xs
xsm
sm
md
lg

Green vision : ญี่ปุ่น แบบอย่างพัฒนาการอุตสาหกรรมสีเขียว / ปราโมทย์ วิทยาสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นแบบอย่างของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงานที่ดีมาก
เนื่องจากดินแดนของญี่ปุ่นนั้นอยู่ติดกับทางตอนใต้ของจีนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างหนาแน่น และมักก่อมลภาวะที่เป็นพิษ ทำให้เกิดฝนกรด และยุคนั้นก็ยังใช้เทคโนโลยีเดิมๆ ที่ไม่มีตัวดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ในปี 1990 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีโครงการและแผนการดำเนินงานเพื่อโลกสีเขียว โดยมีการเตรียมงบประมาณไว้ล่วงหน้า พอเริ่มดำเนินโครงการนี้ในช่วงปี1990-2000 ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยเพียงเปอร์เซ็นต์เศษๆ อยู่ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำของโลกใบนี้ แต่ที่น่าแปลกใจ ก็คือ อัตราการใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นกลับลดลง
เมื่อมองลึกลงไปก็เห็นว่า เพราะญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีของการประหยัดพลังงาน ซึ่งเริ่มต้นจากแนวปฏิบัติในการอนุรักษ์พลังงานที่เข้มแข็ง เขามีจุดเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการให้ผู้คนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกันอนุรักษ์พลังงาน เมื่อใช้พลังงานกันน้อยลงแล้วย่อมทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่น้อยลงด้วย และมลพิษต่างๆ ก็ลดลงตาม
หลายคนอาจจะมองข้าม หรือไม่ทันคิดกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการปิดไฟเมื่อเดินออกจากห้องก็สามารถทำให้ลดการใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่าย และได้มีส่วนช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย หากเราเริ่มต้นคล้ายๆกับญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจากการอนุรักษ์พลังงานอย่างเข้มแข็ง ส่วนที่สร้างมลพิษก็ย่อมจะน้อยลงเหมือนกัน
ในการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เราทำกันมา 5 ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดีจากโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) มีสถานประกอบการเข้าร่วมกว่า 2 หมื่นราย เรื่องการใช้ชื่อที่ตั้งว่า “อุตสาหกรรมสีเขียว” อาจจะทำให้คนอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเข้าใจผิด ที่จริงแล้วคืออุตสาหกรรมที่จะมุ่งสู่ความเป็นสีเขียว จากที่ผ่านมาได้รับรายงานว่า มีองค์กรให้ความสนใจเข้ามาร่วม รวมทั้งภาคการค้าและบริการที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม ต่อไปเราอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแนวคิด กลายเป็น Business Growth Green ซึ่งไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น
โลกโลกาภิวัตต์ หรือ Globalization ทำให้เกิดการแพร่กระจายข่าวสารไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ หรืออีกเรื่องที่ไปด้วยกันก็คือ การค้าเสรี ซึ่งเรามักจะพูดถึงเรื่องมาตรฐานการทำการค้าระหว่างกัน
หรือในเรื่องคุณภาพของสินค้า อย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ รถอีโคคาร์กำหนดการใช้พลังงานต่อระยะทาง คือ สิ้นเปลีองพลังงานประมาณ 10 กิโลเมตรต่อ 1ลิตร มีการส่งของเสียออกจากตัวรถไม่ให้เกิน 100 กรัม ทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นความสำเร็จที่เป็นมาตรฐานของทั่วโลก ซึ่งเวลาจะทำอะไรแล้วจะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพ รวมถึงคำนึงถึงผลตามมาคือการกีดกันทางการค้าด้วยรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี
ถึงขณะนี้ระดับของอุตสาหกรรมสีเขียว 5 ขั้น ที่อยู่ในระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว ซึ่งมีความสนใจประมาณ 13,000 ราย ขั้นต่อมาเริ่มลงมือทำ ระดับที่ 2 เรียกว่า ปฏิบัติการสีเขียว มีประมาณ 4,000 ราย จนมาถึงระดับที่ 3 เรียกว่า ระบบสีเขียว อีกราว 3,000 ราย ซึ่งเป็นขั้นที่มีระบบเข้าไปตรวจสอบดูแลอุตสาหกรรมว่าเป็นผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ตามรายงานองค์กรที่ได้มาตรฐาน ไอเอสโอ 14000 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ประมาณ 6-7 พันราย คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 1ใน 10 ของโลก ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมของเราขอให้เป็นภาคภูมิใจร่วมกันเมื่อพูดถึงจำนวนอุตสาหกรรม โดยเอาจำนวนที่เราได้ไอเอสโอ 14000 กับจำนวนภาคอุตสาหกรรม จับมาหารกันได้ประมาณ 1 ใน 5 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
ถือว่าเรามีวิญญาณในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงานและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากที่สุด บางทีเราก็ไม่ได้ฉุกคิดว่า ทุก 1 บาทที่ประหยัดได้ มันคือกำไร แต่ถ้าเพิ่มยอดขาย ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้กำไรเกิน 1 บาท หรือไม่

“เมื่อมองลึกลงไปก็เห็นว่า เพราะญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีของการประหยัดพลังงาน ซึ่งเริ่มต้นจากแนวปฏิบัติในการอนุรักษ์พลังงานที่เข้มแข็ง”
ปราโมทย์ วิทยาสุข
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น