xs
xsm
sm
md
lg

ส่องสองวิถีลงทุนหลักทรัพย์ ESG หนุนขับเคลื่อน CSR ในแบบยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

6 องค์กร ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนสุนทาน 120 ลบ.
ครั้งที่เปิดตัว “กองทุนรวม คนไทยใจดี”  หรือ  BKIND เมื่อปีที่ผ่านมา บริหารจัดการกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าเป็นกองทุนรวมที่ทำให้เงินทุกบาทของผู้ลงทุนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
เป็นสองทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่ต้องการช่วยเหลือ หรือไปสนับสนุนซีเอสอาร์ที่มีความยั่งยืน ทางเลือกแรก ลงทุนกับ “กองทุนรวม คนไทยใจดี” หรือ BKIND กับอีกรูปแบบเมื่อเร็วๆ นี้ 6 องค์กรธุรกิจชั้นนำ นำร่องร่วมเป็นหุ้นส่วน “การลงทุนสุนทาน” พร้อมระดมเงินตั้งต้นก้อนแรก 120 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมคาดจะเปิดกองทุนได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
กองทุนสุนทาน หรือการลงทุนในรูปแบบ Philanthropic Investments ภายใต้กรอบ (Universe) ที่เป็นกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 โดยการนำดอกผลจากการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ไปช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในแบบยั่งยืน ทั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้คัดเลือก ESG สำหรับตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับนำผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป มาใช้สนับสนุนการขับเคลื่อน CSR ตามนโยบายขององค์กรที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการลงทุน
ขนะที่ “กองทุนรวม คนไทยใจดี” หรือ BKIND บริหารจัดการกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าเป็นกองทุนรวมที่ทำให้เงินทุกบาทของผู้ลงทุนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการต่างๆ ที่จะได้รับการสนับสนุนนั้น จะมีคณะกรรมการพิจารณาโครงการที่เหมาะสม ส่วนเงินที่จะมอบคิดจากการจัดการกองทุน 40% หรือเทียบเท่า 0.8% ของมูลค่าเงินกองทุน เพื่อสนับสนุนหรือลงทุนในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ

6 องค์กรธุรกิจนำร่อง กองทุนสุนทาน
ได้แก่ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ไมเนอร์ กรุ๊ป, แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์, น้ำตาลขอนแก่น, นำสินประกันภัย และ ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จับมือร่วมเป็นหุ้นส่วน “การลงทุนสุนทาน” หรือ “Philanthropic Investments” โดยระดมเงินตั้งต้นก้อนแรกรายละ 20 ล้านบาท รวม 120 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมในโครงการลงทุนสุนทาน โดยคาดว่าจะเปิดกองทุนใหม่นี้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และขณะนี้อยู่ระหว่างหาชื่อกองทุน

อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล
อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ ในฐานะที่บริษัทเข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนสุนทาน และยังเป็นผู้รับบริหารจัดการเงินลงทุนในโครงการนี้ กล่าวว่า แนวคิดของการลงทุนในรูปแบบ Philanthropic Investments ในต่างประเทศมีมานานแล้ว นับเป็นโอกาสดีที่มีโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในประเทศไทย
“ตนเองเชื่อว่าด้วยความเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการทางการเงินและการลงทุน และมีบทบาทในการริเริ่มและร่วมพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เราจะใช้ความเชี่ยวชาญในการลงทุนของเราในการบริหารจัดการกองทุนสุนทานนี้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี เกิดดอกผลไปทำคุณประโยชน์ต่างๆ เพื่อสังคมตามเจตนารมณ์ของโครงการได้เป็นอย่างดี”
กลุ่มทิสโก้สนับสนุนเงินลงทุนตั้งต้นในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุนไปทำประโยชน์แก่สังคมที่กลุ่มทิสโก้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจทางการเงินของคนไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ให้สามารถบริหารจัดการการเงินในชีวิตประจำวัน ปลูกฝังทัศนคติการออมและการสร้างวินัยทางการเงิน อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเองและครอบครัวอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดโครงการค่ายการเงินเยาวชน และจัดอบรมความรู้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ นอกเหนือจากการให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนผ่านมูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล และการสนับสนุนกิจกรรมด้าน ESG อันได้แก่ การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
ด้าน ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริหาร บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า การได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนก่อตั้งโครงการลงทุนสุนทาน เพราะบริษัทต้องการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในตลาดทุนไทย ซึ่งการลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัย ESG ดังกล่าวในปัจจุบัน มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกภูมิภาคทั่วโลก
บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ร่วมลงเงินทุนตั้งต้นสำหรับโครงการนี้โดยถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว โดยหวังให้เกิดดอกผลสะสมเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่น ‘สถานีส่งความสุขจากชาวบีทีเอสกรุ๊ปฯ’ เป็นโครงการ CSR หลักของบริษัทฯ ที่ได้นำความสุข และความช่วยเหลือในสิ่งที่เขาต้องการและมีความจำเป็นอย่างแท้จริงไปมอบให้กับเด็กในโรงเรียน และชุมชน ในพื้นที่ทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือมาก่อน ตลอดจนการนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้การรักษาแก่เด็ก และชาวบ้านในชุมชนเหล่านั้น ซึ่งบริษัทได้ริเริ่มให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ เดือนเมษายน 2558 รวมทั้งใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรม CSR อื่นๆ ของบริษัทฯ ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 อาทิ โครงการ ‘คลินิกลอยฟ้า’ โครงการ ‘หนูด่วนชวนกินเจ’ การสนับสนุนให้เยาวชนเรียนรู้การประหยัดพลังงานด้วยการทัศนศึกษาระบบขนส่งมวลชน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนด้วยการมอบทุนให้นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศตลอดจน การจัดโครงการศาสนกิจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการทอดกฐินประจำปี และ โครงการ ‘บีทีเอสกรุ๊ปอนุรักษ์ช้างไทย’ ให้ความช่วยเหลือในด้านจัดเวชภัณท์และยาให้กับรพ.ช้าง จ.ลำปาง และ สนุนงบประมาณการก่อสร้าง โรงพยาบาลช้างแห่งใหม่ ที่ จ.กระบี่ ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รูปแบบ Philanthropic Investments เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ แอล.พี.เอ็น. เป็นอย่างมาก เพราะบริษัทสามารถใช้ดอกผลจากการลงทุน ไปสนับสนุนบริษัทในเครือ คือ บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC) ที่มีนโยบายพัฒนาสตรีด้อยโอกาสให้เป็นพนักงานบริการชุมชน เพิ่มศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตของสตรีกลุ่มนี้ โดยเฉพาะมีแนวคิดที่จะพัฒนาบริษัทให้เป็นองค์กรเพื่อสังคม (SE)”
แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ และคณะกรรมการบริหารส่วนหนึ่ง นำโดยนายทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ได้ระดมเม็ดเงินเริ่มแรก รวมกันเป็นจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อเข้าร่วมโครงการ และพร้อมจะระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนบริษัทกิจการของบริษัท LPC ในอนาคต

ดิลลิปรัจ ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป เปิดเผยว่า ความริเริ่มในลักษณะนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย นับเป็นการส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้ขาดโอกาสและองค์กรที่ทำสาธารณประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยไมเนอร์ กรุ๊ปมีความตั้งใจที่จะนำดอกผลจากการลงทุนนี้ มอบให้แก่สังคมผ่านทางมูลนิธิต่างๆ ที่กลุ่มไมเนอร์ให้การสนับสนุนอยู่ เช่น มูลนิธิไฮเน็ค ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ส่งเสริมด้านการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนในประเทศไทย มูลนิธิ โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอลเลเฟ่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อลดปัญหาช้างเร่ร่อนบนถนนในเมืองและปัจจุบันขยายขอบเขตรวมถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์ช้าง การให้ความรู้และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับช้าง และมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล หาดไม้ขาว รวมทั้ง มูลนิธิไมเนอร์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างจัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย”
จำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มบริษัทเคเอสแอล เปิดเผยว่า “ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจมาอย่างยาวนานตลอด 70 ปี เกิดจากการที่บริษัทมุ่งมั่นดำเนินการตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ให้ความสำคัญกับสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย และการมุ่งเน้นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเข้าร่วมก่อตั้งโครงการลงทุนสุนทานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่กลุ่มบริษัท เคเอสแอลจะขยายการดำเนินบทบาทตามพันธกิจในการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียและสังคมได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
เคเอสแอล กรุ๊ป ได้สนับสนุนเงินลงทุนตั้งต้นในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 ล้านบาท โดยคาดหวังจะนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุนสุนทาน มาทำประโยชน์ในด้านสาธารณสุข ผ่านโรงพยาบาลที่กลุ่มบริษัทเคเอสแอลให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว รวมทั้งนำมาใช้ในโครงการเพื่อการศึกษาและสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
สมบุญ ฟูศรีบุญ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการลงทุนสุนทาน กล่าวว่า ธุรกิจของบริษัทนำสินประกันภัย ก็มีลักษณะเป็นกิจการที่มุ่งสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับสังคมไทยอยู่แล้ว ด้วยการให้บริการกรมธรรม์ความคุ้มครองที่สร้างหลักประกันและการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยมายาวนานกว่า 68 ปี โดยมีนโยบายเน้นให้ผู้บริหารและพนักงานมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งการสร้างเครือข่ายพันธมิตร CSR ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพลังความร่วมมือ สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทฯได้อย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงต่อสังคม ซึ่งการที่บริษัท นำสินประกันภัย เข้าร่วมก่อตั้งในกองทุนนี้ เป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท ก็มุ่งหวังว่าจะนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุนไปใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยแก่สาธารณชน โครงการพัฒนาและเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงโครงการเพื่อการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืนต่อไป
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ตอบโจทย์ให้องค์กรหนุนซีเอสอาร์ยั่งยืน
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ริเริ่มอธิบายว่า การลงทุนสุนทาน (Philanthropic Investments) เป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินมาเป็นทุนเพื่อหาดอกผลนำไปใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป จากการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ซึ่งแตกต่างจากการทำบุญสุนทาน หรือการบริจาคที่เป็นการมอบเงิน หรือทรัพย์สินนั้นให้เป็นความช่วยเหลือแก่สังคมโดยตรง
ตัวอย่างของการลงทุนสุนทานในต่างประเทศ ได้แก่ ความช่วยเหลือในรูปแบบ Program-Related Investments (PRIs) ของมูลนิธิฟอร์ด เช่น การให้สินเชื่อต้นทุนต่ำ การค้ำประกันสินเชื่อ การลงทุนในตราสารทุน ในลักษณะเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้รับความช่วยเหลือ และเพื่อจัดหาเงินลงทุนให้แก่ความริเริ่มใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยง โดยนับจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฟอร์ดได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ PRIs แล้วเป็นจำนวนกว่า 560 ล้านเหรียญ และมีการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนใหม่โดยเฉลี่ยราว 25 ล้านเหรียญต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น