xs
xsm
sm
md
lg

เชลล์-น้ำมันพืชปทุม หนุนเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่มาตรฐาน RSPO

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานมอบประกาศนียบัตรให้แก่เกษตรกรรายย่อย 797 ราย และ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 5 แห่ง จากจังหวัดกระบี่ สุราษฏร์ธานี ตรัง และนครศรีธรรมราช ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน RSPO
โชว์ผลผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพมาตรฐาน RSPO ตามโครงการส่งเสริมศักยภาพการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน
•ตั้งเป้ายกระดับการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มแบบยั่งยืนตลอดสายการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย และทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ปลูกปาล์มเกิดความยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
•3 ปี มีเกษตรกรรายย่อยกว่า 797 ราย และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม จำนวน 5 แห่ง ในภาคใต้ ล่าสุดจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรผ่านการรับรองตามมาตรฐาน RSPO
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมมือกับบริษัทน้ำมันพืชปทุม จำกัด จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่เกษตรกรรายย่อย 797 ราย และ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 5 แห่ง จากจังหวัดกระบี่ สุราษฏร์ธานี ตรัง และนครศรีธรรมราช ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน RSPO ตามโครงการส่งเสริมศักยภาพการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ในวันที่ 24 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมกระบี่ เมอร์ริไทม์ รีสอร์ท แอนด์สปา จังหวัดกระบี่
นับว่าเชลล์เป็นบริษัทน้ำมันรายแรกในประเทศที่ลงทุนในการพัฒนาการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับบริษัทน้ำมันพืชปทุม จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซลรายใหญ่ จัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน RSPO ให้กับเกษตรกรชาวไทย ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้ในด้านการบริหารการจัดการที่ดีแก่เกษตรกรในเรื่องการแนวทางการปฏิบัติ
ตามมาตรฐาน RSPO ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จะทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ร่วมในโครงการได้รับผลผลิตต่อไร่สูงกว่าเดิม และคุณภาพปาล์มน้ำมันก็ดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชนดีขึ้นจากรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเกษตรกรและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มยังได้รับประโยชน์ทางสังคม ก็คือ เกิดการแบ่งปันความรู้ในเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อัษฎา หะรินสุต
อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เชลล์มีความยินดีอย่างยิ่งกับกลุ่มเกษตรกรและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน RSPO และได้ทุ่มเทเวลาตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนากระบวนการและการปฎิบัติงาน ถือเป็นการยกระดับการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนตลอดสายการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำให้กับประเทศ สร้างความมั่นใจได้ว่าตลอดห่วงโซ่อุปทานในการปลูก การสกัดน้ำมันปาล์ม และการแปรรูปน้ำมันปาล์ม และจนมาถึงน้ำมันดีเซลที่ผู้บริโภคเติม มีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังความมุ่งหวังของเชลล์ที่ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย”
“ในทุกๆ ปี ร้อยเปอร์เซนต์ของปริมาณน้ำมันปาล์มที่เชลล์ผสมในน้ำมันนั้น ได้รับการรับรองจากองค์กรระดับโลกที่เชื่อถือได้ อย่างเช่น มาตรฐาน RSPO ในปี พ.ศ. 2557 เราได้ผสมเชื้อเพลิงชีวภาพประมาณ 9 พันล้านลิตรในน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลทั่วโลก ทำให้เราเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานที่มีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ โครงการที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 3 ของโลก รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นความมุ่งมั่นของเราที่จะผลักดันและสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในทุกภาคส่วนของโซ่อุปทานทั้งหมด”
อัษฎา กล่าวต่อว่าในขณะนี้เกษตรกรรายย่อยและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองจากมาตรฐาน RSPO ได้ทุ่มเทเพื่อพัฒนากระบวนการและการปฎิบัติงาน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่เกษตรกรรายย่อยได้ร่วมช่วยเหลือกันเพื่อค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการพัฒนาระบบต่างๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการเงินและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติอีกด้วย
ร่วมชมสวนปาล์มน้ำมัน มาตรฐาน RSPO (จากซ้าย) ศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และกรรมการบริษัทน้ำมันพืชปทุม จำกัด , ธเนศร์ รัชตะปีติ กรรมการผู้จัดการฝ่ายจัดหาและจัดส่งบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด, สุภกานต์ วิทิตวโรดม ผู้อำนวยการสำนักบริการธุรกิจ และการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงกระทรวงพลังงาน ,อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ,เฮเลน โชเล่ย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านความยั่งยืนทางพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ จากบริษัทรอยัล ดัทช์ เชลล์ ,ซาลาฮุดดิน ยาค็อบ ผู้อำนวยการด้านเทคนิค หน่วยงานมาตรฐาน RSPO ,ราวิน ทรับชาห์ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมและสร้างเสริมความสัมพันธ์ หน่วยงานมาตรฐาน RSPO และ จูเลีย มาจาว ผู้จัดการโครงการเกษตรกรรายย่อย หน่วยงานมาตรฐาน RSPO
ด้าน ศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และกรรมการบริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด กล่าวว่า น้ำมันพืชปทุมนับเป็นผู้ใช้น้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ เราต้องการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ คือ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้มีมาตรฐานการผลิตที่ตั้งอยู่ในพื้นฐานของหลักเกณฑ์ ทาง ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เรามีการจัดตั้งทีมงานภาคสนาม ฝึกอบรมเชิงลึกให้กับผู้ปลูกปาล์มรายย่อย นำระบบบริหารจัดการแบบกลุ่มเข้ามาใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง
"หลักการทำงานตามมาตรฐาน RSPO เน้นไปที่ความสามารถในการเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ ตลอดไปจนถึงการพัฒนาระบบความยั่งยืน สามารถทำให้เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้รับผลผลิตต่อไร่สูงกว่าเดิม และมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันเป็นการช่วยป้องกันผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม”
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีส่วนแบ่งในการผลิตน้ำมันปาล์มประมาณ ร้อยละ 3.1 ของโลกด้วยผลผลิตมากกว่า 2.2 ล้านตัน ขณะที่สัดส่วนของเกษตรกรรายย่อย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน RSPO มีเพียงร้อยละ 1 และกว่าร้อยละ 80 ของน้ำมันปาล์มในประเทศไทยผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย การยกระดับคุณภาพผลผลิตให้ตรงตามมาตรฐานโลก RSPO จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อเกษตรกรไทย เพราะหลายบริษัทชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศจะเลือกคู่ค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO มาพิจารณาในการรับซื้อสินค้า การนำมาตรฐาน RSPO เข้ามาเป็นหลักปฎิบัติซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรไทยรักษาและเพิ่มระดับการค้าน้ำมันปาล์มไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น
สำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ซาลาฮุดดิน ยาค็อบ ผู้บริหารจากหน่วยงานมาตรฐานความยั่งยืน RSPO กล่าวว่า ประเทศไทยมีจำนวนไร่ปาล์มน้ำมันประมาณ 4 ล้านกว่าไร่ โดยมีพื้นที่โดยเฉลี่ยของเกษตรกรรายย่อยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน RSPO มากกว่า 27,000 ไร่ ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันให้มีความยั่งยืน ดังนั้น การที่จะได้การรับรองมาตรฐาน RSPO จำเป็นต้องมีห่วงโซ่อุปทานที่มีขั้นตอนเข้มงวดและยั่งยืนตั้งแต่ต้นจนจบ

ตัวอย่างการจัดสวนอย่างเหมาะสม เช่น การปูทางใบจะช่วยคลุมหน้าดินรักษาความชื้น ควบคุมวัชพืชให้เจริญช้า เป็นการปลดปล่อยธาตุอาหารที่อยู่ในใบ ให้คืนกลับสู่พื้นดิน
สวนที่ยังไม่ได้รับการปลูกและปรับปรุงตามหลักการมาตรฐาน RSPO  ต้นปาล์มขาดธาตุอาหาร ใบแสดงอาการเป็นสีเหลือง สีล้ม สีแดงเป็นจุดด่าง
ด้าน วิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กรมธุรกิจพลังงาน ได้ปรับมาตรฐานผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลในไบโอดีเซล บี 7 จากเดิม ผสมไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 ต้องผสมไบโอดีเซลขั้นต่ำที่ระดับไม่น้อยกว่า ร้อยละ 6.5 โดยการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลขึ้นอีก ร้อยละ 0.5 จะช่วยเพิ่มความต้องการน้ำมันปาล์มดิบได้เป็นเดือนละ 84,000 ตัน จากเดิมที่ใช้เดือนละ 76,000 ตัน
นอกจากนี้ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ยังได้เห็นชอบในหลักการที่จะเพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์มดิบผสมกับน้ำมันเตาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) กระทรวงพลังงาน ที่ตั้งเป้าหมายการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ในปี 2564 ในกลุ่มเอทานอล ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 9 ล้านลิตรต่อวัน และกลุ่มไบโอดีเซล ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7.2 ล้านลิตรต่อวัน โดยคาดว่า เชื้อเพลิงชีวภาพ จะเป็นกลุ่มพลังงานที่สำคัญ และจะมีการผลิตและยอดการใช้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นข่าวดีของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะสามารถขยายกำลังการผลิตควบคู่ไปกับการนำหลักเกณฑ์ RSPO มาเป็นหลักปฎิบัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น