลที่ใช้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าต่อไป
“ทางโครงการดำเนินการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าใน 3 พื้นที่ แห่งแรกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ติดตั้งไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แห่งที่สองบริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี มจธ. และกำลังจะเปิดอีกแห่งขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นแห่งที่สาม ขณะที่ทาง MTEC จะเข้ามาช่วยในการประเมินความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์”
สำหรับสาเหตุที่เลือกทดสอบกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพราะเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ถึง 20 ล้านคัน แต่มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไม่ถึงร้อยละ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนแล้วไม่ถึง 10,000 คัน ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจึงไม่ได้รับความนิยม โดยจะนำรถที่มีขายอยู่ในตลาดให้ผู้เข้าร่วมโครงการทดลองใช้จริง เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งาน ความต้องการและความพึงพอใจ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพของยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ โครงการมีวัตถุประสงค์ 6 ข้อคือ 1.เพื่อทดสอบและเก็บข้อมูลการใช้งานจริงของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และสำรวจทัศนคติของผู้ร่วมทดสอบ 2.เพื่อประเมินพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ของผู้ใช้จักรยานยนต์ในกลุ่มต่างๆ และผู้ขับขี่ยานยนต์ขนาดเล็กโดยเน้นรถรับจ้างสาธารณะ รวมทั้ง สาเหตุที่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยโดยการใช้แบบสำรวจความคิดเห็นและให้มีการทดสอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า
3.เพื่อรับฟังความคิดเห็น ความพึงพอใจและข้อจำกัดของการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ใช้ที่ได้ทดลองขับขี่จักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย 4.เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กให้เหมาะสมต่อการใช้งานของผู้ใช้ในหลายกลุ่มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
5. เพื่อประเมินผลกระทบในด้านเศรษฐศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม หากมีการขยายตัวของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ในกรณีศึกษาต่างๆ และ6. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพร้อมมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กให้แพร่หลายต่อไป

ก่อนหน้ามีการสำรวจคนสองกลุ่ม พบว่ายังไม่พึงพอใจในเรื่องระยะเวลาในการประจุไฟฟ้า เนื่องจากต้องใช้เวลานานถึง 6-8 ชั่วโมงต่อการชาร์ต 1 ครั้ง
สำรวจความพึงพอใจผู้ใช้
ดร.ปิยธิดา ไตรนุรักษ์ นักวิจัยโครงการฯ มจธ. เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีการสำรวจความพึงพอใช้ของผู้ใช้ 2 กลุ่มหลักๆ คือ บุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และกลุ่มที่สองคือ กลุ่มผู้มีอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สำหรับข้อมูลที่เก็บประกอบไปด้วยการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้จักรยานยนต์ทั่วไปว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อจักรยายนต์ไฟฟ้า ซึ่งระหว่างการสำรวจได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้แสดงความคิดเห็นได้ทดลองขับจักรยานยนต์ไฟฟ้าระยะสั้นๆ ภายในมหาวิทยาลัย
ผลจากการสำรวจพบว่ากลุ่มที่เป็นบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย 100 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์ประมาณ 6-10 กิโลเมตรต่อวัน คิดเป็นค่าเชื้อเพลิงประมาณ 100-200 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งเมื่อทดลองขับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในระยะสั้นๆ พบว่า ยังไม่พึงพอใจในเรื่องระยะเวลาในการประจุไฟฟ้า เนื่องจากต้องใช้เวลานานถึง 6-8 ชั่วโมงต่อการชาร์ต 1 ครั้ง แม้จะมีอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่ารถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป คือ รถไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายเพียง 10 สตางค์ต่อ 1 กิโลเมตร ในขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ทั่วไปมีค่าใช้จ่าย 90 สตางค์ต่อ 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังไม่พึงพอใจในเรื่องความเร็วถูกจำกัดสูงสุดเพียง 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตำแหน่งการนั่งของผู้ขับขี่ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก นอกจากนี้ยังมีความกังวลใจในเรื่องของราคารถที่สูงกว่ารถจักรยานยนต์โดยทั่วไปและค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ทุกๆ 2-3 ปี
ทั้งนี้ มีความใกล้เคียงกับผลการสำรวจของกลุ่มผู้มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 50 ตัวอย่าง ซึ่งโดยเฉลี่ยมีระยะการขับขี่ประมาณ 150 กิโลเมตรต่อวัน และมีค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ประมาณ 100 บาทต่อคนต่อวันโดยประมาณ ซึ่งกลุ่มนี้มีความกังวลในเรื่องของระยะเวลาการประจุไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่มากที่สุด เนื่องจากใช้เวลานาน ไม่สะดวกต่อการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีอัตราการเร่งที่จำกัด ไม่สะดวกต่อการทำเวลาในการรับ-ส่งผู้โดยสาร ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความเร็ว ซึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างระบุว่า หากต้องเปลี่ยนรถใหม่อาจจะตัดสินใจซื้อเพราะคำนึงถึงเรื่องการประหยัดค่าเชื้อเพลิงและสามารถลดมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ตาม หากมีราคาที่เหมาะสมก็อาจจะตัดสินใจซื้อ
ในขณะที่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวตัดสินใจว่าหากจะต้องเปลี่ยนรถใหม่จะไม่ซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอน เนื่องจากระยะเวลาการชาร์ตที่นานเกินไป และการต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกๆ 2-3 ปีอาจทำให้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ดังนั้น ในกลุ่มหลังนี้ยังระบุด้วยว่าหากภาครัฐสามารถเข้ามาส่งเสริมเรื่องราคา และพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์ตให้มีความรวดเร็วก็อาจจะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้

ปรับวิธีเพิ่มข้อมูล
ดร.ปิยธิดา ระบุว่า แม้ว่าจากการสอบถาม 150 ชุดตัวอย่างอาจจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสำรวจอยู่มาก แต่ทีมผู้วิจัยเล็งเห็นว่า การขับขี่รถจักรยานยนต์ในระยะสั้นๆ อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการคิดตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าได้เพียงพอ จึงเห็นว่าควรจะต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่างได้มีโอกาสให้กลุ่มตัวอย่าง 30 คนที่สมัครใจนำรถไปขับขี่ให้นานขึ้น
โดยครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้นำรถไปขับขี่จริง 3-5 วัน มีข้อกำหนดว่าผู้ใช้จะต้องนำรถมาชาร์ตที่สถานีชาร์ตซึ่งติดตั้งไว้ทั้ง 3 แห่ง โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์บันทึกการใช้งานไว้กับตัวรถ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในเชิงวิศวกรรม ประกอบไปด้วยระบบโปรเซสเซอร์ต่อพ่วงเข้ากับแบตเตอรี่ ติดตั้ง GPRS เพื่อติดตามเส้นทางการขับขี่ นอกจากนั้น ยังมีชุดดาต้าสตอเรจ เพื่อใช้ยูเอสบีเสียบดึงข้อมูลเข้ามาเก็บไว้ อีกทั้ง ยังติดตั้งหน้าจอแสดงระยะทางซึ่งประเมินจากไฟที่ยังเหลือเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ขับขี่ได้ทราบว่ายังสามารถขับขี่ไปได้อีกกี่กิโลเมตรก่อนจะถึงเป้าหมาย
“สำหรับสถานีชาร์ตจะมีตัวแท่นประจุไฟฟ้า มีการติดตั้งอุปกรณ์กล่องระบบโปรเซสเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้จักรยานยนต์และข้อมูลการประจุไฟฟ้าแต่ละครั้ง ซึ่งแสดงหน้าจอเป็นกระแสไฟและแรงดันไฟฟ้า ณ ขณะชาร์ต โดยกลุ่มตัวอย่าง 30 รายจะต้องนำรถมาชาร์ตที่สถานีเท่านั้น และทุกครั้งจะต้องคีย์ข้อมูลรหัสผ่าน และทะเบียนรถเพื่อเก็บข้อมูลไว้ในระบบทุกครั้ง สามารถติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้และปริมาณการชาร์ตไฟแต่ละครั้ง ซึ่งข้อมูลที่เก็บได้แต่ละครั้ง จะมีเรื่องกระแสไฟฟ้า ความต่างศักย์ของไฟฟ้า ค่าละติจูด ลองจิจูด เป็นต้น”
การสำรวจครั้งนี้ เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ ปริมาณการใช้พลังงาน รวมถึงทัศนคติที่มีต่อการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และข้อมูลประสิทธิภาพจริงของระบบชาร์ตและตัวรถเอง เพื่อนำไปวิเคราะห์ผลการประหยัดพลังงาน รวมถึงประสิทธิภาพเชิงเปรียบเทียบระหว่างรถมอเตอร์ไซค์ทั่วไปกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีความแตกต่างกันอย่างไร ข้อเด่นข้อด้อย ก่อนจะนำข้อมูลไปเสนอต่อภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
โครงการนี้มีทีมทำงานตามเป้าหมาย 3 ส่วนหลักๆ คือ ทีมพัฒนาเทคโนโลยี โดยจะนำข้อมูลจากผู้ขับขี่จริงมาวิเคราะห์ทางวิศวกรรม ทีมวิเคราะห์พฤติกรรมความพึงพอใจของผู้ขับขี่จริง และสามคือทีมที่จะดูเรื่องนโยบาย นำผลที่ได้ไปร่างข้อเสนอต่อภาครัฐในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาทีมที่สามได้เข้าไปสัมภาษณ์พูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมสรรสามิต กรมการขนส่งทางบก รวมถึงสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมว่ามีทัศนคติหรือมุมมองอย่างไรในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานีประจุไฟฟ้าเฉพาะที่มจธ.จะมีความต่างจากที่อื่น เนื่องจากเล็งเห็นว่าในอนาคตทางมหาวิทยาลัยจะมีการส่งเสริมการใช้จักรยานไฟฟ้า หรือ e-bike ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย จึงมีการติดตั้งแท่นชาร์ตรวม 4 แท่นชาร์ต โดย 1 ใน 3 เป็นแท่นชาร์ตสำหรับจักรยานไฟฟ้าโดยเฉพาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น