xs
xsm
sm
md
lg

Green School ระดับโลก พุ่งเป้า “อาคารเรียน” เพิ่มคุณภาพชีวิตเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การพัฒนาระบบการบริหารโรงเรียนในระดับโลก หยิบยกหลายประเด็นขึ้นมาถกเถียงในปัจจุบัน นอกจากการพิจารณาในเรื่องเดิมๆ เช่นค่านิยมหลักที่ควรจะเหมือนกันทุกโรงเรียน หรือ การวางกรอบให้แบบทดสอบผลการเรียนเป็นมาตรฐานเดียวกัน ยังได้นำประเด็น “สภาพของอาคารเรียน” ซึ่งเด็กๆ ใช้ชีวิตในเวลาเรียนมากกว่าที่บ้านมาพิจารณาด้วย
หนึ่งในแกนนำเรื่องนี้ ไม่ได้มาจากแวดวงการศึกษา แต่มาจากภาคการก่อสร้าง ชื่อ Rich Fedrizzi ซึ่งเป็น CEO ของ US Green Building Council เขาพยายามชี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษามองถึงความสัมพันธ์ระหว่างสภาพของอาคารเรียนมีผลต่อสุขภาพของเด็กๆ หากผู้บริหารการศึกษาพิจารณาใส่ใจกับองค์ประกอบของหลังคา อุณหภูมิระหว่างเรียน หรือแม้กระทั่งการใช้วัสดุรีไซเคิลที่ไม่เพียงพอ
ผู้บริหารการศึกษาจำเป็นจะต้องสร้างพันธผูกพันให้เกิดความรับผิดชอบในการพัฒนานโยบายและกระบวนการดำเนินการซึ่งมีความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในการบริหาร และทำทุกอย่างแบบมีสติในแนวกรีนซึ่งจะเกิดความยั่งยืนของสังคมและสภาพแวดล้อม และในส่วนของอาคาร คือ การสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยที่เน้นสุขอนามัย และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย
ทั้งนี้ US Green Building Council เป็นองค์กรที่บุกเบิกให้เกิดการริเริ่มแนวคิดของ Green School ที่แพร่หลายออกไปทั่วโลก ไม่แต่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่องค์กรนี้เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดระเบียบอาคารจนเป็นที่มาของมาตรฐาน LEED ในปัจจุบัน

4 องค์ประกอบหลัก Green School
1) การมีนโยบายด้าน Green School
2) การปรับสภาพทางกายภาพให้เป็นตามเกณฑ์ Green School
3) การปรับกระบวนการบริหารจัดการให้เป็นกรีนโดยเฉพาะด้านการบริหารพลังงาน น้ำ และรีไซเคิล
4) การเรียนการสอนแนวกรีน เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบในการปกป้องสภาพแวดล้อม
การศึกษาของ EPA ในสหรัฐฯชี้ว่า ผลกระทบของสภาพแวดล้อมด้านอาคารเรียนมีผลต่อทั้งเด็กและครูผู้สอนอย่างน่าตกใจ จากการศึกษาข้อมูลระบุว่า 1 ใน 2 ของโรงเรียนทั่วประเทศพบปัญหาในสถานศึกษาที่เชื่อมโยงกับคุณภาพของอากาศภายในอาคาร (Indoor air quality : IAQ) ซึ่งรวมถึงการหมุนเวียนและแสงสว่างที่เข้าถึงได้อย่างจำกัด และอากาศในห้องเรียนที่ร้อน หรือหนาวเย็นเกินไป ส่งผลต่อประสิทธิผลของการเรียนการสอน
ผลการสำรวจของ EPA สรุปไว้ชัดเจนว่า สภาพแวดล้อมภายในอาคารเรียนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กๆ ด้านความสนใจเรียนอย่างต่อเนื่อง และผลสำเร็จของการเรียนการสอนจึงมีส่วนสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มให้โรงเรียน และยังใช้เวลามากขึ้นทั้งเรื่องการทำความสะอาด การจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาสุขภาพ
สิ่งที่ปรากฏในผลการศึกษานี้ ถูกนำไปเผยแพร่ให้แก่ผู้บริหารการศึกษา และส่วนหนึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการส่งเสริม ใส่ใจต่อการปรับยกระดับคุณภาพของสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอน ทำให้แนวโน้มของการจัดวางอาคารนำกรอบแนวคิดและหลักการของ Green School มาใช้
นอกเหนือจากตัวอาคารที่เป็นตัวตั้งต้นของการตื่นตัวครั้งนี้แล้ว แนวคิดของ Green School ยังขยายแวดวงออกไปเกี่ยวข้องกับประเด็นอื่นๆ ได้แก่
ประการแรก Green Back-to-school การวางกลไกและระบบการรีไซเคิลอุปกรณ์การเรียน ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นแทนการซื้อใหม่ทุกคนทุกกรณี และจัดสหกรณ์การเวียนอุปกรณ์การเรียนการสอนให้เป็นระบบ
ประการที่สอง Teach Green เป็นการให้การศึกษาที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา พร้อมกับการทำเป็นโครงงานที่วัดผลได้จริง
ประการที่สาม Green School Committee การมีตัวแทนจากผู้เรียนทุกระดับชั้น ครูผู้สอนแต่ละระดับชั้น ตัวแทนของชุมชน และผู้บริหารโรงเรียน โดยให้มีวาระเพียง 1 ปี เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทุกปี

ขั้นตอนและกระบวนการพัฒนาสู่ Green School
1) การแต่งตั้ง Green-School Committee
2) ทบทวนประเด็นที่เป็นจุดอ่อนและปัญหาความจำเป็นด้านสภาพแวดล้อม
3) พัฒนาแผนปฏิบัติการ
4) วางเกณฑ์ และเงื่อนไขการวัดผล ประเมินผลและติดตามความก้าวหน้า
5) การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ
6) การบันทึกผลดำเนินงาน และประเมินผลดำเนินงานที่เกิดจริง
7) การปิดป้ายสัญลักษณ์องค์ประกอบที่เป็น Green School
สำหรับป้ายและสัญลักษณ์ที่พัฒนากระบวนการและขั้นตอนจนเป็น Green School อาจจะแยกเป็นกลุ่มของการดำเนินงานตามภาระงานของการเรียนการสอนประจำวัน การบริหารพลังงาน การบริหารน้ำทิ้ง การบริหารการเดินทาง เช่น การจัดสัปดาห์เดินมาโรงเรียน การจัดเดือนแห่งการปั่นจักรยานมาเรียน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น