บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย เดินหน้าส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ร่วมกับสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และมูลนิธิโลกสีเขียว รวมเป็น 4 ภาคี ขับเคลื่อนพลังเครือข่ายเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติก “คิดถุ๊ง คิดถุง ซีซั่น 4” กับแคมเปญคิดถุงวิทยา ตั้งเป้าขยายเครือข่ายไปทั่วทุกภาคของประเทศ พร้อมสร้างสื่อสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลคอนเทนต์
สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ. ซีพี ออลล์ กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ในรายงานวิกฤติโลกร้อน : พฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของคนไทย โดยสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในกลุ่ม ซีพี ออลล์ พบว่า กลุ่มสำรวจส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 91.4 มีความกังวลถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทั้งยังมองว่าถุงพลาสติกเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และกว่าร้อยละ 84.6 เห็นด้วยกับรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก โดยเฉพาะให้แต่ละหน่วยงานร่วมมือกันสร้างการรับรู้ถึงโทษของการใช้ถุงพลาสติก และประโยชน์ของการลดใช้ถุงพลาสติก ซีพี ออลล์ จึงได้ตระหนักในความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และก้าวเป็นผู้นำด้านการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน
โดย ซีพี ออลล์ มีนโยบายหลักคือการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ผ่านโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติก “คิดถุ๊ง คิดถุง” โดยในปีนี้มีแคมเปญ คิดถุงวิทยา ซึ่งได้จับมือกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม , มูลนิธิโลกสีเขียวและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เดินหน้าสร้างแกนนำเยาวชน “ลด ละ เลิก” ใช้ถุงพลาสติกระดับมัธยมศึกษา ในแต่ละพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , ภาคกลาง และภาคใต้ เป็นต้น พร้อมตั้งเป้าสร้างเครือข่ายเยาวชนกว่า 20,000 คน
“นอกจากนี้เล็งเห็นว่าสื่อการเรียนรู้เยาวชนยุคนี้ต้องสร้างสรรค์เนื้อหาด้วยรูปแบบภาพและเสียงที่เข้าใจง่าย บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นดิจิตอลคอนเทนต์ เป็นหลักเพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่เป็นแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ เพราะจะช่วยสามารถเข้าถึงเยาวชนและน้อง ๆ จะศึกษาเรียนรู้วิธีการลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างถูกวิธีด้วยภาพการ์ตูนที่มองแล้วเข้าใจง่าย บวกกับความคิดสร้างสรรค์ที่แฝงสาระและความสนุกสนานจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “คิดก่อนใช้” หรือ “ปฏิเสธการรับถุงพลาสติก” ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ติดขัดกับข้อจำกัดเรื่องของเวลาและสถานที่ โดยจะมีโจทย์ประกวดไอเดียลดใช้ถุงพลาสติกให้กับน้อง ๆ เยาวชนถึงโรงเรียน และเยาวชนสามารถออกแบบส่งผลงานเข้าประกวดในรูปแบบอินโฟว์กราฟฟิค” สุวิทย์กล่าว
สำหรับการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกทั้งภายในและภายนอกร้านเซเว่น อีเลฟเว่น อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ “ถุงพลาสติกเหลือใช้ในสำนักงาน” , “โครงการถุงพลาสติกเหลือใช้ในวัด” , “รณรงค์ให้พนักงานถามลูกค้ารับถุงพลาสติกไหม
ครับ / คะ” ซึ่งปัจจุบันมีลดใช้ถุงพลาสติกกว่า 1 ล้านใบ พบว่าสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5 ล้านกิโลกรัม/ปี ในขณะที่ในปีที่ผ่านมานำร่องสร้างเครือข่ายรณรงค์เยาวชนได้กว่า 20 โรงเรียน มีเยาวชนเข้าร่วมกับโครงการแล้วกว่า 16,890 คน ที่สำคัญยังมีแกนนำเยาวชนไทยกว่า 250 คน พร้อมเดินหน้าจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายเยาวชนไทย โครงการคิดถุ๊ง คิดถุง ซีซั่น 4 จึงเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องตามนโยบายของบริษัท ที่จะมุ่งสร้างจิตสำนึกเยาวชนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด
ดร. พิธาน พื้นทอง ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้บูรณาการการเรียนรู้ของเยาวชนไปพร้อม ๆ กับ
ปฏิรูปการศึกษาในปี 2558 เน้นสร้างคุณภาพการศึกษากับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับพัฒนาการเรียนรู้ ของเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมหาศาลเข้ามาหาเยาวชนทุกวัน ต้องพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของคน การขับเคลื่อนสร้างเยาวชนให้มีความใฝ่รู้ อยากเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถคิดวิเคราะห์ได้อยู่สม่ำเสมอ และมีทักษะการเรียนรู้ (learning skill) มีทักษะการใช้ชีวิตที่ดีด้วย (Life skill) และมีทักษะสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation Skills) กิจกรรมรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกจึงเป็นกิจกรรมที่มุ่งกระบวนการเรียนรู้เพื่อเรียน (Learning how to learn) ในความเป็นพลเมืองดี มีวินัย มีคุณธรรม ศีลธรรม และมีทักษะการเรียนรู้
โดยทาง สำนักพัฒนานวัตกรรมฯ และสพฐ. ยินดีให้ความร่วมมือ หนุนเสริม ต่อเนื่อง ในการดำเนินงานดังกล่าวให้ลุล่วงในพื้นที่นำร่อง ทั้ง 4 ภาค และยินดีช่วยกันขยายผลความสำเร็จที่เป็นประโยชน์ต่อการปลูกฝังทักษะที่ให้เยาวชน ทั้งทักษะชีวิตและการทำงานเป็นทีม ความริเริ่มสร้างสรรค์ ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของ สพฐ.
บรรพต อมราภิบาล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ประชาชนในชาติดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มี ประกอบกับวิกฤตปัญหาขยะที่เกิดขึ้นและต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปนั้น หากพิจารณาอย่างถ่องแท้จะเห็นว่าต้นเหตุแห่งปัญหา คือ “คน” ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในการจัดการขยะที่ยั่งยืน คือ การสร้างวินัยให้กับคนในชาติ โดยบูรณาการการสื่อสาร เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก ในการรักษาความสะอาดของของบ้านเมืองและการจัดการขยะครบวงจร เริ่มตั้งแต่การทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการผลักดันให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยได้จัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน และหนุนเสริมการดำเนินงานซึ่งกันและกัน โดยได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยทำโครงการ “เมืองสะอาด คนในชาติมีสุข” เพื่อร่วมสร้างวินัยให้กับคนในชาติในการรักษาความสะอาดของบ้านเมืองตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและความตระหนักในการรักษาความสะอาดของบ้านเมือง
และการจัดการขยะ โดยเฉพาะ “เด็กไทย” หรือเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า การปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนนี้ จะเป็นคุณธรรมที่ติดตัวพวกเขาไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่และผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ก็จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และความรักษ์ให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป
ซึ่งการที่เยาวชนรวมพลังกันเพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ สร้างค่านิยมใหม่ในเรื่องของการรู้จักคิด รู้จักใช้ เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ลดปริมาณขยะ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม และแสดงให้เห็นว่าการทำความดีเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง น่าภาคภูมิใจ จะเป็นการนำไปสู่การยึดถือเป็นแบบอย่างและจะกระตุ้นให้เกิดการดำเนินกิจกรรมและสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป