xs
xsm
sm
md
lg

“สตาร์” ใช้กลยุทธ์สีเขียว พิสูจน์ผลลัพธ์เชิงธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย ว่องอรุณ
๐ เปิดแนวคิดการใส่ใจในสิ่งแวดล้อมที่แปลงสู่รูปธรรมได้อย่างง่ายๆ และเห็นผลลัพธ์ยาวนาน
๐ เริ่มจากการปลูกฝังบุคลากรภายในให้ตระหนักถึงคุณค่าของความประหยัด และนวัตกรรมที่สร้างขึ้น
๐ ส่งผลให้การพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างน่าภาคภูมิ
๐ พิสูจน์สุขภัณฑ์ “สตาร์” รุ่นนาวิต้า 2.4 ลิตร ความท้าทายของนักออกแบบเซรามิก

เมื่อใดที่เปิดก๊อกแล้วน้ำยังไหลแรงเช่นเดิม ผู้ใช้น้ำย่อมไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาโดยเฉพาะ “ไม่ใช่ผู้จ่ายค่าน้ำ” การประหยัดจึงยังเป็นเรื่องเล็กที่น้อยคนที่จะคิดถึง และแม้ว่าการรณรงค์จะมีอยู่เป็นระยะ แต่คนส่วนมากก็ไม่ได้ตระหนักเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม “สตาร์” หนึ่งในผู้ผลิตสุขภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสุขภัณฑ์ที่ใช้การประหยัดน้ำเป็นกลยุทธ์หลักมาโดยตลอด ด้วยแนวคิดการใส่ใจในสิ่งแวดล้อม
สมชัย ว่องอรุณ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สตาร์ ซานิทารีแวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวความคิดในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตสุขภัณฑ์เมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เพราะตระหนักและเห็นความสำคัญ โดยมองไปที่จุดแรกคือการลงทุน เริ่มจากการลงทุนซื้อเครื่องจักรคุณภาพดีเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน และเป็นเครื่องจักรที่ประหยัดพลังงานอย่างมากด้วยการใช้เตาเผาเซรามิกที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้นคือเตาเผาที่ใช้พลังงานไม่ถึง 1,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลแวร์ ขณะที่เตาเผาทั่วไปใช้พลังงาน 3,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลแวร์

“การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเราคิดและทำมานานมากแล้ว ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิต 1 หมื่นตันต่อปี ด้วยเตาเผาที่ใช้พลังงานน้อยมากเช่นนี้ ทำให้สามารถประหยัดได้มากกว่าเตาเผาทั่วไปถึง 2 หมื่นล้านกิโลแคลอรีต่อปี นอกจากนี้ ภายในโรงงานยังใช้แสงสว่างจากธรรมชาติด้วยการจัดวางแผ่นพลาสติกใสบนหลังคาเป็นช่วงๆ และการใช้ไฟฟ้าด้วยการเปิด-ปิดเฉพาะจุดที่ใช้งานเท่านั้น จึงทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าในโรงงานได้อย่างมาก”

อีกส่วนคือการออกแบบกระบวนการผลิตในโรงงานให้ลื่นไหลได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการวางสายพานการผลิตเป็นเส้นตรงไม่คดเคี้ยว ทำให้การผลิตสินค้าใช้เวลาสั้นกระชับ มีความปลอดภัย และไม่มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง เช่น หากออกแบบกระบวนการทำงานไว้ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้รถเข็นเพื่อนำชิ้นงานไปเข้าเตา จึงเกิดการสูญเสียพลังงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ พยายามใช้การรีไซเคิลให้มากที่สุด โดยนำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานกลับมาเข้ากระบวนการบดใหม่เพื่อแปรสภาพเป็นวัสดุอีกครั้ง เป็นการลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด และยังเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ดินเหนียว ดินขาว หินฟันม้า และทรายแก้ว ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต
ส่วนการใช้น้ำอย่างประหยัดก็เป็นอีกประเด็นที่ให้ความสำคัญ จึงนำน้ำที่ใช้ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้า (QC) กลับมาใช้ใหม่ ทำให้สามารถประหยัดน้ำได้ถึง 8.6 ล้านลิตรต่อปี และการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเป็นการตรวจทุกชิ้นหรือQC100% ไม่ใช่การสุ่มตรวจ ทำให้ต้องใช้น้ำปริมาณมาก

“เรื่องเหล่านี้ต้องคิดตั้งแต่วันแรกเพราะเป็นเรื่องโครงสร้างและการวางระบบที่ไม่สามารถจะเปลี่ยนได้ง่ายๆ และที่เราทำเอาไว้แต่แรกดีมาก ทุกอย่างยังใช้ได้เหมือนเดิม เพราะเรามองในระยะยาวว่าจะได้อะไรบ้าง แม้ว่าในวันนั้นคือกว่า 20 ปีมาแล้ว นวัตกรรมยังไม่ใช่สิ่งที่เดินคู่มากับสังคม แต่หากเราไม่วางแนวทางเอาไว้จะไม่ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าที่เรียกว่านวัตกรรม และด้วยการพัฒนาสินค้าเชิงนวัตกรรมมาตั้งแต่วันแรกๆ ทำให้บุคลากรของเราพัฒนาตนเองไปด้วย และทำให้เห็นว่าการที่เรามองเรื่องนวัตกรรมในวันนั้นทำให้เกิดผลพวงคือความสามารถในการออกแบบซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาสุขภัณฑ์รุ่นประหยัดน้ำที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาอย่างต่อเนื่อง”

“เรามีปรัชญาในการทำงานหรือการตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ว่าสินค้าเราต้องเป็นอย่างไร โดยมีองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ ดี สวย ราคาย่อมเยา และอัตถประโยชน์สูงสุด ทำให้ในบางเรื่องที่คนอื่นมองเป็นเรื่องเล็กแต่เราให้ความสำคัญ เช่น ที่วางสบู่ของอ่างล้างหน้าเราต้องออกแบบให้น้ำสามารถไหลลงไปในอ่างไม่ใช่ขังอยู่ในที่วางสบู่และทำให้ก้อนสบู่เละการสร้างกรอบความคิดของบุคลากรให้มีหลักคิดในการออกแบบเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคสูงสุด ทำให้เกิดสินค้านวัตกรรมที่สร้างความภาคภูมิใจและนำไปจดสิทธิบัตรได้ เช่น อ่างล้างหน้าที่สามารถแขวนผ้าเช็ดมือได้ในตัว ซึ่งการออกแบบเช่นนี้ไม่ใช่เพียงการออกแบบได้สวยงามแต่ต้องผลิตได้จริง”

สำหรับการพัฒนาสุขภัณฑ์รุ่นประหยัดน้ำครั้งแรกเริ่มจากการใช้น้ำชำระที่ 11 ลิตร ขณะที่สุขภัณฑ์อื่นๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ในตอนนั้นใช้น้ำที่ 12 ลิตร เป็นมาตรฐานทั่วไป จากนั้น จึงพัฒนาเหลือ 9 ลิตร สำหรับตลาดในประเทศ และ 6 ลิตร สำหรับตลาดต่างประเทศโดยส่งออกไปที่สิงคโปร์ในปี 2536 และพัฒนาต่อมาที่ 4.5 ลิตร แล้วในปี 2554 จึงเป็น 2.75 ลิตร ซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนายากเพราะใช้น้ำน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนายังเกิดขึ้นอีกเป็น 2.4 ลิตร ในปี 2556 ซึ่งแนวทางการพัฒนาเป็นการพัฒนาแบบก้าวไปก่อนผู้ประกอบการรายอื่นๆ มาโดยตลอด

ในเรื่องการพัฒนาความสามารถในการประหยัดน้ำของสุขภัณฑ์ มุ่งไปที่การพัฒนาการออกแบบสุขภัณฑ์ซึ่งเป็นส่วนของเซรามิก โดยไม่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์แท็งก์น้ำ คือการใช้อุปกรณ์แท็งก์น้ำแบบมาตรฐานที่หาซื้อได้ทั่วไป เพื่อให้ผู้บริโภคสะดวกหากอุปกรณ์เกิดชำรุดใช้งานไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการบางรายพัฒนาอุปกรณ์แท็งก์น้ำขึ้นมาโดยเฉพาะแม้ว่าจะประหยัดน้ำได้มากแต่ต้นทุนของอุปกรณ์แท็งก์น้ำสูงทำให้ราคาสุขภัณฑ์สูงตามไปด้วย และการพัฒนาอุปกรณ์แท็งก์น้ำพิเศษเฉพาะทำให้เมื่อเกิดการชำรุดจะยากในการซื้อมาเปลี่ยน

ในส่วนของผู้บริโภคพบว่า กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลางให้ความสำคัญกับสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำอย่างมาก ขณะที่ กลุ่มลูกค้ารายได้สูงไม่สนใจเรื่องการประหยัด เช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้ประกอบการโครงการที่อยู่อาศัยโดยทั่วไปเน้นสุขภัณฑ์ราคาต่ำเป็นหลักเพื่อลดต้นทุนการก่อสร้างให้ได้มากที่สุด แต่ในกลุ่มผู้ประกอบการหรือเจ้าของอพาร์ตเมนต์ซึ่งคิดค่าน้ำแบบเหมารวมให้ความสำคัญกับการประหยัดอย่างมากเพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการดูแลสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับการประหยัดน้ำจะได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อผู้ใช้ต้องจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียเองน้ำ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เกิดลักษณะนี้เพราะภาระการบำบัดน้ำเสียยังอยู่ที่หน่วยงานท้องถิ่นคือกรุงเทพมหานครหรือเทศบาลต่างๆ

สำหรับการตอบรับสุขภัณฑ์รุ่นประหยัดน้ำ 2.4 ลิตร จากการวางตลาดมากว่า 1 ปี พบว่าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการกระตุ้นผู้บริโภคด้วยข้อมูลที่เร้าใจคือ “จ่าย 2,900 บาท คืน 35,000 บาท” ทำให้ผู้บริโภคเกิดจุดสนใจ และเปิดโอกาสให้พนักงานขายได้อธิบาย ซึ่งในการวางตลาดปีแรกคือ 2557 มียอดขายประมาณ 5,000 ชุด และคาดว่าปี 2558 จะมียอดขายประมาณ 8,000 ชุด

อย่างไรก็ตาม นอกจากการจดสิทธิบัตรซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงคุณภาพสินค้า และเพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้หันมาสนใจมากขึ้น จึงวางกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาด นอกจากการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก เช่น นิตยสารเกี่ยวกับบ้านและการอยู่อาศัย เพื่อเข้าถึงกลุ่มสถาปนิก ยังมีการใช้สื่อ ณ จุดขาย และทำคลิปวิดีโอลงในยูทูปเพื่อสาธิตเป็นการทดสอบให้เห็นประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน สำหรับตลาดต่างประเทศ ตั้งเป้าพัฒนาสุขภัณฑ์รุ่น 2.5 ลิตรในระบบท่อน้ำทิ้งออกกำแพง (P-trap) เพื่อจะส่งออกตลาดประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ใช้ระบบน้ำทิ้งลงพื้น (S-trap)

นอกเหนือจากการพัฒนาการออกแบบสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำที่ยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อผ่านความท้าทายบทใหม่ การประหยัดพลังงานยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายด้วยเป้าหมายที่จะนำพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น มาใช้ในกระบวนการผลิตให้ได้ในอนาคต





พิสูจน์ฝีมือการออกแบบ
สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำที่สุดในโลก

ในการพัฒนาการใช้น้ำในการกดชำระน้อยลง เพื่อช่วยรณรงค์ให้ประหยัดน้ำมากขึ้น ล่าสุดสุขภัณฑ์ของสตาร์สามารถใช้น้ำเพียง 2.4 ลิตรเท่านั้นในระบบปุ่มเดียว (Single Flush) ซึ่งเป็นรุ่นที่ประหยัดน้ำที่สุดในโลก โดยมีการจดอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะปัจจุบันวิธีการประหยัดน้ำโดยทั่วไปคือการมี 2 ปุ่มให้เลือกตามการใช้งาน (Dual Flush) โดยปุ่มเล็กใช้น้ำประมาณ 3 ลิตร และปุ่มใหญ่ใช้น้ำ 4.5- 6 ลิตร

เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพการใช้งานได้อย่างชัดเจน จึงมีการสาธิตโดยพนักงานขายอธิบายให้กับผู้บริโภค ณ จุดขาย ยังมีวิดีโอสาธิตภาพการทดสอบแบบต่างๆ ตามมาตรฐานของประเทศต่างๆ เช่น การใส่ลูกบอลแทนของเสียซึ่งตามมาตรฐานมีขนาด 38 มิลลิเมตร แต่ในการทดสอบรุ่นนี้ใช้ขนาด 43 มิลลิเมตร ซึ่งใหญ่กว่ามาตรฐาน, การใช้ poly ball โดยมาตรฐานคือ 85 ลูก แต่ในการทดสอบใช้ 100 ลูก, ฟองน้ำ 15 ชิ้นและฝาขวด 40 ฝา

นอกจากการประหยัดน้ำแล้ว ยังช่วยประหยัดไฟเนื่องจากปั๊มน้ำทำงานน้อยลงและเป็นการยืดอายุการใช้งานของปั๊ม รวมทั้งค่าซ่อมบำรุง เมื่อคิดคำนวณความประหยัดจากการใช้สุขภัณฑ์โนวีต้า รุ่น 2.4 ลิตร เปรียบเทียบกับรุ่นมาตรฐาน 12 ลิตร เมื่อคิดจากค่าเฉลี่ยการใช้สุขภัณฑ์ของแต่ละคนยาวนานถึง 20 ปี จะทำให้ช่วยประหยัดเงินได้ถึง 3.5 หมื่นบาท ในช่วงเวลา 10 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น