สศอ.หนุน Carbon footprint - Water footprint ส่งเสริมผู้ประกอบการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มโอกาสทางการค้าและยกระดับการส่งออก ชี้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการไม่ใช่ภาษี เผยจะถูกใช้มากขึ้นในเวทีการค้าโลก
อุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตลาดส่งออกหลักของไทยไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ต่างตื่นตัวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนั้นการที่ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าใส่ใจเลือกบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังส่งผลให้ผู้ผลิตต้องพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว ประกอบกับการที่โลกค้าเสรีที่เปิดกว้างขึ้น ประเทศต่าง ๆ จึงมักใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม กดดันให้ประเทศที่มาตรฐานต่ำกว่าต้องดำเนินการ ดังนั้น สศอ.จึงได้จัดทำโครงการเพื่อสร้างโอกาส และเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการอาหารในประเทศ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการยกระดับการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารไทย ด้วยการลดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Carbon footprint) และโครงการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนด้วย Water footprint ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก
โครงการ Carbon footprint เป็นกิจกรรมช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตแก่ผู้ผลิตอุตสาหกรรมอาหาร โดยจะให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคและอบรมบุคลากร ตามแนวทางการประเมิน Carbon footprint ตลอดจนเสนอแนวทางลดค่า Carbon footprint และต้นทุนการผลิต รวมทั้งสนับสนุนการขอใช้เครื่องหมายฉลาก Carbon Label จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO
โดยวิกฤติทางด้าน Carbon footprint นับวันจะรุนแรงขึ้นทุกขณะ ในปี 2554 ที่ผ่านมา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลกปริมาณ 43,816.7343 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt CO2e) ส่วนไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 354.6534 Mt CO2e อยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก หรืออันดับ 2 ในอาเซียน การดำเนินการตามโครงการข้างต้น จึงเป็นการนำร่องเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ในการลดผลกระทบจากการผลิตต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
โดยโรงงานที่เข้าร่วมโครงการดำเนินการตามแนวทางให้คำปรึกษาสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 23,431 tonCo2e และลดต้นทุนได้ 165 ล้านบาท ประเทศที่ใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่อนุมัติ ใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์แล้ว 1,472 รายการจาก 350 บริษัท
นอกจากนี้ โครงการยังมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องดังกล่าวสู่วงกว้างผ่านคู่มือ ซึ่งจะมีการยกตัวอย่างการคำนวณและวิธีการใช้โปรแกรมเพื่อหาค่า Carbon footprint สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งนี้ สามารถ Download ข้อมูลดังกล่าวได้ทาง www.nfi.or.th/carbonfootprint/ นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาเผยแพร่ความรู้ให้บุคคลทั่วไปอีกด้วย ซึ่งจากการดำเนินโครงการ 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 60 ราย บุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารและบุคคลทั่วไปได้รับการยกระดับองค์ความรู้ 610 คน ผลิตภัณฑ์อาหารได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องหมาย Carbon footprint จาก TGO 54 ผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการที่ผ่านการเข้าร่วม
โครงการได้เล็งเห็นประโยชน์ จึงทำการขยายผลต่อไปยังผลิตภัณฑ์อื่นด้วย เช่น บริษัท แดรี่ โฮม จำกัด และบริษัท ฟาร์มโชคชัย จำกัด เป็นต้น สำหรับในปีนี้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าร่วมเพิ่มเติม 31 โรงงาน
ผศอ. กล่าวด้วยว่า นอกจากการดำเนินการเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้ว ปัจจุบันการจัดการทรัพยากรน้ำได้รับความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน เพราะความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของจำนวนประชากรและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดความขาดแคลนทรัพยากรน้ำในหลายพื้นที่ทั่วโลก ประเทศต่างๆ จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากการประกาศใช้มาตรฐาน ISO 14046 อันเป็นแนวทางการจัดทำ Water footprint แม้จะยังไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับก็ตาม
ปี 2557 มีโรงงานเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 26 โรงงาน หากโรงงานดำเนินการตามแนวทางให้คำปรึกษาจะสามารถลดการใช้น้ำได้ 1,318,608.37 ลูกบาศก์เมตร/ปี คิดเป็นร้อยละ 27.12 หรือเป็นเงินรวม 13,306,484 บาท ปี 2558 มีโรงงานเข้าร่วมโครงการนี้ 25 โรงงาน
มีการจัดทำค่าอ้างอิง Water footprint 3 สินค้า ได้แก่ 1.น้ำตาลทรายดิบ 1 กิโลกรัม มีค่า Water footprint เท่ากับ 1,223.82 ลิตรต่อกิโลกรัม 2.แป้งมันสำปะหลังดิบ 1กิโลกรัม มีค่า Water footprint เท่ากับ 1.69 ลิตรต่อกิโลกรัม 3.ข้าวโพดหวานกระป๋อง ขนาด 15 ออนซ์ มีค่า Water footprint เท่ากับ 287.36 ลิตรต่อกระป๋อง
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตระหนักถึงแนวโน้มความจำเป็นดังกล่าว จึงจัดทำโครงการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนด้วย Water footprint ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก โดยให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และอบรมบุคลากรตามแนวทางการประเมิน Water Footprint ตลอดจนเสนอแนวทางลดค่า Water Footprint และต้นทุนการผลิต รวมถึงจัดทำค่าอ้างอิงผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อเป็น Benchmark ให้ผู้ประกอบการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องดังกล่าวสู่วงกว้างผ่านเอกสารเผยแพร่ความรู้และคู่มือ ซึ่งสามารถ Download ข้อมูลดังกล่าวได้ทาง fic.nfi.or.th/waterfootprint/ รวมทั้งยังมีการสัมมนาเผยแพร่ความรู้ให้บุคคลทั่วไป จากการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการ 26 ราย บุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารและบุคคลทั่วไปได้รับการยกระดับองค์ความรู้ 490 คน และมีค่าอ้างอิง Water Footprint ในผลิตภัณฑ์น้ำตาล แป้งมันสำปะหลัง และข้าวโพดหวาน สำหรับในปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 24 โรงงาน
ผศอ.กล่าวย้ำว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรน้ำในการผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ ในการสนับสนุนให้กระบวนการด้าน Carbon footprint และ Water footprint ได้มีการนำไปใช้ในวงการอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างแท้จริง เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ที่อาจถูกกำหนดเป็นมาตรการบังคับในอนาคต ตลอดจนเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้สูงกว่าประเทศคู่แข่ง รวมถึงสร้างการยอมรับให้กับอาหารของไทย ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น Kitchen of the World ในช่วงต่อไป