กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชวนประชาชนร่วมประเพณีลอยกระทงโดยใช้วัสดุธรรมชาติ งดโฟม พลาสติก เนื่องจากพบว่าไทยมีขยะทิ้งทะเลติดอันดับ 6 ของโลก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แนะ 3 วิธี ลอยกระทงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาสำคัญของประเทศซึ่งประเทศไทยมีขยะทิ้งในทะเลจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของโลก รองจาก จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา โดยเฉพาะขยะพลาสติกและโฟมสร้างปัญหาสำคัญเพราะกว่าจะย่อยสลายใช้เวลานาน โฟมจะใช้เวลากว่า 450 ปี และปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทั้งบนบกและในทะเล หากมีปริมาณขยะจากกระทงไหลลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อปริมาณขยะที่สะสมอยู่ในทะเลให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงปี 2558 เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยและรักษาสิ่งแวดล้อม คพ.ขอเชิญชวนประชาชนลอยกระทงรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเลือกใช้วัสดุลอยกระทงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ใช้วัสดุที่หาง่ายเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และเมื่อเก็บขึ้นมาก็นำไปจัดการได้ง่าย เช่น กาบกล้วย ดอกไม้และใบตองยังเป็นวัสดุที่เหมาะสม และควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุจากโฟมและพลาสติก เพราะใช้เวลาในการย่อยสลายนานมากและเป็นอันตรายกับสัตว์น้ำ
ส่วนกระทงจากขนมปังหากอยู่ในแหล่งน้ำปิด ได้แก่ สระน้ำในวัด หนองน้ำหรือแม่น้ำลำคลองที่มีความสกปรกเดิมอยู่แล้ว แม้สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แต่หากมีปริมาณมากในแหล่งน้ำก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย เพราะขนมปังมีส่วนประกอบที่เป็นสารอินทรีย์ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน หากมีสารอินทรีย์ในปริมาณมาก จุลินทรีย์ต้องการปริมาณออกซิเจนเพื่อการหายใจและย่อยสลายวัสดุจากธรรมชาติ ก็จะยิ่งทำให้น้ำเสียเร็วขึ้น
แนะลอยกระทงรักษ์โลก ด้วยหลักการ 3 R
เพื่อลดปัญหามลพิษที่จะเกิดขึ้นกับแหล่งน้ำ อธิบดี คพ. ขอความร่วมมือประชาชน ด้วยการใช้แนวทางการลอยกระทงโดยใช้หลักการ 3R ประกอบด้วย
1.ใช้น้อย (Reduce) โดยการลดขนาดของกระทงที่ใช้ ลดจำนวนชั้น และลดการตกแต่งให้น้อยลงเพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากร และช่วยลดปริมาณขยะ เช่น ใช้เพียง 1 กระทงต่อ 1 ครอบครัว
2.ใช้ซ้ำ(Reuse) โดยการใช้วัสดุซ้ำ เช่น ทำจากใช้วัสดุเหลือใช้ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่า
3.แปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) โดยการนำกระทงที่เก็บรวบรวมมาใช้ประโยชน์ เพราะกระทงจากวัสดุธรรมชาติสามารถนำมารวบรวมเพื่อใช้ในการทำปุ๋ยหมักได้
สำหรับสถิติการจัดเก็บกระทงในเขตกรุงเทพฯ ปี 2551-2557 พบว่าสัดส่วนกระทงที่ทำจากโฟมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบกับปี 2554 ที่มีกระทงทำจากโฟม 57,837ใบ คิดเป็นร้อยละ 18 ในปี 2555 มีจำนวน 131,338 ใบ คิดเป็นร้อยละ 14 ปี 2556 มีจำนวน 107,848 ใบ คิดเป็นร้อยละ 12 และปี 2557 มีจำนวน 96,069 ใบ คิดเป็นร้อยละ 10 ตามลำดับ
สวทช. หนุนหลัก 3 R แนะ 3 วิธี ลอยกระทงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ด้าน ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเคมีโพลิเมอร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การระบุว่าจะใช้วัสดุประเภทใดดีที่สุดสำหรับการลอยกระทงนั้นก็เป็นเรื่องยาก เพราะไม่สามารถพิจารณาได้จากตัววัสดุเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการประเมินจากสภาพพื้นที่ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการขยะของในพื้นที่นั้นๆ เป็นองค์ประกอบด้วย
ทั้งนี้เราสามารถอาศัยหลักเกณฑ์ง่ายๆ ให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกวัสดุลอยกระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 3 แนวทาง คือ 1) เลือกวัสดุของกระทงให้เหมาะสมกับพื้นที่ 2)ใช้หลัก 3R กับการลอยกระทง คือ ลด (Reduce) ใช้ร่วมกัน (Reuse) แปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และ 3)ชวนชุมชนและหน่วยงานรณรงค์ “ลอยกระทงวัสดุแบบเดียวกัน” เพื่อให้สะดวกต่อการจับเก็บและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด
ดร.ธนาวดี ย้ำว่าควรเลือกวัสดุลอยกระทงที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่หาวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ดอกบัว ได้ง่าย ก็ควรเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพราะหาง่าย ราคาถูก และเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย แต่หากอยู่ในเมืองซึ่งหาวัสดุจากธรรมชาติได้ยาก ให้พิจารณาเลือกใช้วัสดุสังเคราะห์ หรือวัสดุทางเลือกอื่นๆ ที่ย่อยสลายง่าย เช่น ขนมปัง กระดาษ ชานอ้อย ฯลฯ ส่วนจะเลือกใช้วัสดุชนิดใดนั้นให้ดูจากพื้นที่ เช่น หากลอยในแม่น้ำ หรือสระน้ำที่มีปลาหรือสัตว์น้ำเยอะ ก็ควรเลือกกระทงขนมปัง แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้กระทงที่ทำจากโฟมและพลาสติก เพราะหากปลาฮุบชิ้นโฟมหรือพลาสติกเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้ รวมทั้งแนะนำว่ากระทงขนมปังไม่จำเป็นใส่สี ควรเป็นกระทงสีธรรมชาติซึ่งดูสวยอยู่แล้ว และไม่ควรตกแต่งกระทงด้วยวัสดุอื่นเช่นโรยกากเพชร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้เช่นกัน
ขณะที่แหล่งน้ำซึ่งเป็นระบบปิด เช่น บ่อ บึง หนองน้ำ ที่ไม่มีปลาเยอะ หากใช้กระทงขนมปัง ควรพิจารณาถึงปริมาณของกระทงที่จะถูกนำไปลอยด้วย ตรงนี้อาจต้องลองประเมินคร่าวๆได้จากจำนวนกระทงที่ลอยในปีก่อนๆ ถ้าปริมาณกระทงขนมปังเหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา กลับเป็นการได้บุญ 2 ต่อ ได้ขอขมาพระแม่คงคา และยังได้ทำทานกับเหล่าสัตว์น้ำอีกด้วย แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีปริมาณมากเกินไป อาจหลีกเลี่ยงมาใช้กระทงใบตอง หรือวัสดุอื่นแทน เพราะเมื่อขนมปังเปื่อยยุ่ย จมลงพื้นบ่อน้ำ จะทำให้จัดเก็บได้ยากและทำให้น้ำเสียได้
นอกจากนี้ ในพื้นที่อื่นๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว หรือวัด ที่มีสระน้ำ บึงน้ำที่มีปลาอาศัยจำนวนมาก ก็เลือกรณรงค์ให้ใช้กระทงขนมปังแบบเดียวกัน โดยจำกัดปริมาณขนมปัง ด้วยการทำกระทงให้เล็ก และบางลง เพื่อไม่ให้มีปริมาณมากจนทำให้น้ำเน่าเสีย หรือแม้แต่ในพื้นที่ที่หาวัสดุธรรมชาติได้ยาก แต่ว่ามีโรงงานรีไซเคิลโฟมในบริเวณนั้น ก็อาจชักชวนให้ใช้กระทงโฟมทั้งหมด สำหรับจัดเก็บโฟมไปส่งให้โรงงานรีไซเคิลโฟม นำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป