xs
xsm
sm
md
lg

เอไอเอ แบ่งปันรอยยิ้ม 100 เด็กไทย ที่ จ.อุบลราชธานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการ “เอไอเอ สร้างรอยยิ้ม” มอบเงินทุน 1,500,000 บาท  สนับสนุนค่าผ่าตัดเปลี่ยนชีวิตมอบรอยยิ้มให้แก่เยาวชนไทย 100 คนที่ต้องเผชิญโรคปากแหว่งเพดานโหว่ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคาร 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี

เอไอเอ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี มอบเงิน 1.5 ล้านบาท สนับสนุนค่าผ่าตัดเปลี่ยนชีวิต มอบรอยยิ้มแก่เยาวชนไทย 100 คน
สุวิช ล่ำซำ รองผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่าในปีนี้เอไอเอได้สนับสนุนการผ่าตัดและค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยเงินจำนวน 1,500,000 บาท ให้แก่ผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานเนื่องจากต้องเผชิญโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ที่ผ่านหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกจำนวน 100 คน พร้อมทั้งสนับสนุนการปรับปรุงมุมสันทนาการเด็กที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมตกแต่ง ตึกอุบัติเหตุวิชิต ชั้น 5 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาไว้ผ่อนคลายและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ระหว่างรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล"
โครงการ "เอไอเอ สร้างรอยยิ้ม" เป็นโครงการที่เกิดจากการร่วมมือของ 3 องค์กร ได้แก่ เอไอเอ ประเทศไทย มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม และโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 ตามนโยบายสำคัญของบริษัทภายใต้ปณิธาน "Healthy Living" ที่ให้ยึดปฏิบัติในทุกประเทศที่ดำเนินธุรกิจ
ข้อมูลสถิติจากมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรพบว่าในทุกๆ 3 นาที ทั่วโลก มีเด็ก 1 คนใน 700 ราย ที่เกิดมาพร้อมกับภาวะปากแหว่ง หรือเพดานโหว่ ในบางรายอาจมีอาการทั้งสองอย่าง ส่วนในประเทศไทยโดยเฉลี่ยจะมีเด็ก 2,000 รายต่อปีที่มีภาวะปากแหว่ง หรือเพดานโหว่ ซึ่งยังไม่รวมถึงชาวเขาหรือผู้ลี้ภัยที่ยังไม่ทราบจำนวนแน่นอน นอกจากนี้ยังพบอีกว่าคนที่เป็นโรคนี้โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือมีฐานะยากจน โดยสาเหตุหลักของโรคปากแหว่งเพดานโหว่มีที่มาจากพันธุกรรม การขาดสารอาหารที่จำเป็นในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หรือการได้รับสารเคมีทางผิวหนัง เป็นต้น และภาคที่พบผู้ประสบปัญหาดังกล่าวมากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ
"ถึงแม้ทางรัฐบาลจะให้การช่วยเหลือในด้านการรักษา แต่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังขาดเงินในการนำมาใช้จ่ายเรื่องค่าเดินทางเพื่อมารับการรักษา และค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่รักษาตัว ดังนั้นนอกจากเอไอเอจะให้การสนับสนุนค่าผ่าตัดแล้ว เรายังช่วยเหลือในเรื่องค่าเดินทาง ค่าอาหารของคนไข้และผู้เฝ้าไข้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ที่เข้าร่วมโครงการและได้เข้ารับการผ่าตัดไปแล้วกว่า 2,062 คน และเราก็เชื่อมั่นว่าความมุ่งมั่นของเราในครั้งนี้ จะสามารถสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ สร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข" สุวิช กล่าว
โครงการ "เอไอเอ สร้างรอยยิ้ม" นั้นเป็นโครงการที่เกิดจากการร่วมมือของ 3 องค์กร ได้แก่ เอไอเอ ประเทศไทย มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม และโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 ตามนโยบายสำคัญของบริษัทภายใต้ปณิธาน "Healthy Living" ที่ให้ยึดปฏิบัติในทุกประเทศที่ดำเนินธุรกิจ
ซึ่งที่ผ่านมาเอไอเอได้รังสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยมาอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นทั้งเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข การแพทย์ การพัฒนาชุมชนและการกีฬา โดยคำนึงถึงการมอบสิ่งดีๆ กลับคืนสู่สังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจมาตลอดระยะเวลา 77 ปีที่ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย

สุรีพร ภิลาศรี ผู้ปกครองของ เด็กชาย นพวิชญ ภิลาศรี(น้องบอย)
ประนอม ทองแต้ม ผู้ปกครองของ เด็กชาย ชัยชนะ จันทะเสน (น้องนที)
เบื้องหน้า-เบื้องหลัง ครอบครับที่ได้รอยยิ้มกลับคืน
การจัดกิจกรรมสร้างรอยยิ้มครั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้เชิญครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการสร้างรอยยิ้มและเข้ารับการผ่าตัดเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวน 2 ครอบครัว มาเปิดเผย
สุรีพร ภิลาศรี ผู้ปกครองของ เด็กชาย นพวิชญ ภิลาศรี (น้องบอย) บอกว่า “ตอนที่ลูกยังไม่ได้รับการผ่าตัด เขาจะทานนมแม่ไม่ได้เลย เมื่อทานเข้าไปก็สำลักออกทางจมูกหมด สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตมากค่ะ ดิฉันรู้สึกเสียใจที่ช่วยเหลืออะไรลูกไม่ได้เลย และตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีโครงการสร้างรอยยิ้มด้วย จนกระทั่งคุณหมอแนะนำให้รู้จักโครงการนี้ค่ะ เมื่อลูกชายได้เข้ารับการผ่าตัด เขาก็เปลี่ยนไป ร่าเริงขึ้น เข้ากับเพื่อนๆ ได้ดี พูดได้ชัดขึ้น ทานอาหารได้ปกติ ดิฉันรู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างมากที่มีโครงการดีๆ แบบนี้เกิดขึ้น ทำให้เด็กที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ได้รับโอกาสและมีรอยยิ้มเหมือนเด็กปกติทั่วไป”
อีกครอบครัวหนึ่งก็พบกับความเปลี่ยนแปลงในด้านดีไม่น้อยไปกว่ากัน ประนอม ทองแต้ม ผู้ปกครองของ เด็กชาย ชัยชนะ จันทะเสน (น้องนที) เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมโครงการว่า “ตอนแรกที่ทราบว่าลูกเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ก็รู้สึกตกใจ เพราะไม่รู้ว่าโรคนี้จะรักษาได้หรือไม่ และก็ไม่ทราบมาก่อนเลยว่ามีโครงการนี้คอยให้การช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคนี้อยู่ด้วย จนคุณหมอมาแจ้งให้ทราบว่ามีโครงการนี้อยู่และมีทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้วย ดิฉันจึงเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ต ซึ่งตอนนั้นโครงการสร้างรอยยิ้มก็มาถึงที่นี้พอดี และเป็นความโชคดีของตัวบุตรชายของดิฉันเองด้วยที่เขามีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมที่จะได้รับการรักษาได้ทันที ซึ่งเป็นการเข้ารับการผ่าตัดโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากที่ได้รับการผ่าตัดแล้วก็ต้องรักษาตัวอยู่นานพอสมควร เนื่องจากเคสของบุตรชายดิฉันค่อนข้างหนัก เพราะเขาไม่มีจมูกด้วย ทางทีมแพทย์ก็ต้องทำงานกันอย่างหนัก แต่หลังจากหายดีแล้ว เขาก็เริ่มยิ้มได้ เริ่มอยากพูดคุย ดิฉันรู้สึกดีใจที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการสร้างรอยยิ้มมาก และรู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของลูก ดิฉันจึงอยากขอบคุณเอไอเอและทุกองค์กร ทุกหน่วยงานที่ได้ยื่นมือมาช่วยเหลือดูแลเด็กๆ ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่เป็นอย่างดี ทำให้เด็กๆ ทุกคนได้มีรอยยิ้มที่สดใสอีกครั้งค่ะ”
กำลังโหลดความคิดเห็น