เทสโก้ โลตัส จับมือ UN FAO และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนแก้ปัญหาระดับโลก ‘วิกฤติขยะอาหาร’ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการสูญเสียทรัพยากร และเพิ่มอาหารให้ผู้หิวโหยทั่วโลก โดยเทสโก้ โลตัส นำวงการค้าปลีกลดขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยกลยุทธ์‘จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร’ ผสานความร่วมมือทั้งภาคผู้ผลิตผู้บริโภค
Dr. Rosa S.Rolle, Senior Agro-Industries and Post-Harvest Officer แห่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO) กล่าวว่า “ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติขยะอาหาร โดยเราสูญเสียและทิ้งขว้างอาหาร ประมาณ 1.3 พันล้านตันทุกๆปี ในขณะที่ทุกๆวันประชากรโลก 1 ใน 8 คน ยังอดอยากอยู่ นอกจากนี้ ขยะอาหารยังส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการสูญเสียและทิ้งขว้างอาหาร ยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เพาะปลูกอาหารโดยไม่จำเป็น เช่น ดิน น้ำ และพลังงาน”
ขยะอาหารเกิดในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ช่วงการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง จนถึงร้านค้า และถึงมือผู้บริโภค โดยขยะอาหารส่งผลกระทบมากมาย ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
“เราสูญเสียอาหารตั้งแต่ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวพืชผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา โดยพืชผลที่เพาะปลูกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้สูญเสียไประหว่างเส้นทางจากฟาร์มสู่ตลาด คิดเป็นประมาณ 15-50% ของผักผลไม้ และ 12-37% ของธัญพืช นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังทิ้งขว้างอาหาร ด้วยนิสัยการจับจ่ายและการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่น การซื้ออาหารปริมาณครั้งละมากๆ แต่ไม่มีการวางแผนบริโภคและเก็บรักษาที่ดีพอ นอกจากนี้ หลายๆประเทศยังมีวัฒนธรรมกินให้เหลือไว้ในจานอีกด้วย”
ในขณะที่ขยะอาหารเป็นปัญหาระดับโลก ที่ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนากำลังเผชิญอยู่ UN FAO จึงได้นำเสนอกลยุทธ์ในการลดการทิ้งขว้างอาหารทั้งระดับนโยบาย อาทิ คิดภาษีสำหรับอาหารที่ทิ้งขว้าง ซึ่งเกาหลีและญี่ปุ่นได้นำไปใช้แล้ว และระดับภาคธุรกิจบริการด้านอาหาร ที่ควรคิดเงินลูกค้าหากทานไม่หมด หรือสนับสนุนให้ลูกค้าเก็บอาหารที่ทานไม่หมดกลับบ้าน รวมทั้งกลยุทธ์สร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนอีกด้วย
ด้าน ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้จัดการ แผนกกิจการสาธารณะ เทสโก้ โลตัส กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่เป็นธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ เทสโก้ โลตัส ตระหนักดีว่าเราสามารถช่วยผลักดันแก้ไขปัญหาวิกฤติขยะอาหาร โดยเน้นกลยุทธ์การลดขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือกลยุทธ์ ‘จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร’ อีกทั้งยังป้องกันการเกิดขยะอาหารด้วยการนำอาหารที่ไม่เหมาะแก่การจำหน่ายไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ และเร่งสร้างกระแสสังคมถึงภัยขยะอาหารอีกด้วย”
สำหรับการลดขยะอาหาร ‘จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร’ นั้น เทสโก้ โลตัส ได้เน้นการรับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้ดี และลดปัญหาพืชผลล้นตลาดจนกลายเป็นขยะอาหาร นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับเกษตรกรในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง เพื่อป้องกันการสูญเสียระหว่างทาง และเมื่อพืชผลมาถึงร้านค้า เทสโก้ โลตัส ได้ดูแลการจัดเก็บสินค้าอาหารสดอย่างเหมาะสม เพื่อลดการสูญเสีย ณ จุดขายอีกด้วย
นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ยังป้องกันการเกิดขยะอาหาร ด้วยการนำอาหารที่ไม่เหมาะแก่การจำหน่ายไปบริจาคเป็นมื้ออาหารให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน เช่น ได้นำไข่ไก่ฟองที่มีสภาพดีจากแพ็คไข่ที่แตกหักไปบริจาคแก่เด็กนักเรียนผู้ยากไร้
สำหรับภาคส่วนสังคมและผู้บริโภค เทสโก้ โลตัส ได้เร่งสร้างการรับรู้และความร่วมมือในการลดขยะอาหาร ด้วยการออกแคมเปญรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่อประชาสัมพันธ์ และโซเชียลมีเดีย
ทางด้าน สากล ฐินะกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “สำหรับในประเทศไทย เรามีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 ขยะมูลฝอยมีปริมาณ 26.77 ล้านตัน ซึ่งมีขยะอาหารเป็นสัดส่วนถึง 64% แต่เรามีความสามารถในการกำจัดขยะไม่ถึง 70% ของขยะที่เกิดขึ้น ทำให้มีขยะมูลฝอยตกค้าง ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย และส่งผลต่อภาวะโลกร้อน”
จากปัญหาด้านการจัดการมูลฝอยดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการผลักดันให้“การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ” ซึ่งการแก้ไขปัญหาขยะให้ได้ผลดีที่สุดคือการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สั่งอาหารจนทานไม่หมด ทานอาหารให้หมดจาน หรือที่เรียกว่า กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ชาคริต กล่าวย้ำว่า “ปัญหาขยะอาหารถือเป็นวิกฤติของมวลมนุษยชาติ แต่ประชาชนทั่วไปยังไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นดังนั้นความร่วมมือระหว่างเทสโก้ โลตัส หน่วยงานระดับสากล และภาครัฐในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้คนไทยตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาและร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งผู้ผลิต ผู้ขายและผู้บริโภค”
“หากโลกสามารถลดการสูญเสียหรือการทิ้งขว้างอาหารได้ 1 ใน 4 ของปัจจุบัน เราจะมีอาหารเพียงพอเลี้ยงผู้หิวโหย 870 ล้านคนทั่วโลก”