xs
xsm
sm
md
lg

อำพลฟูดส์ เร่งเครื่อง ZERO WASTE เทียบชั้นผู้นำอาหารระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


•ชูโรงงานสีเขียวปักธงผู้นำนวัตกรรมอาหารเทียบสากล
•ตั้งเป้าจัดการขยะในกระบวนการผลิตเป็นศูนย์
•เผยกลยุทธ์รักษ์โลกช่วย"ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้"
เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร
การหันมาเอาจริงเอาจังกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้กฎกติกาไม่ทำลายธรรมชาติมากเกินความจำเป็น ในแวดวงธุรกิจรักษ์โลกช่วงนี้ คงไม่ใช่แค่กระแส หรือพฤติกรรมเลียนแบบเท่านั้น เพราะยืนยันกันออกมาแล้วว่า กลุ่มผู้บริโภคเมืองไทย และทั่วโลก บอกรักโลก และสิ่งแวดล้อม ด้วยการหันมาจับจ่ายใช้สอยเลือกบริโภคสินค้า และบริการที่กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นทำเนียมปฏิบัติที่ว่า “ถ้าอยากเติบโตแบบยั่งยืน ต้องรักษ์โลก”

แม้จะให้ความสำคัญต่อโลก และสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ธุรกิจยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต และจำหน่ายกะทิสำเร็จรูปตรา “ชาวเกาะ” ที่เริ่มต้นจากการค้าเล็กๆ จนกลายเป็นผู้นำนวัตกรรมอาหาร และเครื่องดื่มให้แก่คนไทย และทั่วโลก ภายใต้การนำของ “เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร” กรรมการผู้จัดการ ก็ไม่เคยหยุดทำสิ่งดีดีให้โลก การออกมาประกาศตอกย้ำความเชื่อมั่น ชูโรงงานสีเขียว ปักธงผู้นำนวัตกรรมอาหารเทียบสากล
ตั้งเป้าจัดการขยะในกระบวนการผลิตเป็นศูนย์ พร้อมเผยกลยุทธ์รักษ์โลกช่วย"ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้" เรื่องจริง เผยให้เห็นว่า บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด “รักษ์โลก และห่วงใยสิ่งแวดล้อมแค่ไหน”
“เราสานต่อนโยบายประกอบธุรกิจด้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ผลิตจากธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิคทั้งหมด” ผู้นำนวัตกรรมอาหาร และเครื่องดื่มให้แก่คนไทยและทั่วโลก บริษัท อำพลฟูดส์เผย พร้อมกับบอกเหตุผลตรงมาตรงไปว่า
“เพื่อโลกของเรา และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคครับ ตรงนี้ถือเป็นการปรับกระบวนการจัดการภายในแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตสินค้า การตลาด รวมถึงการจัดหาวัตถุดิบที่เป็นกัลยาณมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งหมดอยู่ภายใต้แนวคิด “APF Food Innovation For the Green Society” อาหารเพื่อชีวิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด “ เกรียงศักดิ์  กระชับนโยบายรักษ์โลก ให้ฟัง พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า
“ที่ผ่านมา เรายึดแนวคิดการผลิตภายใต้ โรงงานสีเขียว (Green Factory) ด้วยการนำมาตรฐานต่างๆ ตลอดจนความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มาพัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ เพื่อเป้าหมายในการจัดการขยะในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (ZERO WASTE) อย่างเคร่งครัด และเคร่งครัดมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างโครงการ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร การผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวล และธนาคารขยะ ช่วยลดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมโดยตรง ต้องบอกว่าทุกโครงการมุ่งเน้นการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และ ลดต้นทุนการผลิตด้วย ทั้งนี้เราตั้งเป้าหมายที่จะทำให้บริษัทได้รับการยอมรับในระดับสากล ในฐานะผู้นำนวัตกรรมอาหารที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก"

เรามีเป้าหมายลดการสูญเสียจากกระบวนการผลิต และสามารถใช้ประโยชน์จากของเสียได้ทั้งหมด หรือลดขยะเป็นศูนย์( ZERO WASTE ) โดยยึดหลักการจัดการของเสียตามหลัก 3Rs คือ การจัดการขยะหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ได้แก่ Reduce การลดปริมาณการใช้วัสดุสิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตให้น้อยลง ใช้อย่างประหยัด รู้คุณค่าหรือใช้เท่าที่มีความจำเป็น
รวมถึง Reuse คือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า Recycle จากการนำสิ่งต่างๆ ที่ใช้งานไปแล้วและยังสามารถนำกลับมาใช้อีก เป็นการลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ซึ่งเป็นการลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย และเรามีการนำวัสดุต่างๆ เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก เหล็ก อลูมิเนียม มาแปรรูปโดยกรรมวิธีต่างๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะมูลฝอยแล้ว ยังเป็นการลดการใช้พลังงานและลดมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมด้วย
สำหรับการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียภายในโรงงานนั้น เราตั้งเป้าหมายที่จะจัดการ ขยะในกระบวนการให้เป็นศูนย์ โดยการลดใช้ทรัพยากร เช่น ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน การนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การนำเปลือกมะพร้าวมาอัดเป็นกระสุนไม้ (Wood Pallet) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในบอยเลอร์แทนน้ำมันเตา การรีไซเคิล เช่น นำไขมันจากกระบวนการผลิตกะทิมาแยกและจำหน่าย ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลได้ นำเศษอาหารและของเสียมาหมักเป็นแก๊สชีวภาพใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
อย่างโครงการ Wood Pallet หรือ แท่งชีวมวล อำพลฟูดส์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คิดนวัตรรมนี้ในการอัดกากใยมะพร้าวที่มีนำหนักเบาให้เป็นแท่งจากของเหลือในมะพร้าว กลายเป็นแท่งชีวมวล ซึ่งนำไปเผาเปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงงาน ซึ่งช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 30 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันขยะจากมะพร้าว เช่น เปลือก กะลา ไขมันมะพร้าว หรือเศษอาหารจากโรงอาหาร ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์แปรรูปเป็นพลังงานทดแทนหมุนเวียนภายในโรงงาน และถูกเพิ่มมูลค่าเกือบทั้งหมด ซึ่งทำให้ลดปริมาณการปล่อยขยะออกสู่ภายนอกโรงงานและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะที่ "เศษขี้เถ้า" เรานำไปผลิตอิฐมวลเบาได้ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างให้มหาวิทยาลัยเกษตรศึกษาวิจัย เพื่อนำขี้เถ้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงงานปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่บริษัทไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้า ขณะที่มีผลกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นเป็นเพราะว่า บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตด้านพลังงาน และการนำขยะหรือวัสดุต่างๆกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด”

"ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้"
ด้วยวัสดุเหลือใช้

ขณะที่ “กรณ์กณิศ แสงดี” ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แสงอาทิตย์ ลม ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล น้ำ ความร้อนใต้พิภพ คลื่น ทั้งนี้ จากความต้องการในการใช้พลังงานที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกปีและแหล่งผลิตพลังงานเดิมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องตระหนักถึงการใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น

โดยนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ ได้ทั้งหมด เช่น กะลามะพร้าว ใยมะพร้าว เนื้อมะพร้าว กากมะพร้าว จาวมะพร้าว กากข้าวกล้อง กากลูกเดือย เศษอาหาร ลังกระดาษ ฟิล์มยืด เศษเหล็ก รวมถึงนำน้ำเสียกลับเข้าระบบเพื่อผลิตแก๊สชีวภาพ ด้วย ซึ่งการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์อีก นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้เข้าบริษัทอีกด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนำ CSR เข้ามาเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน เริ่มที่ปลูกฝังให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม ตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร ก่อนตอกย้ำเรื่อง CSR ให้กลายเป็น DNA เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีในการทำงานที่รับผิดชอบต่อสังคม กระทั่งกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของอำพลฟูดส์ ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร อย่างเป็นเลิศ และเป็นที่มาของราวัลมากมาย
รางวัลสุดยอดผู้ประกอบการดีเด่นด้านโลจิสติกส์การค้า ELMA 2556 (Export Logistics Model Award : ELMA 2013) ในกลุ่มผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ หรือผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ สาขาสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป อาหาร และผลิตภัณฑ์ยา ประเภทธุรกิจขนาดเล็ก จากสำนักธุรกิจบริการและโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มอบให้คือหนึ่งในสิ่งดีดี ที่สามารถยืนยันได้
“รางวัลนี้ การันตีว่า เราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และเคร่งครัดกับการการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด APF Green Supply Chain โดยประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในการดำเนินธุรกิจทั้งกระบวนการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในทางการแข่งขัน ทำให้เกิด “ Economy of Speed” ตลอดกระบวนการโลจิสติกส์ครับ
อย่างการใช้ Bar code กำกับวัตถุดิบขาเข้าโรงงานและ การควบคุมชั้นความลับของสูตรการผลิต การใช้ระบบ BI ในการวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวคิดของ Balanced Scorecard การใช้หลัก Green IT เพื่อปรับเปลี่ยนระบบงานด้านไอที ให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้เราใช้ระบบเครือข่ายทางไกลของ Motorola Canopy แทนการใช้ Leased Line ในการเชื่อมโยงระบบไอทีระหว่างสำนักงานใหญ่และโรงงานผลิต การใช้โซลูชั่น GPS Tracking ควบคุมการเข้าออกพื้นที่รับผิดชอบของทีมขายทั่วประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้นนะ เรามีการควบคุมการใช้น้ำมันและควบคุมความเร็วของรถส่งสินค้า การใช้ระบบ APF Express ให้คู่ค้ารายใหญ่ทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์โดยมีส่วนลดในการสั่งซื้อสินค้า โดยมีการนำระบบบาร์โค้ด 2 มิติ หรือ QR Code มาใช้ในการจัดการคลังเก็บสินค้า และยังมีการนำชุดแขนกลหุ่นยนต์ มาใช้ในกระบวนการจัดเรียงกล่องสินค้าผลิตสำเร็จลงบน Pallet นอกจากนี้อำพลฟูดส์มีช่องรายการโทรทัศน์ภายในองค์กรภายใต้ชื่อว่า APF LINK เพื่อเผยแพร่ข่าวสารและความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับพนักงานด้วย
“เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร” กรรมการผู้จัดการ ยืนยัน ว่า “ส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้อำพลฟูดส์คว้ารางวัลสุดยอดผู้ประกอบการดีเด่นด้านโลจิสติกส์การค้า มาจากการทบทวนผลการดำเนินงาน และการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ของบริษัท การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ของธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลา ภายใต้การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม12 ข้ออย่างเคร่งครัด (อ่าน 12 นโยบายรักษ์โลก ห่วงใยสิ่งแวดล้อมแบบอำพลฟูดส์)
เหนืออื่นใดเราให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ โดยมุ่งมั่นพัฒนาทุนมนุษย์ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต เพื่อความผูกพันต่อองค์กร ภายใต้ภารกิจสร้างความพึงพอใจให้กับผู้มีส่วนได้เสีย ใส่ใจสังคม และสิ่งแวดล้อม สรรหา คัดเลือกบุคลากรที่มีสมรรถนะ และทันต่อความต้องการ พัฒนาสวัสดิการ กิจกรรมสัมพันธ์ และสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีด ความสามารถของพนักงาน ให้คำปรึกษา มีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ รักษาบุคลากร และสร้างความรู้สึกในการเป็นเจ้าของเพื่อให้เกิดความผูกพันต่อองค์กร นำเทคโนโลยีมาบริหารงานทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
รวมถึงมีการส่งเริมสนับสนุนการสร้างสุขภาวะบริษัท (Happy Workplace) หรือเครื่องมืออื่นๆ ที่เทียบเท่ากับสุขภาวะบริษัท ให้กับพนักงานเป็นประจำทุกปี เช่น โครงการโรงงานสีขาว โดยมีการรณรงค์ให้กับพนักงานลด ละ เลิก ยาเสพติด มีการจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาภายในโรงงาน Ampolfood League รวมถึงมีการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้พนักงานได้สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ตั้งแต่โบราณที่สืบทอดต่อกันมา รวมทั้ง ส่งเสริมให้พนักงานมีจิตใจที่สงบ และห่างไกลจากอบายมุข รวมถึงได้ร่วมทำบุญตักบาตรร่วมกัน มีการจัดกิจกรรมวันสำคัญต่างๆให้กับพนักงาน เช่น วันปีใหม่ วันเด็กแห่งชาติ วันแม่ วันพ่อ วันลอยกระทง เป็นต้น

"โครงการกล่องวิเศษ"
ปลุกจิตสำนึกเยาวชนรักษ์โลก

"โครงการกล่องวิเศษ" เป็นหนึ่งในโครงที่เราจัดตั้งขึ้น เพื่อปลุกจิตสำนึกคนรุ่นใหม่ให้มาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” เกรียงศักดิ์ กล่าวพร้อมกับสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต และโลก ว่า “ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราได้มีการนำกล่องยู เอช ที ที่ใช้แล้วมากกว่า 200 ล้านกล่องไปรีไซเคิลใหม่
ซึ่งกล่องเหล่านี้หากไม่นำกลับมารีไซเคิลจะต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานหลายร้อยล้านปี แต่ถ้านำมารีไซเคิลใช้เวลาเพียง 30 นาที ก็จะได้ชิปบอร์ด มาผลิตเป็นโต๊ะ-เก้าอี้นักเรียนมอบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนภายใต้ “โครงการกล่องวิเศษ”
ที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย รวมถึงอบจ.สมุทรสาคร จัด"โครงการกล่องวิเศษ อบจ.สมุทรสาคร" โดยมีจุดประสงค์รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาและบุคลากรในสถานศึกษา ตลอดจนข้าราชการและพนักงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือในการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ โดยการแกะ ล้าง เก็บกล่องยู เอช ที ที่ใช้แล้วสามารถนำมาแลกเป็นน้ำตาลหรือข้าวสารได้ที่ศูนย์รับแลกกล่องยูเอชทีของอบจ.สมุทรสาคร
โดยนำกล่อง ยู เอช ที ไปรีไซเคิลด้วยการแปรรูปเป็นแผ่นชิพบอร์ดและประกอบเป็นโต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน ที่มีถึงประมาณ 25,000,000 ชิ้น หรือสร้างเป็นอาคารเรียนให้กับโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครที่ขาดแคลนได้มากถึงกว่า10,000 ชุดทำให้สามารถช่วยลดการเผาไหม้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกล่องยู เอช ที ได้ถึง 2,250,000 กิโลกรัม และสามารถอนุรักษ์พื้นที่ป่าได้ถึง 375,000 ตารางเมตร และสามารถลดพื้นที่จัดเก็บขยะได้ถึง 10,000 ตารางเมตร เลยทีเดียว”

9 เศษวัสดุของเสีย
ที่นำมาใช้ประโยชน์ในโรงงาน

1.กะลามะพร้าว ขั่วมะพร้าว
นำกลับมาเป็นเชื้อเพลิงเข้า Boiler เพื่อผลิต Steam
2.กะลามะพร้าว
นำกลับมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตแก๊ส
เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า และถ่านกัมมัน )ระบบ Gasification
3.ใยมะพร้าว
นำมาอัดแท่งชีวมวลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เข้า Boiler เพื่อผลิต Steam
4.เศษอาหารจากสโมสร กากข้าวกล้อง กากลูกเดือย จาวมะพร้าว
นำเข้าระบบผลิตแก๊สชีวภาพ (Food waste)
5.เนื้อมะพร้าวตกเกรด
นำมาตากในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์
6.กากมะพร้าวจากการคั้นกะทิ
นำมาอบแห้ง
7.ขยะซีไซเคิล เช่น ลังกระดาษ ฟิล์มยืด เศษเหล็ก
คัดแยก และจำหน่ายต่อ
8.กล่อง UHT
นำมาบดย่อยทำแผ่น Chip Board
9.น้ำเสีย
เข้าระบบผลิตแก๊สชีวภาพ และนำแก๊สที่ได้มาผลิตไฟฟ้า

12 นโยบายรักษ์โลก
ห่วงใยสิ่งแวดล้อม แบบอำพลฟูดส์

ข้อที่ 1 เรามีกลยุทธ์หรือแผนปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์
ในส่วนงานของโลจิสติกส์ของบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด จะอยู่ภายใต้การดูแลภายของฝ่ายคลังสินค้าและจัดส่ง ซึ่งส่วนงานดังกล่าวจะมีการวิเคราะห์ SWOT และใช้ TOWS Matrix เพื่อกำหนดทางเลือกของกลยุทธ์ และลงรายละเอียดของแผนการดำเนินงานหรือโครงการในแต่ละกลยุทธ์ เพื่อลดช่องว่างข้อจำกัดของการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานตลอดจนรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจ เช่นโครงการรับ-จ่ายสินค้าโดยระบบบาร์โค๊ด โครงการพัฒนาระบบสั่งซื้อสินค้า EDI

ข้อที่ 2 เรามีการกำหนดเป้าหมายโลจิสติกส์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของบริษัทที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของบริษัท บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ได้มีการวางกลยุทธ์ขององค์กรในด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธ์กิจขององค์กรในเรื่องของระบบการจัดการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย และดูแล รับผิดชอบ ต่อสังคม ชุมชน และ สิ่งแวดล้อมเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์การ ทั้งนี้เพื่อความสำเร็จในการดำเนินการ

ข้อที่ 3 เรามีการกำหนดภารกิจหลักในการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์ของบริษัท
บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัดเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นแผนกลยุทธ์ของบริษัทจะเป็นแผนกลยุทธ์ที่เน้นการปฏิบัติงานการตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านโลจิสติกส์ ความแม่นยำถูกต้องของข้อมูล และความรวดเร็วที่แข็งกับความพึงพอใจให้กับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียเป็นสำคัญ

ข้อที่ 4 เรามีกระบวนการวิเคราะห์ปัจจัยด้าน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค(SWOT Analysis)เพื่อจัดทำหรือพัฒนาแผนกลยุทธด้านโลจิสติกส์ หรือมีการใช้วิธีการอื่นวิเคราะห์ที่เทียบเท่ากับ SWOT Analysisอย่างถูกต้อง
ในการกำหนดกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์ของบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด จะเริ่มจากการ วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT) และใช้ TOWS Matrix เพื่อกำหนดทางเลือกของกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดกับบริษัทในทุกๆด้าน บนพื้นฐานการวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันด้วย 5 Forces และนำเสนอให้กับผู้บริหารตลอดจนกรรมการผู้จัดการทบทวนอนุมัติ

ข้อที่ 5 เรามีการวางแผนโครงการ งบประมาณ หรือ มีกรอบวิธีปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ที่ต้องดำเนินให้บรรลุเป้าหมายหลัก
หลังจากที่ได้มีการวิเคราะห์ SWOT Analysis, TOWS Matrix , 5 Forces จะทำการจัดทำแผนการดำเนินงานหรือโครงการที่ตอบสนองกลยุทธ์นั้นๆ และประมาณการงบประมาณในแต่ละแผนการทำเดินการหรือโครงการ พร้อมทั้งนำเสนอแผนการดำเนินงานหรือโครงการต่อผู้บริหารเพื่อแสดงถึงความสอดคล้องและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริง

ข้อที่ 6 เรามีการกำหนดเวลาที่ต้องทำในแต่ละกิจกรรม ระยะเวลาที่แล้วเสร็จ และงบประมาณที่ต้องใช้ในแต่ละ กิจกรรมด้านโลจิสติกส์

ข้อที่ 7 เรามีการสร้างตารางในการทำงาน (Schedule) หรือปฏิทินทำงาน (Gantt Charts)ด้านโลจิสติกส์

ข้อที่ 8 เรามีการกำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมทางโลจิสติกส์อย่างชัดเจน หรือมีหน่วยงานและคณะทำงานที่รับผิดชอบด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะ

ข้อที่ 9 เรามีการวัดผลหรือประเมินศักยภาพในการทำงานด้านโลจิสติกส์โดยมีการพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านโลจิสติกส์ (Logistic KPI)ที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ และแผนปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ โดยมีค่าเป้าหมายของดัชนีเพื่อวัดความสำเร็จของการดำเนินงานอย่างชัดเจน

ข้อที่ 10 เรามีการติดตามผลการดำเนินงานตามดัชนีชี้วัดด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง และรายงานผลต่อผู้บริหารหรือคณะกรรมการประจำแต่ละฝ่ายเพื่อพิจารณา

ข้อที่ 11 เรามีการนำผลการพิจารณา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ จากทุกหน่วยงานไปทบทวน หรือปรับปรุงแผนกลยุทธ์ หรือแผนปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์อย่างเป็นรูปธรรม

ข้อที่ 12 เรามีแผนและระบบด้านโลจิสติกส์ที่รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่มีความแปรผันตลอดเวลา(Quick Response)ของธุรกิจ หรือมีระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management)ดานโลจิสติกส์ หรือระบบการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ด้านโลจิสติกส์
กำลังโหลดความคิดเห็น