xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยแนะอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ - หลังคลอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยแนะ “อาหาร” สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เตรียมพร้อมตั้งแต่เดือนแรกจนถึงหลังคลอด เน้นอาหารหลัก 5 หมู่ กินให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และสร้างน้ำนม

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งแต่ละช่วงเดือนร่างกายจะต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป โดยช่วง 1 - 3 เดือนแรก ให้หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีเครื่องเทศมาก หากแพ้ท้องมากจนทำให้กินอาหารได้น้อย ควรแบ่งมื้อกินให้บ่อยยิ่งขึ้น ช่วงตั้งครรภ์ 4 - 6 เดือน ควรกินอาหารมากขึ้นโดยกินอาหารให้หลากหลาย เพราะในระยะนี้ลูกน้อยก็กำลังสร้างอวัยวะต่าง ๆ สารอาหารที่เพียงพอ จะไปช่วยเพิ่มขนาดของอวัยวะที่ทารกกำลังเจริญเติบโต และมากพอที่จะทำให้สุขภาพของแม่แข็งแรงอยู่ได้

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ขณะตั้งครรภ์ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ คือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งช่วง 4 - 6 เดือน ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 แคลอรีต่อวัน และต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้นจากปกติ ควรเพิ่มธาตุเหล็กเพื่อใช้ในสร้างเม็ดเลือดและโฟเลตในการป้องกันความผิดปกติปากแหว่งเพดานโหว่ เพิ่มแคลเซียมและฟอสฟอรัสในการสร้างกระดูกและฟัน กินอาหารที่เป็นแหล่งไอโอดีนที่ช่วยในการพัฒนาระบบประสาท และการเจริญเติบโตของเซลล์สมองให้สมบูรณ์ และดื่มน้ำเพิ่มมากยิ่งขึ้น

“ส่วนช่วง 7 - 9 เดือน คือ ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง ร่างกายยังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 แคลอรีต่อวัน หรือเท่ากับอาหาร 1 มื้อ หรืออาจเพิ่มเป็นอาหารว่าง 2 มื้อ ในช่วงนี้ควรติดตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก เนื่องจากจะมีผลต่อการเจริญเติบโตกับทารก คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 10 แก้ว และเลือกกินอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย ปรุงสุกใหม่ ๆ เพราะพลังงานและสารอาหารที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญต่อลูก” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า เมื่อทารกคลอดออกมาในช่วงระยะ 6 เดือนแรก ทารกจะได้รับนมแม่เป็นอาหารหลัก การเจริญเติบโตของทารกจะขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของน้ำนม ในระยะนี้แม่จึงจำเป็นต้องกินอาหารให้ได้รับสารอาหารให้เพียงพอเหมาะสมและหลากหลาย ช่วงนี้แม่ต้องรับพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 200 กิโลแคลอรี จากช่วงตั้งครรภ์เป็น 500 กิโลแคลอรี่ เพื่อใช้สร้างน้ำนมสำหรับลูกให้ได้ปริมาณที่เพียงพอและได้คุณภาพ ได้แก่ หัวปลี ใบกะเพรา ฟักทอง เมล็ดขนุนต้ม พริกไทย ขิง มะรุม ใบแมงลัก กุยช่าย ตำลึง มะละกอ พุทรา นอกจากนี้ การสร้างน้ำนมจะถูกกระตุ้นจากการดูดนมของลูก ถ้าน้ำนมไม่ถูกดูด หรือปั๊มจนเกลี้ยงเต้าอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง การที่น้ำนมเกลี้ยงเต้าอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น วิธีที่ดีที่สุดในการกระตุ้นน้ำนม คือ การดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดให้ถูกวิธี โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรกหลังทารกเกิด คุณแม่ควรผ่อนคลายไม่เครียด และควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 10 - 12 แก้ว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น