ภายใต้หลักการสังคมคาร์บอนต่ำ กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งต่อไปจะพัฒนาเป็นต้นแบบการดำเนินงานขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในมิติของการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานไฟฟ้า และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากรในแต่ละองค์กร เรียกว่า สังคมคาร์บอนต่ำ
จุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าการดำเนินโครงการ “กรุงเทพฯ สู่เมืองคาร์บอนต่ำ” กทม. ใช้ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ 4 ด้าน คือ ปลูก (เพิ่มพื้นที่สีเขียว) ปล่อย (เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการของเสีย) ปิด (ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด) และปรับ (เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างยั่งยืน) เพื่อผลักดันให้กรุงเทพมหานครก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
เริ่มจากการเผยแพร่แนวทางในการลดปริมาณคาร์บอนผ่านองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกรุงเทพมหานครให้มีทักษะ ความชำนาญ สามารถเป็นต้นแบบที่ดีในการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป โดยจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านการจัดการและอนุรักษ์พลังงาน การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในองค์กร จัดการอบรมหลักสูตรสำนักงานสีเขียวให้แก่บุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานครและอาคารสำนักงานของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งการจัดกิจกรรมค่ายโรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก (Smart Energy Camp) ให้กับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนการประกวด Bangkok Low Carbon Hero สำหรับองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ โดยผู้ที่ชนะการประกวดจะได้รับโล่จากกรุงเทพมหานครในงานมหกรรมกรุงเทพฯ สู่เมืองคาร์บอนต่ำ
ในส่วนอาคารในสังกัดของกรุงเทพมหานครจะมีการศึกษาสำรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้นและความคุ้มค่าในการปรับปรุงอาคารต้นแบบของกรุงเทพมหานครจำนวน 35 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงเรียน เพื่อกำหนดมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน นอกจากนี้โครงการฯ จะมีการเผยแพร่ความรู้แนวทางการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และผลการดำเนินโครงการผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เช่น รายการโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซด์ และโซเซียลมีเดีย เป็นต้น เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามยุทธศาสตร์สำคัญ ปลูก ปล่อย ปิด และปรับ ในการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำของกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศที่มีอัตราการใช้ทรัพยากรสูงที่สุดในประเทศ ส่งผลให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกมหาศาล มีการปล่อยปริมาณ CO2 สูงถึงปีละกว่า 42 ล้านตัน ในขณะที่มีพื้นที่สีเขียวกลางเมืองรวมกัน 11,859 ไร่ แต่สามารถดูดซับ CO2 ได้ 100,000 ตันต่อปี หรือเพียงร้อยละ 0.2 ของปริมาณก๊าซ CO2 ที่ปล่อยในแต่ละปี ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศในประชาคมโลกต่างหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยหนึ่งในนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการนำหลักปฏิบัติ “สังคมคาร์บอนต่ำ” มาใช้อย่างจริงจัง
รองผู้ว่าราชการ กทม. ย้ำว่า ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการเพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550-2555 และการจัดทำแผนแม่บทของกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2555-2556 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) อีกทั้งเล็งเห็นว่าการนำกรุงเทพฯ เข้าสู่สังคม “คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)” จะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน
กรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายที่จะนำกรุงเทพฯ ก้าวไปสู่ความเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ พร้อมๆ กับอีกหลายประเทศทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2563 โดยอาศัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผ่านเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิด การถ่ายทอดความรู้และเผยแพร่ตัวอย่างที่ดีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ โครงการกรุงเทพฯ สู่เมืองคาร์บอนต่ำจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการสนับสนุนของประชาชน ตลอดจนความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน