xs
xsm
sm
md
lg

Green culture : เจาะใจ 4 ทายาทปราชญ์อีสาน บนเส้นทางสร้างคุณค่าใหม่ให้ชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หมู เนื้อเป็นอาหาร หรือขายก็ได้เงิน มูลก็นำไปใช้ทำปุ๋ยให้ต้นไม้
แปลงผักประณีต ต้นแบบเกษตรแบบผสมผสาน
จากความร่วมมือในการจัดงาน “ปราชญ์อีสาน สร้างความยั่งยืน บนผืนดินเค็ม” ที่ได้การสนับสนุนของเอสซีจี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมพัฒนาที่ดิน ณ สถาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไทย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวที่เป็นผลพวงของแรงบันดาลใจให้ก่อเกิด “4 ทายาทปราชญ์อีสาน” ทั้งที่เป็นทายาทโดยสายเลือด โดยความผูกพัน และโดยศรัทธา
วีระ สิทธิสาร
ถูกปลูกฝังให้สืบทอด

บัณฑิตคืนถิ่น ในโครงการบัณฑิตคืนถิ่น ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “วีระ สิทธิสาร” จาก ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา “ลูกเขยของพ่อผาย สร้อยสระกลาง” ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2553 ผู้นำศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย

เขาเล่าถึงการได้มาสืบสานเส้นทางชีวิตเกษตรกรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงว่า ครอบครัวเดิมพ่อแม่ค้าขายและอยู่กรุงเทพฯ เขาไม่มีความรู้เรื่องเกษตรแม้แต่น้อย แต่มีความรู้เรื่องบัญชี เรื่องธนาคารต่างๆ และเมื่อได้เป็นลูกเขยพ่อผาย ได้ไปช่วยชาวบ้านทำโครงการต่างๆ รู้สึกภูมิใจว่าสามารถช่วยชาวบ้านได้ จึงเริ่มชอบ ส่วนความรู้เรื่องเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียงค่อยๆ เรียนจากพ่อผาย ทำไปด้วย ส่งเสริมชาวบ้านไปด้วย

เมื่อได้มาอยู่ตรงนี้รู้สึกดีใจเพราะได้ซึมซับความสุขที่เกิดขึ้น ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน และเลือกเวลาทำงานได้ แม้ว่ารายได้ไม่มาก แต่อยู่ได้ แม้ว่าครอบครัวจะอยู่รวมกันถึงเก้าคน แต่ใช้จ่ายรวมกันวันละไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท ขณะที่รายได้ต่อวันมีเหลือเก็บ เพราะเพียงรายได้จากการเพาะเห็ดสามารถขายได้วันละสามร้อยบาทแล้ว นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากอย่างอื่น เช่น เลี้ยงหมูเมื่อครั้งก่อนได้กำไรมาเก็บเป็นเงินออมสองหมื่นบาท เป็นต้น

ในฐานะพ่อลูกสามและลูกสาวบอกว่าเมื่อโตขึ้นจะเลือกเรียนเกษตร สำหรับลูกสาวในตอนนี้เลี้ยงให้รู้จัก “วิถี” ก่อน เวลาไปไหนจะให้ไปด้วย เช่น ไปเก็บเห็ด ไปในสวนหรือในป่า เพื่อปลูกฝังให้ซึมซับทีละน้อย ส่วนอาชีพจะเลือกอะไรก็ได้ แต่ในเรื่องเกษตรคิดว่าต้องทำเกษตรแบบผสมผสานจึงจะอยู่รอด เพราะเห็นเกษตรกรที่ทำแบบอื่นเป็นหนี้เป็นสิน เอาตัวไม่รอด สำหรับปัญหาลูกหลานหรือบัณฑิตไม่กลับมาทำเกษตร สิ่งสำคัญที่สุดคือ “พ่อแม่” ต้องทำให้เขาเห็นว่าทำแล้วอยู่ดีมีความสุข อยู่ได้สบาย ไม่มีหนี้สิน

นอกจากทำเกษตรแบบพึ่งตนเอง พออยู่พอกิน ยังขยับขยายสร้างรายได้ได้อีก ด้วยการทำสิ่งที่ต่างจากคนอื่น เช่น เลือกขายเห็ดขอนดำ ซึ่งต่างจากคนอื่นที่เป็นเห็ดขอนขาว หรือทำกล้วยเบรกแตกไปฝากขายตามร้าน ซึ่งขายดีมาก เพราะที่นั่นไม่มี เราทำต่างจากเขาเราจึงขายได้ อยู่ที่ว่าเรามองตลาดว่าใครเป็นตลาดของเรา
ศักรินทร์ ภาษี
เพราะมีความสุข-มีคุณค่า

ลูกชายของพ่อคำเดื่อง ภาษี เกษตรกรตัวอย่างที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ (อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งชั้นเหรียญเงิน) ในปี พ.ศ. 2547 “ศักรินทร์ ภาษี” จาก ต.หัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ทายาทที่สานต่อแนวคิดจากพ่อคำเดื่อง ภาษี ที่มุ่งเน้นการใส่จิตวิญญาณในการทำการเกษตร และคิดค้นแนวทางใหม่ๆ อาทิ การใช้โซลาร์เซลล์ในการสูบน้ำเพื่อการเกษตร

เขาเล่าว่า ตัดสินใจไม่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย หลังจบมัธยม 6 ทั้งๆ ที่มีโอกาส แต่เลือกมาช่วยงานพ่อ ซึ่งต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ เพราะคิดว่าเป็นวิถีทางที่มีความสุขกับการได้อยู่กับธรรมชาติ กับครอบครัว การไม่เป็นลูกจ้างใคร

ขณะเดียวกัน รู้สึกว่าเป็นคนมีคุณค่า เพราะไม่ได้ทำงานเพื่อพึ่งตนเองอย่างเดียว แต่ได้ช่วยเหลือสังคมในหลายๆ ด้าน และการได้มาที่ศูนย์เรียนรู้ของพ่อคำเดื่องทำให้มีโอกาสพบปะกับสังคมและคนหลากหลายอาชีพ ได้เรียนรู้กับปราชญ์หลายท่านซึ่งเป็นผู้รู้โดยแท้ ทำให้สามารถนำความรู้เหล่านี้มาใช้กับชีวิตจริง

เขาเชื่อว่าอาชีพเกษตรกรเลี้ยงตัวได้ เพียงแต่ต้องเรียนรู้กระบวนการหรือวิธีคิดใหม่ เพราะถ้าเป็นเกษตรแบบเดิม เกษตรเชิงเดี่ยว เกษตรตามกระแสหรือตามนโยบายจะมีโอกาสเสี่ยงสูงและไปไม่รอด แต่ถ้ามาเรียนรู้เรื่องภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยง ลดต้นทุน และการพึ่งตนเองได้มากๆ เหล่านี้ทำให้จะอยู่รอด

สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มาอยู่ภาคเกษตร มองว่าส่วนหนึ่งเพราะ “ค่านิยม” ของพ่อแม่ ครอบครัว ญาติพี่น้องมองว่าเป็นอาชีพต่ำต้อยหรือลำบาก แต่จริงๆ ขึ้นกับการให้คุณค่าหรือความหมาย เช่น ถ้าบอกว่าเป็นอาชีพอิสระ หรือมีความสุขที่สุดเพราะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ หรือสร้างบ้านเองได้ หรือสร้างรายได้ ฯลฯ เป็นมุมมองหรือค่านิยมที่ต้องทำให้เห็น

ส่วนเขาใช้เวลา 3 ปีเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีเรื่องให้เลือกเรียนมาก แต่เขาเลือกเรียนเรื่องเดียวคือ “การเผาถ่าน” เพราะเห็นว่าไม่ใช่ง่าย ซึ่งในท้ายที่สุดก็ทำให้เข้าใจคำว่า “คนเอาถ่านกับคนไม่เอาถ่าน” นั่นมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำให้รู้ว่าทำไมบางคนขายถ่านได้ในราคากิโลกรัมละ 600 บาท ขณะที่บางคนขายได้กิโลกรัมละ 80 บาท ฯลฯ จึงคิดว่าการเลือกเรียนรู้ทำให้เรานำความรู้กลับไปต่อยอดด้วยตนเองได้อีก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันลูกหลานเกษตรกรที่กลับมาทำการเกษตรมีให้เห็นมากขึ้น และเริ่มมีการเกาะกลุ่มเป็นเครือข่าย เห็นหลายคนกลับมา เริ่มเกาะเกี่ยวมีเครือข่าย หลายคนอยากมาลองและสู้กับแนวคิดพ่อแม่ที่ไม่อยากให้ลูกมาทำ หลายคนพิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่าสามารถมาทำและสานต่ออาชีพเกษตร หลายคนอายุยี่สิบกว่าสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมั่นคงและภาคภูมิใจ ขณะที่บางคนพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ด้วย
คำนึง เจริญศิริ
เพราะต้องการความมั่นคง

อีกหนึ่งบัณฑิตคืนถิ่น ในโครงการบัณฑิตคืนถิ่น ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นผู้นำในการพัฒนาการเกษตรในชุมชน “คำนึง เจริญศิริ” จาก ต.ชุมแสง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ จุดเปลี่ยนคือการค้นพบว่าการกลับมาประกอบอาชีพในบ้านเกิดของตนเองคือความสุขของชีวิต

เขาเล่าว่า ด้วยฐานะทางครอบครัวทำให้ต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองหลังจากเรียนจบม.3และได้โอกาสเรียนจนถึงม.6เมื่อเก็บหอมรอมริบด้วยการเป็นช่างพิมพ์ จนกระทั่งเมื่อมีรายได้เดือนละ 2.5 หมื่นบาท ทำให้เขาคิดว่านี่คือชีวิตที่มั่นคงเพียงพอแล้ว จึงไม่คิดกลับบ้าน แต่เมื่อวันหนึ่งมีโอกาสได้ยินได้ฟังเรื่องการเกษตรจากปราชญ์ชาวบ้านที่ไม่เคยได้รู้มาก่อนโดยบังเอิญ จนทำให้เกิดความสงสัยและสนใจใคร่รู้ถึงขั้นตัดสินใจเดินทางไปหาความจริง

แต่เมื่อได้เจอพ่อปราชญ์โดยไม่ได้ตั้งใจ “ที่เจอเพราะชอบกินเหล้า แต่ได้ยินคนที่มาพูดเรื่องเกษตรบอกว่าปลูกต้นไม้แล้วจะได้ราคาเท่านั้นเท่านี้และเขาก็โยนหนังสือให้อ่าน พอได้อ่านทำให้รู้สึกแปลก ที่เขาเรียกว่าปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเราไม่รู้เลยว่ามีแบบนี้ เขาบอกว่าเขาไม่วิ่งหาเงิน ให้เงินวิ่งมาหาเขา ผมสงสัยว่าถ้าไม่ทำงานหางานจะได้เงินมาอย่างไร แทนที่จะแบกเป้เข้ากรุงเทพฯ ก็แบกเป้มาหาพ่อคำเดือน

เมื่อได้อบรมและเรียนรู้จากปราชญ์หลายคน สิ่งที่เขารู้สึกคือ “ผมรู้สึกว่าโดนกระบี่เสียบแทงขั้วหัวใจ เพราะปราชญ์ชาวบ้านบอกว่าพ่อแม่ทุกวันนี้เลี้ยงลูกให้คนอื่นเอาไปใช้งาน เมื่อโตเต็มที่เป็นหนุ่มก็ให้เป็นลูกของบริษัท ลูกของโรงงาน พ่อแม่เจ็บป่วยไม่สบายก็ลาบริษัทไม่ได้” เขารู้สึกว่าคำๆ นี้พ่อของเขาก็เคยพูด และครุ่นคิดถึงตนเองว่า “กลับบ้านมาทีไรก็เมาทุกที ไม่เคยสนใจ แต่เมื่อโดนคนอื่นด่าก็รู้สึกเจ็บ ทำไมชีวิตเราต้องเป็นไปอย่างนั้น?” มีอีกคำที่เขาบอกว่า เจ็บปวดทุกครั้งเมื่อได้ยินฝรั่งต่างชาติพูดว่า “ประเทศไทยดินดี น้ำดี อากาศดี แสงแดดดี ทุกอย่างดีหมด แต่เสียทีที่มีคนไทยอยู่”

“คิดว่าเราเป็นหนุ่มมีพละกำลังเต็มที่แต่ไปรับใช้คนอื่นโดยไม่รับใช้พ่อแม่เลย มีที่ดิน 30-40 ไร่ และพ่อแม่ก็ผมหงอกแต่ยังทำไร่ไถนาไม่มีคนช่วย จึงคิดว่าชีวิตนี้ต้องกลับมาบ้านแล้ว หลังจากอบรม 4 คืน 5 วัน จึงตัดสินใจว่าปลดเปลื้องทุกอย่างหมด ประกาศกับตัวเองว่าจะกลับมาคืนป่าให้แผ่นดิน มาคืนถิ่นเพื่อสร้างชุมชน”

“เลยได้ไปพลิกแผ่นดินของตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองก็พอมีศักยภาพ ขนาดพ่อคำเดื่อง พ่อผายก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ทำไมทำได้ เลยบอกว่า ลูกของพ่อที่เป็นลูกของบริษัท มันได้ตายไปแล้ว ลูกของพ่อที่เกิดใหม่จะมุ่งทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จะตอบแทนคุณของแผ่นดิน”

สิ่งที่เขารู้สึกละอายใจคือ สมัยก่อนใช้ชีวิตแบบไม่ได้คิด ทั้งดื่มเหล้าและซิ่งมอเตอร์ไซค์ แต่วันนี้รู้ว่าตัวเองมีคุณค่าและความงามต่อครอบครัว สังคมและโลกใบนี้ แม้จะทำได้น้อยนิดแต่รู้สึกไม่วิตกกังวลและไม่กลัวอะไรสักนิดเดียวเรื่องรายได้ในตอนแรกน้อยกว่าที่เคย แต่ตอนนี้ได้มากกว่า เพราะมีที่นาของตัวเอง และทำเกษตรผสมผสานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากพึ่งตนเองได้ ก็แบ่งปัน และช่วยเหลือสังคม
สุรมิตร ศรีสุรักษ์
กรุงเทพฯ ใช้ชีวิตสิ้นเปลืองเวลา

“สุรมิตร ศรีสุรักษ์” จาก ต.ดอนตูม อ.ยางชุม จ.ศรีสะเกษ บัณฑิตคืนถิ่น ในโครงการบัณฑิตคืนถิ่น ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คิดค้นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน อาทิ ของประดับบ้านที่ทำจากถ่าน ซึ่งมีประจุไฟฟ้าที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย

เขาเล่าว่า ตอนที่จบม.6ยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร แต่เพราะกระแสสังคมและพ่อแม่บอกให้ไปหาที่เรียน จึงเลือกเรียนด้านคอมพิวเตอร์ แต่ตอนที่เรียนอยู่กรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายมาก และต้องตื่นเช้ามาก กว่าจะกลับเข้าห้องที่เช่าไว้แค่นอนเฉยๆ ก็มืดค่ำแล้ว แต่พอนึกว่าเมื่อก่อนที่อยู่บ้านตื่นเช้าก็ได้ทำอะไรมากมาย เมื่อได้นอนคิดเรื่องนี้ และเห็นรุ่นพี่ที่เรียนจบไปทำงานอย่างไม่มีความสุข ก็มองว่าบ้านเรามีที่ดินจะกลับไปพัฒนาอย่างไรให้ดีขึ้นได้

กระทั่งไปเข้าค่ายอาสาพัฒนาชนบททำให้เห็นอะไรๆ ที่น่าสนใจ และเมื่อได้อบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คิดว่าเรามีแนวคิดแบบนี้น่าจะกลับไปบ้านโดยนำความรู้ที่ได้มาไปพัฒนาต่อ ถามตัวเองว่าเราเรียนจบป.ตรี แต่ทำไมเอาความรู้กลับไปใช้ที่บ้านไม่ได้ พ่อแม่เป็นเกษตรกรทำมาตั้งนานทำไมยังขาดทุน

เมื่อฟังจากปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน บางคนทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสนบาท หรือทำข้าวเพิ่มมูลค่า แต่ทำไมเกษตรกรคนอื่นๆ จึงไม่ทำ เมื่อได้คิด ได้รู้ ได้นำไปใช้ ไปต่อยอดให้พ่อแม่และช่วยคนอื่นๆ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ทำข้าวกล้องงอก คนสูงอายุรับประทานแล้วสุขภาพดีขึ้น เริ่มเจ็บป่วยน้อยลง ทำให้เขามีความสุข เราได้ความภูมิใจ

ตามหลักพระเจ้าอยู่หัวคือต้องปลูกไว้กินเอง เหลือกินต้องแจก เหมือนสังคมคนอีสานคือแบ่งปัน แต่การจะก้าวไปถึงการตลาดรูปแบบใหม่หรือการตลาดเพื่อสังคม ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผลผลิตยังไม่มากพอ การชักชวนชาวบ้านหรือคนรุ่นเก่าให้มาทำเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องยาก แต่คนรุ่นใหม่ก้าวไปถึงธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entreprise) แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น