xs
xsm
sm
md
lg

ทส. เร่งขับเคลื่อน “ป่าชุมชน” เพิ่มผืนป่าร้อยละ 40

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์
ขณะที่ กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ เร่งดำเนินการทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุนบุกรุกปลูกสวนยางพารา และสร้างเป็นรีสอร์ต อีกด้านหนึ่งก็พยายามสนับสนุนให้ภาคเอกชน “ปลูกป่าชุมชน” เพื่อเป็นการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งในปัจจุบันมีการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว 9,470 หมู่บ้าน คิดเป็นพื้นที่กว่า 4 ล้านไร่

“ป่าชุมชน” เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา เป็นทางเลือกในการจัดการทรัพยากรนิเวศป่าไม้โดยมีชุมชนเป็นฐาน หรือเป็นการจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชน ที่มีวิถีปฏิบัติเป็นระบบทรัพยากรร่วมของชุมชน เหตุนี้ป่าชุมชน จึงเป็นกิจกรรมของคนชนบทในการจัดการทรัพยากรต้นไม้และป่าไม้ เพื่อผลประโยชน์ของครอบครัวและชุมชน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและมอบอำนาจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปลูก จัดการ ป้องกัน และเก็บหาผลประโยชน์จากป่าไม้ภายใต้ระบบการจัดการที่ยั่งยืน
ในแวดวงของนักปฏิบัติการในงานพัฒนาสังคมและทรัพยากร ยังให้ความสำคัญต่อ “ป่าชุมชน” ว่าเป็นมากกว่ากิจกรรมทางสังคม แต่เป็นกระบวนการการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ หากทำได้อย่างเหมาะสม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ชุมชนกับคนในสังคม คนกับคนจะถูกเปลี่ยนไป และนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่และสวัสดิการของชุมชน รวมถึงการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม
เดินหน้าปลุกชุมชน ปกป้องป่า

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลต้องการที่จะรักษาทรัพย์ของแผ่นดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นทรัพย์สมบัติของชาติบ้านเมืองที่บรรพบุรุษไทยได้รักษาไว้สืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงพวกเราในวันนี้ จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินนี้ต้องช่วยกันรักษาทรัพย์แผ่นดินนี้ให้เป็นมรดกตกทอดไปสู่ลูกหลานของเราในอนาคต และรู้สึกยินดีที่ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมและเป็นแกนนำในการรักษาป่าชุมชนเอาไว้ ในฐานะเป็นภาครัฐ ทำอย่างไรจึงจะสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์รักษากับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนนั่นคือหัวใจ ทำอย่างไรคนจึงจะอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องอยู่อย่างดูแลรักษา ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการสร้างจิตสำนึกให้เกิดในใจของทุกคนจนเกิดเป็นอุดมการณ์ในการรักป่า การรักษาทรัพย์แผ่นดินก็จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ป่าไม้รับลูก เปิด 8 ประเด็นพิทักษ์ป่า
ด้าน ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้ดำเนินโครงการพระราชดำริและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล 8 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติที่กรมป่าไม้ได้ดูแลรวม 92 โครงการ ครอบคลุม 39 จังหวัด 2.กรมป่าไม้ได้จัดตั้งศูนย์จัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการเชิงพื้นที่ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอและจังหวัด 3.การปฏิบัติงานภายใต้แผนปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่ 4.การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยกรมป่าไม้ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 5.การจัดการป่าชุมชนได้เร่งดำเนินการจัดตั้งป่าชุมชน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 ถึงปัจจุบัน 6.การส่งเสริมการปลูกไม้พะยูงและไม้มีค่า 7.การวิจัยป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า งานวิจัยด้านไม้พะยูง และ8.โครงการครูป่าไม้ ซึ่งจากผลงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา กรมป่าไม้ได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเร่งแก้ปัญหาการบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวฟื้นฟูคืนความสมบูรณ์กลับมา
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการจัดการป่าชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ได้มีการผ่านร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างความร่วมมือนั้น เมื่อไม่นานนี้ ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้ยื่นหนังสือให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทบทวน เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาที่เอื้อประโยชน์ในการจัดการของภาครัฐ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยพึ่งพิงป่ามาเป็นเวลานาน กลับถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่า ทั้งๆ ที่เป็นผู้ดูแลและปกป้องป่าไม้
ป่าชุมชนบ้านต่อแพ ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ 2558 และได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ป้ายประกาศเกียรติคุณ และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน 200,000 บาท
คนรักษ์ป่า-ป่ารักชุมชน ปีที่ 8
แนวทางสร้างคุณค่าร่วมกันของภาครัฐและเอกชนในการปกป้องทำลายป่าไม้ถือว่าประสบผลสำเร็จมากขึ้นในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน และ เมื่อเร็วๆ นี้ กรมป่าไม้ ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ประจำปี 2558 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 8 เพื่อขยายแนวปฏิบัติที่ร่วมกันช่วยปกป้องทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนโดยมีชุมชนมาช่วยดูแลรักษาความสมดุลของระบบนิเวศของป่าไม้
จากข้อมูลกรมป่าไม้ พบว่าปัจจุบันมีการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว 9,470 หมู่บ้าน รวมพื้นที่ป่าชุมชน 4,067,128 ไร่ แต่เมื่อเทียบกับช่วงปี 2551 จนถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งป่าชุมชนถึง 3,534 หมู่บ้าน และเป็นพื้นที่ป่าถึง 1,956,549 ไร่
รัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” เป็นความร่วมมือของบริษัทฯ และกรมป่าไม้ซึ่งได้เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 และถือเป็นโครงการหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ ที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “คนอยู่ดี ธรรมชาติอยู่ได้” ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมอย่างเกื้อกูลกันระหว่างคนกับธรรมชาติ
บริษัทฯ ตระหนักถึงความจำเป็นของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่สำคัญป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้อย่างดี สำหรับการดำเนินงานโครงการในปีนี้ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สามารถทำให้เห็นป่าชุมชนที่เป็นรูปธรรมจากการจดทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการของเราที่มากถึง 1,204 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านๆ มา แสดงให้เห็นว่าชุมชนก็ได้ตระหนักและตื่นตัวในเรื่องการดูแลรักษาป่าไม้ของชุมชนเอง
สภาพความสมบูรณ์ของผืนป่าชุมชนบ้านต่อแพ ณ ปัจจุบัน
 
ป่าชุมชน (Community Forest) นั้นเป็นวิถีปฏิบัติและเป็นการปรับตัวของการจัดการทรัพยากรภายในชุมชนในการช่วยลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนในชุมชน จากการถูกแย่งชิงทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ และเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาพื้นที่ป่าและความสมบูรณ์ของนิเวศป่าไม้ เพื่อให้ระบบนิเวศคงความสมดุลยั่งยืน
ตั้งเป้าช่วยเพิ่มผืนป่าให้ได้ร้อยละ 40 ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 514,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 321 ล้านไร่ โดยเหลือพื้นที่ป่าเพียง 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 32 ของพื้นที่เท่านั้น ทำให้ไทยต้องเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศให้ได้ร้อยละ 40 เพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ จึงมีรายการทวงคืนผืนป่า และฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์อีก 26 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยที่ “ป่าชุมชน” ถือเป็นแนวทางสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น