ความสนใจของโลกเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อทศวรรษก่อนหน้า จากประเด็นความเสี่ยงของมลภาวะทางอากาศ บรรยากาศโลก ความผันผวนรุนแรงของภูมิอากาศโลก มาสู่ประเด็นของ “น้ำ” ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้น
ในขณะที่ผลของความผันผวนของภูมิอากาศ บรรยากาศโลก อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม หรือตรงข้ามเกิดภาวะภัยแล้ง แต่ตอนนี้โลกเริ่มมีการพูดถึงประเด็นใหม่ในการประชุมของ World Economic Forum ในรายงาน Nine Edition of the Global Risk Report เมื่อต้นปี 2014 เปลี่ยนไปสู่ประเด็นของน้ำว่าจะเป็น 1 ในความเสี่ยงระดับโลกที่สูงที่สุด จากประเด็นที่เลือกมาเป็นความเสี่ยงสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและถดถอย ภาวการณ์ว่างงานที่มียังคงรุนแรง การขาดแคลนอาหารและภูมิอากาศที่รุนแรงผันผวนแบบสุดขั้ว
สิ่งที่ทำให้ประเด็นน้ำกลายเป็นหนึ่งในห้าของประเด็นเสี่ยงสูง เพราะการวิเคราะห์และประเมินว่า เมื่อเศรษฐกิจดำเนินไป ประชากรในโลกก็ต้องการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ควบคู่กับการใช้น้ำในการผลิตเคมีภัณฑ์ อาหาร พลังงานเชื้อเพลิง และส่วนประกอบอื่นที่ใช้กับการดำรงชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามการเติบโต
บางอุตสาหกรรมหากขาดน้ำใช้อย่างเพียงพอ อาจจะถึงขั้นหยุดการผลิต และเลิกกิจการด้วยซ้ำ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Water-intensive เช่น เกษตรกรรม และการผลิตพลังงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาน้ำเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ จะทำให้อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในกิจการที่เหลือ ที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งห่วงโซ่อุปทาน
มองจากภาพรวมทั้งหมด นักวิชาการที่ประชุมกันและออกรายงานตามเอกสารดังกล่าวของ World Economic Forum สรุปประเด็นได้ดังนี้
ประการที่ 1 ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรในปัจจุบันและในอนาคตจะมีฐานะเป็นคู่แข่งและผู้ใช้ที่แย่งปริมาณน้ำกินน้ำใช้ของผู้ใช้ในภาคครัวเรือน และระหว่างภาคอุตสาหกรรมด้วยกัน และระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรก็จะต้องแย่งน้ำกัน ในอนาคตผู้ใช้น้ำแต่ละฝ่ายจะโทษกันว่าแย่งชิงน้ำจากผู้ใช้ครัวเรือน
ประการที่ 2 ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ยอมรับว่าการแย่งชิงน้ำเป็นปัจจัยเสี่ยงในระดับสูงจึงต้องหาแนวทางการบริหารจัดการและบรรเทา ถ่ายโอนลดการพึ่งพาการใช้น้ำลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ระดับความรุนแรงของความเสี่ยงลดลง
ประการที่ 3 ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากน้ำ ตามการวิเคราะห์ของดีรอยต์มี 3 ส่วนได้แก่ ความเสี่ยงทางกายภาพ จากการมีคุณภาพน้ำและปริมาณน้ำเป็นไปตามความต้องการ ความเสี่ยงทางกฎหมาย นโยบายรัฐที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาน้ำและการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม และความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่มาจากการรับรู้และมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการบริหารจัดการน้ำของกิจการ
ประการที่ 4 กรณีบริษัทที่ลักษณะประกอบการต้องเผชิญหน้ากับผู้บริโภคเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงสูงกว่ากิจการที่ไม่ค่อยเผชิญหน้ากับผู้บริโภค เคยมีกรณีในอินเดียที่กิจการเครื่องดื่มถูกกดดันจากสังคมให้ปิดกิจการและออกจากธุรกิจ
ประการที่ 5 กิจการแต่ละกิจการมีความตระหนักต่อปัญหาของน้ำต่อการดำรงอยู่แตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่ตระหนักในความเสี่ยงจนออกนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องราว ปรับเทคโนโลยีการใช้น้ำ และทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิด
ประการที่ 6 ข้อเสนอจาก World Economic Forum คือ กิจการควรจะวิเคราะห์ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ให้ครอบคลุม Value Chain และทำแผนภาพของความเสี่ยงด้านนี้ให้ครบถ้วนกระบวนการดำเนินงาน เรียงลำดับประเด็นเสี่ยงที่สำคัญและสูง ความคุ้มค่าของการลงทุนพัฒนากระบวนการดำเนินงาน ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างเพียงพอกับชุมชน
ประการที่ 7 เมื่อเทียบกับอดีต ผู้ประกอบการทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ และตระหนักในความเสี่ยงของการละเลยการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น และรู้ว่าเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อความอยู่รอด และเป็นเรื่องที่กิจการไม่วางกรอบแนวทางการบริหารจัดการไม่ได้
ในบรรดากิจการที่บุกเบิกและเป็นผู้นำเรื่องนี้มากว่า 3 ปี แล้วคือ บริษัทลีวายส์ สเตราส์ ที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการฟอกย้อม และขัดเนื้อผ้ายีนส์ให้เป็นสีและลายตามที่ต้องการ ให้เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ใช้น้ำ แถมยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการรายอื่น
นอกจากนั้น กิจการกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อย่าง โคคา-โคลา เป๊ปซี่ เนสท์เล่ SABMiller หรือ AB InBev และแม้แต่ Miller Coors ก็กลายเป็นกลุ่มผู้นำในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปรับสัดส่วนการใช้น้ำให้ลดลง และโคคา-โคลา ยังก้าวหน้าถึงขนาดคืนน้ำแก่สังคม เท่ากับประมาณน้ำที่ใช้ในกิจการภายในปี 2020 ด้วยการดำเนินโครงการกว่า 500 โครงการ และร่วมมือกับพันธมิตรในการปกป้อง ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้น้ำสะอาดไว้ใช้ประโยชน์ เพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนกว่า 1.8 ล้านคนทั่วโลก