เบื้องหลังอิฐมอญสีแดงมีลวดลายดินขาวฝังแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน คือส่วนผสมระหว่างภูมิปัญญาล้านนาดั้งเดิมเติมนวัตกรรม สร้างมิติใหม่ เปลี่ยนจากประโยชน์หลักงานก่อสร้างสู่อุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสวน ขายได้ราคาสูงขึ้น ที่สำคัญช่วยให้เอสเอ็มอีแบรนด์ “อิฐภราดร”สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในโลกการค้ายุคปัจจุบัน
“อิฐภราดร” เป็นธุรกิจของลูกหลานชาวเชียงใหม่ โดยสามพี่น้องนามสกุล “เชิดชูตระกูลทอง” ได้แก่ วิเชียร นงนุช และวิชิต ที่ร่วมแรงร่วมใจสืบทอดอาชีพของบิดาทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติ
“คุณพ่อเริ่มทำอาชีพนี้ตั้งแต่ 33 ปีที่แล้ว จากรับจ้างบรรทุกอิฐมอญจากแหล่งผลิตในท้องถิ่นไปขายตามที่ต่างๆ จนเห็นโอกาสในธุรกิจนี้ จากนั้นลงทุนประมาณ 3 หมื่นบาทซื้อเครื่องจักรมาผลิตอิฐและทำตลาดเอง” นงนุช เชิดชูตระกูลทอง ทายาทคนกลางเป็นตัวแทนเล่า
ช่วงนั้นนับเป็นเวลาทองเพราะกิจการเติบใหญ่ต่อเนื่อง รวมถึงทายาททั้งสามเข้ามาช่วยต่อยอด ทำให้ก้าวจากโรงงานเล็กขยายเป็นโรงงานขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของเชียงใหม่
แต่แล้วกิจการที่กำลังเฟื่องฟูสุดๆ กลับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2540 สินค้าขายแทบไม่ได้ ลูกหนี้หนีหาย ต้นทุนพุ่ง ขณะที่หนี้สินพอกพูนขึ้นทุกวัน นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ต้องปรับตัว เพื่อประคองให้อาชีพที่พ่อทิ้งไว้ให้เป็นมรดกไม่ต้องล่มสลายลงไป
“เราตัดสินใจลดขนาดโรงงานลง กลับมาทำเล็กๆ เริ่มต้นกันใหม่ โดยหันมาดูว่าจะหาทางพัฒนาอิฐได้อย่างไรบ้าง เพราะถ้าทำแบบเดิมต้นทุนสูง คู่แข่งมาก ไม่มีทางรอดแน่ๆ เราเลยหันมาบุกเบิกนวัตกรรมอิฐ ใช้วัตถุดิบน้อยลง แต่ขายได้มูลค่าสูงขึ้น เปลี่ยนจากแค่อิฐฉาบธรรมดาๆ มาทำเป็นอิฐตกแต่ง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน อย่าง บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เอสเอ็มอีแบงก์ (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) และ สวทช. (สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ทั้งเงินทุน ตลาด และเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์” นงนุชระบุ
เมื่อปรับแนวคิดดังกล่าว อิฐภราดรมุ่งมั่นนำภูมิปัญญาการทำอิฐมอญแดงที่ชาวบ้านสืบทอดมายาวนานแล้ว มาเสริมด้วยนวัตกรรมและดีไซน์ เพื่อให้ได้ชิ้นงานแปลกใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีผลงานชิ้นเอก คือ “อิฐผสมดินสองสี” จุดเด่นเป็นอิฐแดงฝังด้วยลวดลายดินขาวในก้อนเดียวกัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเองเป็นรายแรกในประเทศ นอกจากนั้นยังมีนวัตกรรมอิฐอื่นๆ เช่น อิฐผนังลายล้านนา และกระเบื้องเซรามิกแนวธรรมชาติ เป็นต้น ทุกชิ้นสื่อวัฒนธรรมแบบล้านนาภาคเหนือไว้เสมอ
ภายใต้คำขวัญว่า “บ้านและสวนในฝันของคุณเป็นอย่างไร ให้เราเติมเต็มความฝันให้เป็นจริง เพื่อเติมเต็มคุณค่าแห่งวัสดุธรรมชาติ อิฐและดินเผาล้านนาภาคเหนือ”
นงนุชเผยด้วยว่า ปัจจุบันอิฐภราดรไม่ได้ผลิตเอง แต่ใช้วิธีถ่ายทอดความรู้และดีไซน์ให้แก่ชาวบ้านในเชียงใหม่และลำปาง แล้วรับซื้อสินค้าดังกล่าวมาขายต่อ ทุกชิ้นเป็นงานทำมือ 100% มีสินค้านับหลายพันรายการ แต่ละเดือนต้องใช้ทุนหมุนเวียนในการสต๊อกสินค้ากว่า 2-3 ล้านบาท
ด้านช่องทางตลาด มีทั้งส่งและปลีก ผ่านโชว์รูมที่เชียงใหม่ ยอดขายประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี มาจากกลุ่มสินค้าอิฐดีไซน์ประมาณ 70% ที่เหลือเป็นกลุ่มอิฐฉาบธรรมดา ซึ่งทำควบคู่มาต่อเนื่อง กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ ร้านสปา รีสอร์ต บูติกโฮเต็ล ร้านกาแฟ รวมถึงลูกค้าผู้รักการแต่งบ้านและสวน ภายใน จ.เชียงใหม่ นอกจากนั้น ยังส่งออกไปต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย และกลุ่ม CLMV เป็นต้น
เธอยอมรับว่า หากเทียบเรื่องรายได้ในปัจจุบัน กับช่วงที่ธุรกิจเคยรุ่งเรืองก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งยังห่างกันมาก อย่างไรก็ตาม แนวทางหันมาเพิ่มค่าให้อิฐถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นคงยากจะประคองให้ธุรกิจอยู่มาได้จนถึงวันนี้ ส่วนแผนธุรกิจในอนาคต พยายามลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบและขนส่ง ควบคู่กับพัฒนาสินค้าให้หลากหลาย ทั้งนวัตกรรมและดีไซน์ และที่สำคัญ ต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและจดจำของคนทั่วไป หากต้องการอิฐสไตล์ล้านนาให้คิดถึง “อิฐภราดร”
โทร. 0-5327-3736, 0-5327-1577, 08-1882-4670 หรือ www.paradorn.co.th
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *