xs
xsm
sm
md
lg

ปลุก “เมืองไทยสีเขียว” หนุนแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ทันสมัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ราชบัณฑิต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “Thailand Green Label Award” และรางวัลวิจัยดีเด่นกองทุนสุขภาพกับสภาวะโลกร้อน โดยมี 19 บริษัทที่ได้การรับรอง
หลายมุมมองจากการสัมมนา “ปฏิรูปเมือง บนเส้นทางการปฏิรูปประเทศและการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” โดยสถาบันสิ่งแวดล้อม ต่างสนับสนุนไทยเร่งเตรียมพร้อมรักษาสิ่งแวดล้อม และพื้นที่สีเขียว ด้วยการแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของสังคมเมือง ยกแบบอย่างเมืองในอนาคต “โคเปนเฮเกน” เป็นเมืองที่น่าอยู่ของโลกในปัจจุบัน
สืบเนื่องจากการเติบโตและการขยายตัวของเมืองในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร พฤติกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการใช้พลังงาน รวมไปถึงการใช้พื้นที่อย่างไม่เหมาะสม และเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ
โดยเฉพาะอีกไม่นานนี้จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการใช้เทคโนโลยีรักษาสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันด้านสื่อมวลชนก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยเกินไป
โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ชื่อว่าเป็นเมืองน่าอยู่แห่งหนึ่งของโลก
ไมเคิล เหมนิธิ วินเทอร์ เอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย กล่าวถึงเมืองในอนาคตในแบบที่เราต้องการ โดยการยกตัวอย่างเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่อีกแห่งหนึ่งของโลก โดยทางเดนมาร์กได้ดำเนินการหลายมาตรการเพื่อให้เมืองนี้น่าอยู่และมีการรักษาสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เช่น การรักษาแม่น้ำให้อยู่ในมาตรฐาน การรักษาความสะอาด การรณรงค์ให้ประชาชนรักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการสร้างกังหันลมขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นแหล่งพลังงานธรรมชาติ พร้อมกับมีการตั้งเป้าให้เมืองโคเปนเฮเกนปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2025
ขณะเดียวกันในเรื่องมลพิษทางอากาศได้มีการควบคุมรถยนต์ และพาหนะต่างๆ ที่เข้ามาในตัวเมือง และยังมีการสนับสนุนในเรื่องการเพิ่มทางด่วนของจักรยานจากชานเมืองเข้ามาในตัวเมืองด้วย
ด้าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า กฎหมายในเรื่องสิ่งแวดล้อมไทยจะต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น เนื่องจากยังเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย และไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมไปถึงยังไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ก่อมลพิษต่างๆ
จุดอ่อนของประเทศไทยที่เห็นได้ชัด ก็คือเรื่องการบริหารจัดการ เราจะต้องใส่ใจในเรื่องของการบริหารการจัดการให้มากขึ้น เนื่องจากยังพบว่ามีปัญหาน้ำเน่าเสีย และผู้ก่อมลพิษแต่ยังไม่มีการเก็บภาษีที่เหมาะสม ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังมีการแบ่งส่วนในการทำงานที่ชัดเจนเกินไป
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ราชบัณฑิต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าการเติบโตและขยายตัวของเมืองส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร พฤติกรรมการเป็นอยู่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การใช้พลังงาน และภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุสำคัญจากการใช้พื้นที่อย่างไม่เหมาะสม การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติซึ่งขัดกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้น้อมนำมาเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ข้อมูลจากข้อเสนอในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ยิ่งในการปรับเปลี่ยนทิศทางและรูปแบบการพัฒนาเมือง ในช่วงการปฏิรูปประเทศและการเตรียมจัดทำแผนพัฒนาฉบับต่อไป
ขณะที่ ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ความพร้อมของประเทศไทยทางด้านการศึกษา และภาคเอกชนที่มีความแข็งแรงจะเป็นจุดยืนที่สำคัญที่ทำให้ไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้น ส่วนอีกหลายๆ เรื่องที่ควรตระหนัก เช่น การใช้สื่อต่างๆ ควรจะต้องใช้ในการเพิ่มระดับการศึกษาให้กับประชาชน ภาษา และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ยังเป็นจุดอ่อนที่ทำให้คนไทยสู้ประเทศอื่นในประชาคมอาเซียนไม่ได้
สำหรับสถานการณ์โดยรวมในเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่เป็นเรื่องสำคัญ ดร.ขวัญฤดี กล่าวว่า ในปี 2557 พบว่าจาก 20 เรื่อง มีเพียงแค่ 2 เรื่องเท่านั้นที่สามารถทำได้ดี คือ การรักษาป่าชายเลนให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ทั้งนี้ ปัญหาในประเทศอาเซียนและเอเชีย ที่พบแบบเดียวกัน คือ เรื่องของธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งภูมิภาคนี้ยังคงมีธรรมาภิบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอ
ด้าน พัชระ สารพิมพา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักข่าวสปริงนิวส์ กล่าวถึงเรื่องสื่อมวลชนที่มีความเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากจากในอดีต โดยปัจจุบัน มีการเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งยังมีประชาชนที่สามารถเป็นสื่อมวลชนไปในตัวได้ทุกคน เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สื่อออนไลน์เป็นสื่อสำคัญที่อาจจะนำมาใช้เป็นประเด็นข่าวได้
ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แม้ว่าประชาชนมีความเข้าใจและให้ความสนใจมากขึ้น แต่ยังขาดผู้ให้ความรู้ ทำให้ขาดกลไกหลักขับเคลื่อน ส่วนในวงการสื่อมวลชนนั้นยังมีไม่มากที่จะสนใจทำข่าวด้านสิ่งแวดล้อม และสื่อเองก็ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

สถาบันสิ่งแวดล้อมฯ เสนอ 4 ประเด็นในการพัฒนาเมืองใหญ่เป็นเมืองสีเขียว
-สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อเมือง การพัฒนาเมืองที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
-เมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งความเปราะบาง ผลกระทบ และการรับมือ
-กลไกการการกระจายรายได้เพื่อสิ่งแวดล้อมเมือง ทางเลือกในการตัดสินใจเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมของเมือง ซึ่งมีความหลากหลายและอาจมีความเฉพาะในแต่ละเมืองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
-สื่อและธรรมาภิบาลการจัดการเมือง การเข้าถึงข้อมูลที่รอบด้านอย่างครบถ้วน การมีส่วนร่วมและการพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น