xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรีโฮลดิ้ง จับมือกระทรวงไฟฟ้า สหภาพเมียนมาร์ เดินหน้าศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ามะริด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฯพณฯ U Khin Maung Soe รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้า สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ให้เกียรติลงนามในบันทึกข้อตกลงการศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ามะริด ในเขตตะนาวศรี กับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี พงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และพันธมิตรไทยและเมียนมาร์ 3 ราย ได้แก่ บริษัท บลู เอนเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด, Vantage Company Limited (Myanmar) และ Kyaw Kyaw Phyo Company Limited (Myanmar) ร่วมลงนาม
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ Department of Hydropower Planning กระทรวงไฟฟ้า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ามะริด ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2,640 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการผลิต ตั้งอยู่ที่เมืองมะริด สหภาพเมียนมาร์
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรอีก 3 ฝ่าย ได้แก่ บริษัท บลู เอนเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด, Vantage Company Limited (Myanmar) และ Kyaw Kyaw Phyo Company Limited (Myanmar) ในการพัฒนาและดำเนินการโครงการดังกล่าว

พงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และพันธมิตรทั้ง 3 รายได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงไฟฟ้าของสหภาพเมียนมาร์ พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ามะริดในเขตตะนาวศรี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสหภาพเมียนมาร์และประเทศไทย โครงการนี้ไม่เพียงจะช่วยให้คุณภาพชีวิตประชาชนเมียนมาร์ในภาคใต้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศให้เจริญเติบโตอีกด้วย ขณะที่ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งก็สามารถผลิตจำหน่ายให้กับประเทศไทย สร้างรายได้กลับสู่สหภาพเมียนมาร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

“การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นต้น หากโครงการมีความเป็นไปได้ คาดว่าจะใช้งบประมาณพัฒนาโครงการประมาณ 170,000 ล้านบาท และเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นที่น่าพอใจ บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดขนาดใหญ่ในสหภาพเมียนมาร์ โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาโครงการนี้อย่างมีส่วนร่วมใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อีกทั้งดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบโครงการ และปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่มาตรฐานสากลยอมรับอย่างเต็มความสามารถ”
พงษ์ดิษฐ กล่าวอีกว่าการออกแบบโรงไฟฟ้าโครงการนี้สามารถใช้ถ่านหินคุณภาพดีที่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต หากโครงการมีความเป็นไปได้ คาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จและผลิตไฟฟ้าได้ประมาณปี 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น