สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ชี้องค์กรขนาดใหญ่จะเป็นตัวนำให้ขับเคลื่อนได้เร็ว เตือนธุรกิจเอสเอ็มอี ต้องรู้เท่าทันและปรับตัว วช.เผยปัจจุบันมีความพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ ขณะธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง กลุ่มปตท. ย้ำเดินหน้าหนุนพันธมิตรร่วมขบวนจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวให้มากที่สุด
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนในการจัดซื้อสินค้าหรือบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง คือ สินค้า หรือบริการเหล่านั้นมีการใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ไม่เบียดเบียนทรัพยากรเกินเหตุ ขณะเดียวกันในกระบวนการผลิตเองจะต้องมีการปรับอะไรบ้าง เช่นเรื่องของการขนส่งวัตถุดิบ นอกจากกระบวนการผลิตที่ดีแล้ว การออกแบบสินค้าก็มีความสำคัญมาก ต้องปลอดภัยต่อสุขภาพ หีบห่อควรง่ายต่อการจัดการและกำจัด ไม่ก่อภาระ ไม่มีโลหะหนัก เป็นต้น ทั้งหมดเป็นการมองในระยะยาวว่า ถ้าเราผลักดันสินค้าและบริการให้ไปในแนวทางสีเขียวได้ ในอนาคตปัญหาสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟื่อย หรือมลพิษที่จะเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล
“ในภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างกลุ่มปตท. บางจากฯ เอสซีจี ไม่น่าห่วง เนื่องจากมีแนวปฏิบัติของกิจการที่มุ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน แต่ที่น่าห่วงคือ ธุรกิจขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี”
ถ้าเขาไม่รีบปรับตัวแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ต่อไปก็อาจจะปรับตัวไม่ทันจนต้องสูญเสียพันธมิตรธุรกิจที่เป็นองค์กรใหญ่ เนื่องจากกฎเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวที่เข้มข้นนั้นรวมถึงห่วงโซ่ที่เป็นพันธมิตรธุรกิจด้วย และกรอบทางการค้าส่งออกนั้นก็มีแนวโน้มมุ่งใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ดร.ขวัญฤดี เชื่อว่าธุรกิจขนาดใหญ่จะเป็นกลไกที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กปรับตัวสู่กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เกี่ยวกับการขับเคลื่อนแนวทางสีเขียวนั้นบ้านเราทำกันมานานพอสมควร มีทั้งฉลากเขียว และฉลากลดคาร์บอน ซึ่งเป็นฉลากรับรองจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ส่วนฉลากไฟเบอร์ 5 จาก กฟผ. ทั้งหมดทำให้ผู้บริโภคตระหนักต่อการเลือกซื้อมากขึ้นเป็นลำดับ
ปัจจุบัน ประเทศไทยถือว่ามีสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทนพลังงานหลักจากฟอสซิล ในอนาคตหวังว่า ไม่ใช่แค่ภาครัฐที่จะเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม สินค้าสีเขียว ภาคเอกชนที่สนใจควรมาจับมือกัน วช.เป็นตัวกลางในการสร้างฐานการค้าให้ขยายตัวมากขึ้น
ด้านความพร้อมในกระบวนสร้างสรรค์สินค้าสีเขียว ยศวดี อึ้งวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญระบบวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า สินค้าสีเขียว หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาวิจัย เนื่องจากจะต้องมีการพิสูจน์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาด เช่น สีกันความร้อน กระดาษทิชชู่ ต้องมีขั้นตอนพัฒนาและวิจัย ว่าเป็นสี หรือกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วช. และเครือข่ายที่ทำงานวิจัยได้ร่วมกันสนับสนุนและวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกระบวนการเราจะดูตั้งแต่เรื่องการคิดผลิตภัณฑ์ การออกแบบ ไปจนกระทั่งการคัดสรร กระบวนการผลิต อายุการใช้งาน สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา
ปัจจุบัน ในเรื่องของทุนวิจัย ทางวช.เรามีทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับนักวิจัยจะมีทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันของภาครัฐและเอกชน ซึ่งเราจะสนับสนุนให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนมากขึ้นด้วย
“การเอางานวิจัยมาทำการผลิต ลดความเสี่ยงมากกว่าการไปทดลองกันเอง เราสนับสนุนการวิจัยให้ทุนวิจัยกับภาคเอกชน ขณะนี้ภาคเอกชนหันมาสนใจการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ในปี 2016 คาดว่าจะมีนักลงทุนในเอกชนเพิ่มขึ้นถึง 10% ผลักดันและขยายฐานสนับสนุนการทำงานวิจัยที่เป็นต้นแบบไปพัฒนาต่อยอด"
ขณะเดียวกัน ปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคลและศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ว่า ความจริงกลุ่มปตท.ทำธุรกิจพลังงานซึ่งมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งในอดีตบ้านเราใช้ทรัพยากรกันมาก และเป็นการใช้ง่าย ไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่ทุกวันนี้โลกที่จะเดินไปข้างหน้าและอยู่ร่วมกับสังคมยั่งยืนเปลี่ยนไป
แนวทางให้กลุ่ม ปตท.ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ จึงเป็นทิศทางที่เราเข้าไปทำเพื่อให้ทั้งตัวเราและสังคมได้ประโยชน์ จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยมองข้ามไป ก็หันมาใส่ใจมากขึ้น เช่นเดียวกันกับในกระบวนการจัดซื้อจัดหาที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นๆ นโยบายจัดซื้อจัดหาจึงต้องกำหนดให้ต้องซื้ออุปกรณ์ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แม้กระทั้งผู้รับเหมาที่เข้ามาทำงานให้ เราก็ต้องควบคุมในเรื่องของการก่อมลพิษ หรือวิธีการเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด
กลุ่ม ปตท. เริ่มต้นจากทีมงานของเราเองจากเรื่องง่ายๆ ก่อน เพราะนโยบายเหล่านี้ก็อาจสร้างความรำคาญในกลุ่ม ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี เริ่มจากสิ่งที่ง่ายในการจัดซื้อจัดหา เช่น เครื่องปริ้นเตอร์ที่ใช้ภายใน ถ้าเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ทุกคนเห็นชอบก็จะเริ่มเห็นประโยชน์ และเกิดความร่วมมือมากขึ้นในเรื่องนี้ ในปีที่แล้ว เราสามารถที่จะลดในเรื่องของ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ถึง 13,000 ตันต่อปี ถ้าเป็นประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซิน ได้ประมาณ 7 ล้านลิตรต่อปี และประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณ 180 เมกะวัตต์ต่อปี
"ในอนาคต ปตท.จะทำต่อไปมากขึ้น ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่าอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ ประมาณ 18,000ตัน - 25,000ตัน ต่อปี ลดกำลังไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ ใน 5 ปีข้างหน้า ถ้าเราทำเพิ่มร้อยละ 5 ก็จะลดการใช้ไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ ถ้ากลุ่มปตท.ทำแบบนี้ต่อไป สังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะขับเคลื่อนสู่แนวทางสีเขียวได้ดี"