xs
xsm
sm
md
lg

ไทคอนคว้า LEED Certified มุ่งพัฒนาคลังสินค้าสีเขียวต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



โครงการทีพาร์ค วังน้อย 2 ขนาดพื้นที่  25,380 ตารางเมตร คาดว่าจะสามารถได้รับการรับรองคุณภาพ LEED อย่างเป็นทางการในไตรมาส 4 ของปีนี้
ไทคอนคว้ามาตรฐานอาคารสีเขียว LEED Certified ประเดิมเป็นโรงงานให้เช่าสีเขียวแห่งแรกในประเทศไทย เผยช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานกว่า 3 แสนบาทต่อปี ประหยัดการใช้น้ำกว่า 750 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานเพิ่มขึ้น พร้อมเดินหน้าพัฒนาคลังสินค้าสีเขียวในกลุ่มไทคอนต่อเนื่อง มั่นใจได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

วีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ผู้นำด้านการพัฒนาโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้เพื่อให้เช่ารายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า ไทคอนได้รับการรับรองคุณภาพอาคารโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design ของ U.S. Green Building Council (USGBC) ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานอาคารสีเขียวในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทไทคอนนับเป็นผู้พัฒนาโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ารายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง LEED Certification นี้

“ไทคอน มีแนวคิดในการพัฒนาอาคารสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2557 ตามนโยบายหลักขององค์กรในการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างสังคมที่ดีให้ชุมชนโดยรอบโครงการ โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกลุ่มไทคอน คือการผลักดันให้โรงงานและคลังสินค้าที่พัฒนาโดยกลุ่มไทคอนเป็นอาคารที่สามารถอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ กระบวนการก่อสร้าง จนถึงการใช้อาคารในการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเรามองว่า LEED Certification สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เนื่องจาก LEED เป็นระบบการประเมินผลที่เป็นที่ยอมรับในด้านการอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อมจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ไทคอนจึงตัดสินใจเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการโรงงานสีเขียว ภายใต้มาตรฐาน LEED ดังกล่าว” วีรพันธ์ กล่าว

สำหรับโครงการนำร่องของกลุ่มไทคอน ได้เริ่มต้นจากการพัฒนาโรงงานสำเร็จรูปแห่งใหม่ ขนาดพื้นที่ 3,300 ตารางเมตร ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชียสุวรรณภูมิเป็นอาคารต้นแบบ โดยใช้ระบบการประเมินคุณภาพอาคาร แบบ LEED Core&Shell Rating System (LEED CS) ซึ่งเหมาะสำหรับการประเมินอาคารที่สร้างมาเพื่อให้เช่าโดยเฉพาะ โดยใช้งบประมาณในการดำเนินงานทั้งสิ้น 40 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภายหลังการประเมินโรงงานตามมาตรฐาน LEED CS พบว่า โรงงานต้นแบบแห่งนี้สามารถใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรฐาน ASHRAE ซึ่งเป็นมาตรฐานการใช้พลังงานในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานได้ประมาณ 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 356,000 บาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังสามารถลดการใช้น้ำในอาคารได้มากถึง 42 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับโรงงานทั่วไป ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้น้ำได้มากถึงประมาณ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ตลอดจนคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร ได้ถูกออกแบบให้มีระบบหมุนเวียนอากาศตามมาตรฐาน ASHRAE ซึ่งจะช่วยให้อาคารสามารถประหยัดพลังงานได้อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ในอาคารให้ดีขึ้นอีกด้วย

“นอกเหนือจากโรงงานต้นแบบแห่งนี้แล้ว กลุ่มไทคอนยังอยู่ระหว่างการพัฒนาคลังสินค้าสีเขียวแห่งใหม่ตาม มาตรฐาน LEED ด้วยที่โครงการทีพาร์ค วังน้อย 2 ขนาดพื้นที่ 25,380 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะสามารถได้รับการรับรองคุณภาพ LEED อย่างเป็นทางการในไตรมาส 4 ของปีนี้”

“โดยประโยชน์ที่ได้คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้น้ำและพลังงานที่ลดน้อยลงกว่าโรงงานและคลังสินค้าทั่วไป อีกทั้งรูปแบบอาคารจะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงานภายในอาคารมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานมากขึ้น จึงมั่นใจได้ว่าโรงงานและคลังสินค้าตามมาตรฐาน LEED นี้ จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” วีรพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

มาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design ริเริ่มขึ้นโดย USGBC (U.S. Green Building Council) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมาตรฐาน LEED เป็นระบบการประเมินผลอาคารสีเขียวที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยในปี 2558 มีอาคารกว่า 100,000 โครงการทั่วโลกได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน LEED ซึ่งการจัดอันดับมาตรฐานนี้จะครอบคลุมทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาคารสีเขียว รวมไปถึงการใช้อาคารอย่างยั่งยืน การใช้น้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ บรรยากาศโดยรอบโครงการ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร นวัตกรรมในการออกแบบโดยคำนึงถึงภูมิสภาพของท้องถิ่น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น