สมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในห้อข้อ “ความคาดหวังของภาครัฐต่อภาคธุรกิจเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่อย่างยั่งยืน” ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) คือการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการของคนในปัจจุบันโดยไม่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังในการเข้าถึงความต้องการของคนเหล่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและบริหารประเทศ ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ให้บริการ ภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ต้องร่วมมือกัน
“ในอดีตตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจที่สำคัญมีอยู่ 4 อย่าง คือ ต้นทุนการผลิต คุณภาพสินค้า การบริการ และความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า แต่วันนี้ธุรกิจจะไม่สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าขาดตัวชี้วัดอีก 2 ตัวที่สำคัญ คือ นวัตกรรม (Innovation) และความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ซึ่งเหตุผลที่นวัตกรรมมีความสำคัญ เพราะมีสินค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา มีความพยายามพัฒนาและสร้างความแตกต่างเพื่อให้แข่งขันได้
โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการเป็นธุรกิจสีเขียว (Green Business) คือ 1) ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการปรับปรุงการผลิต ใช้หลัก3R (Reuse-reduce-Recycle) การออกแบบใช้ทรัพยากรที่น้อยลง หากเป็นภาคการผลิตควรตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco-Industry)ที่กำหนดเป็นพื้นที่เฉพาะ 2) การประกอบกิจการต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม หรือชุมชนโดยรอบ และ 3) การสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน
สิ่งที่ท้าทายในวันนี้ก็คือ การทำให้อัตราการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติแยกออกจากอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งโดยหลักการ 3R และเทคโนโลยีสะอาดจะมีส่วนช่วยให้ลดการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติลง เชื่อว่าผู้บริโภคจะช่วยสนับสนุนสินค้าและบริการเหล่านี้ด้วย หากราคาไม่แตกต่างมากจนเกินไป”
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่ากระทรวงอุตสาหกรรม นำแนวคิดเกี่ยวกับ “การพัฒนาเชิงนิเวศ”และ “อุตสาหกรรมสีเขียว” มาผนวกไว้ด้วยกัน เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัญหาของอุตสาหกรรมจะลดลงหากมีการตั้งโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม
โดยกระทรวงฯ มีแผนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในจังหวัดที่มีโรงงานหนาแน่นรวม 15 จังหวัด ซึ่งมากกว่ามติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดไว้เมื่อ 31 มี.ค.56 ที่ให้ดำเนินการใน 11 จังหวัด คือ จังหวัดระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สระบุรี ของแก่น และจังหวัดสงขลา สำหรับจังหวัดที่ดำเนินการเพิ่มเติม 4 จังหวัด คือ นครปฐม นครราชสีมา ราชบุรี และจังหวัด สุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมนิเวศสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาล มี 5 แห่ง คือ สงขลา สระแก้ว มุกดาหาร ตาก ตราด เพื่อประเมินศักยภาพของพื้นที่ และเสริมสร้างกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่ออุตสาหกรรม เป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นกับชาวบ้าน
โดยในส่วนของอุตสาหกรรมสีเขียวในปี 2558 มีตัวชี้วัดคือจำนวนสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการสะสมรวมเป็น 20,000 ราย เฉพาะปีงบประมาณ 2558 เพิ่มอีก 5,000 ราย ในด้านความยั่งยืน กระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรฐาน มอก.9999 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมขึ้นเมื่อปี 2556 ที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากสามารถรับมือกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างดีแล้ว ยังตอบโจทย์การทำธุรกิจคือ เติบโตสมดุล ยั่งยืน และมีความสุข ปัจจุบันมีภาคธุรกิจนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง