xs
xsm
sm
md
lg

เชฟรอน และ สวทช. เปิดค่าย Enjoy Science: Let’s Print the World

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารจากเชฟรอน และ สวทช. และผู้เข้ารอบสุดท้ายโครงการ “Enjoy Science: Let’s Print the World’’
โครงการ “Enjoy Science: Let’s Print the World’’ เป็นกิจกรรมไฮไลต์แรกของโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
ผ่านการพัฒนาการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) หรือสะเต็ม ทั้งในสายสามัญและสายอาชีพครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยงบประมาณกว่า 900 ล้านบาท 
ล่าสุดบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดค่ายอบรมโครงการ “Enjoy Science: Let’s Print the World” แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายโครงการประกวดออกแบบผลงานจากเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติครั้งแรกของประเทศ “Enjoy Science: Let’s Print the World” ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

โครงการนี้ทำให้ผู้เข้าประกวดได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ การออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาไอเดียของตนมาผลิตเป็นชิ้นงานจริงสำหรับการตัดสินในรอบชิงชนะเลิศ โดยผู้ที่ชนะการประกวดจะได้รับตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พักเพื่อเข้าชมงาน Berlin Maker Faire เทศกาลของนักประดิษฐ์และนักสร้างสรรค์ระดับโลกที่ประเทศเยอรมนี และชุดเครื่องพิมพ์แบบสามมิติ เป็นรางวัล
ดร. ฉัตรชัย ธนาฤดี
ดร. ฉัตรชัย ธนาฤดี ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เผยถึงจุดประสงค์ของการประกวดในครั้งนี้ว่า “เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรริเริ่มโครงการ ‘Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ เพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้น และส่งเสริมให้เยาวชนและบุคคลทั่วไป เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและอยู่รอบตัวเราทุกคน จนเกิดแรงบันดาลใจและความสนใจต่อการศึกษาในด้านสะเต็มเพิ่มมากขึ้น โดยนำร่องด้วยการประกวดออกแบบผลงานที่ผลิตจากเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ‘Enjoy Science: Let’s Print the World’ เนื่องจาก เราเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
อาทิ ด้านการแพทย์ วิศวกรรม และสถาปัตยกรรม และมีศักยภาพในการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้ในอนาคต ให้สะดวกสบายขึ้นและสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ด้วยคุณลักษณะพิเศษของเทคโนโลยีนี้ที่สามารถพิมพ์วัตถุออกมาตามจินตนาการของผู้ออกแบบ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการผลิตและการขนส่ง และด้วยราคาของเครื่องพิมพ์สามมิติที่ถูกลงเรื่อยๆ ประกอบกับวัฒนธรรม Maker หรือผู้ที่ชื่นชอบในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ด้วยตัวเอง ที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างแข็งแรงทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย เทคโนโลยีนี้จึงสามารถเข้าถึงคนได้มากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในที่สุด”

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงจัดโครงการ Let’s Print the World เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่รู้จักของคนไทยเพิ่มมากขึ้น และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ว่าจะนำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาสร้างผลงานอะไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการสรรค์สร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้ นอกจากนั้น เรายังต้องการให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนว่าใครๆ ก็สามารถเป็นนักประดิษฐ์ หรือ Maker ได้ เพื่อสร้างวัฒนธรรม Maker ที่แข็งแรงให้เกิดขึ้นในประเทศไทย อันเป็นรากฐานสำคัญของความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ สอดรับกับเป้าหมายของโครงการ ‘Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพของประเทศอย่างยั่งยืนผ่านการส่งเสริมการศึกษาในสาขา สะเต็ม”
กุลประภา นาวานุเคราะห์
กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงรายละเอียดของค่ายอบรมโครงการ Enjoy Science: Let’s Print the World ว่า ”ผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 30 คน ได้มารับการอบรมและแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ การออกแบบ และการพัฒนาธุรกิจ โดยมีวิทยากรอาทิ คุณเกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ สถาปนิก มาให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบ คุณ ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ ผู้ก่อตั้ง Maker Zoo Bangkok กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการประดิษฐ์และสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยตนเอง ดร. กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส เอ็มเทค สวทช. พร้อมทั้งทีมงานจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งชำนาญการออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และเทคนิคการพิมพ์แบบสามมิติ โดยการอบรมนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถพัฒนาไอเดียของตนออกมาเป็นชิ้นงานสำหรับการตัดสินในรอบชิงชนะเลิศเท่านั้น แต่ยังสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดการเรียนรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนนำไปปรับใช้กับการศึกษาและการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสะเต็มของประเทศอย่างยั่งยืน”


บรรยากาศการอบรมค่ายโครงการ “Enjoy Science: Let’s Print the World’’
ภายหลังจากการเข้าค่าย ผู้เข้ารอบ 30 คนสุดท้าย จะสั่งพิมพ์ชิ้นงานและปรับแก้จนได้ตามต้องการและส่งมอบชิ้นงานพร้อมนำเสนอในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 แก่คณะกรรมการ ซึ่งผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พัก เพื่อเข้าร่วมงาน Maker Faire ที่ประเทศเยอรมนี เพื่อเปิดโลกทัศน์ในเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบต่างๆ จากนักประดิษฐ์และนักออกแบบระดับโลก ที่น่าสนใจและหาชมได้ยาก เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้กลับมาช่วยพัฒนางานด้านการพิมพ์แบบสามมิติ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจต่อไป และยังมีรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 680,000 บาท นอกจากนั้น ผลงานของผู้เข้ารอบทั้งหมดจะนำไปจัดแสดง ณ งาน Bangkok Mini Maker Faire ซึ่งเชฟรอนและสวทช. ร่วมกันจัดขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นของคนที่สนใจในวัฒนธรรม Maker โดยภายในงานจะจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของทั้งนักประดิษฐ์ไทย และผลงานที่เด่นๆ จากต่างประเทศ

ติดตามการแข่งขันและเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ เพิ่มเติมได้ที่
เฟซบุ๊ก Enjoy Science: Let’s Print the World (https://www.facebook.com/Chevron3D)
กำลังโหลดความคิดเห็น