xs
xsm
sm
md
lg

กำไรไม่ใช่คำตอบสุดท้าย/ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวความเคลื่อนไหวที่โดดเด่น ซึ่งผมขอนำมากล่าวถึง 2 ประเด็นที่ล้วนมีผลลัพธ์อยู่บนเส้นทางสู่ความยั่งยืนของกิจการ นั่นก็คือ
1.เครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG ได้รับการประเมินและจัดอันดับในดัชนีวัดประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนจาก Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI เป็นที่ 1 ของโลก (Industry Leader) ในสาขาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน) และอยู่ในระดับ Gold Class เป็นปีที่ 7 ตั้งแต่ปี 2551
ขณะเดียวกันก็มีบริษัทชั้นนำของไทยผ่านการประเมินและติดอันดับได้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนระดับโลกเช่นเดียวกันที่เป็นระดับ DJSI World คือ เอสซีจี, ปตท., ปตท.สผ. และ พีทีที โกลบอล เคมิคอล พร้อมระดับ DJSI Emerging Market ซึ่งรวม 4 บริษัทข้างต้น และอีก 6 บริษัท คือ บางปู, เซ็นทรัลพัฒนา, ไออาร์พีซี, ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล, ไทยออยล์ และไทยยูเนียนโพรเซ่นฯ ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับโลกด้านความยั่งยืน
2.การจัดอันดับและมอบรางวัลแบรนด์องค์กรที่มีมูลค่าสูงสุด และรางวัลแบรนด์องค์กรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงสุด ประจำปี 2557 ซึ่งจัดโดยสาขาวิชาการตลาด คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสื่อในเครือผู้จัดการ และบริษัท เซทเทรด ดอทคอม
ผลปรากฎว่าแชมป์มูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส, บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์, บมจ. ซีพี ออลล์, บมจ. เอสซีจี, บมจ. ปตท. สผ., บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล และ บมจ. ซาบีน่า
ส่วนแชมป์แบรนด์องค์กรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ บมจ.ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย), บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์, บมจ.เดลต้า อิเล็คโทรนิกส์, บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบิน กรุงเทพ, บมจ.สยามแม็คโคร, บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, บมจ.ไทยสตีล เคเบิล และ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ผมมีความเห็นว่า 2 ปรากฎการณ์ข้างต้นเป็นเรื่องที่มีทิศทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมายเดียวกันก็คือ “ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเป็นกระแสโลกด้วย
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้คำว่า “ความยั่งยืน” หรือ Sustainability นับเป็นศัพท์ที่ผู้บริหารองค์กรที่ก้าวหน้าวงการต่างๆมักอ้างอิงและย่อมมุ่งหวังอยากจะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายนี้
การเป็น “องค์กร 100 ปี” จึงเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ ที่องคืกรชั้นนำอยากไปให้ถึง จึงพยายามสั่งสมผลลัพธ์และประสบการณ์ที่ดี มีผลประกอบการที่มั่นคง มีการพัฒนาระบบการบริหาร และมีนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้การผลิตสินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับของตลาดอย่างกว้างขวาง
องค์กรชั้นนำของโลกก็ล้วนพัฒนาไปในแนวทางความยั่งยืนเช่นนี้ นั่นย่อมหมายถึงความยอมรับและเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจ ที่ส่งผลต่อผู้บริโภคให้ความนิยมเชื่อถือในผลิตภัณฑ์และบริการ
ผลงานเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ หรือการสร้าง “มูลค่า” ที่มี “คุณค่า” สั่งสมอยู่ในแบรนด์องค์กร (Corporate Brand) จึงมีความสำคัญต่อความยั่งยืนในการดำเนินกิจการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในด้านการตลาดที่มีการแข่งขันกันเสนอคุณประโยชน์ให้ผู้บริโภค สิ่งที่จะแสดงความน่าเชื่อถือว่ามีคุณภาพและประสิธิภาพได้ดี คือ ผลงานและความรับผิดชอบในกระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR-in-process)ที่ดำเนินการมาโดยยืนยันด้านแบรนด์องค์กรผู้ผลิตนั่นเอง
ขณะเดียวกันแบรนด์องค์กรก็ยังสามารถแสดงระดับของ “ชื่อชั้น” ที่พนักงานภูมิใจที่ได้ทำงานกับกิจการที่ดีมีอนาคตที่ยั่งยืน และนักลงทุนย่อมพอใจที่ลงทุนในกิจการที่มีกลยุทธ์การหริหารที่เก่งและมีธรรมาภิบาลดีจนส่งผลให้แบรนด์องค์กรมีมูลค่าที่ดีและเติบโตดี
กานต์ ตระกูลฮุน
ข้อคิด...
กานต์ ตระกูลฮุน ผู้บริหารสูงสุด (CEO) เครือซิเมนต์ไทย เล่าให้ฟังว่า DJSI เป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งกองทุนต่าง ๆ จากทั่วโลกใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาลงทุน ด้วยเชื่อมั่นว่าบริษัทที่อยู่ใน DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน
“ตลอดระยะเวลากว่า 100 ปี การที่เอสซีจีได้เป็น 1 ของโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดจากผลสำเร็จของการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในทุก ๆ มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง”
นี่เป็นตัวอย่างของผู้นำองค์กรที่มีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินกิจการด้วยแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ซี่งเป็นกระบวนการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพิจารณาของนักลงทุนยุคปัจจุบันที่ใช้เกณฑ์การเลือกลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) เป็นการลงทุนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ SRI (Social Responsible Investing)
ทั้งนี้ก็ด้วยการพิจารณาหุ้น หรือกิจการที่มีการทำธุรกิจ หรือกระบวนการผลิตไม่ส่งผลกระทบที่เป็นความเสี่ยงใน 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
เมื่อการดำเนินกิจการตระหนักในการสร้างคุณค่าและไม่สร้างความเสียหายใน 3 มิติที่เรียกย่อว่า ESG ซึ่งจะตอบโจทย์นักลงทุนระยะยาวยุคใหม่ที่ไม่ถามเรื่องตัวเลขผลประกอบการ แต่จะสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่อง CSR และการพัฒนาแบรนด์องค์กร ส่งผลให้บุคลากรก็จะเป็นที่ยอมรับแน่นอน
“กำไร” จึงไม่คำตอบสุดท้ายของการลงทุนอีกแล้ว
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น