xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” สะท้อนทุกภาคส่วนต้องกู้วิกฤต คิดและทำเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี...ของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยได้ยกหลักการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพระองค์ท่านทรงตรัสไว้ว่า “ เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา” มาเป็นหนทางแก้ไข พร้อมชี้ว่า ความพร้อมของ “มนุษย์” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนไทย และคนบนโลกใบนี้ ต้องตระหนักถึง “อนาคต” ซึ่งไม่ใช่สมบัติของคนเพียงยุคเดียวเท่านั้น และควรปฏิบัติตนโดยการส่งต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน ด้วยความรับผิดชอบ

สืบเนื่องจากปัญหามลพิษทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ ทางเสียง และความสั่นสะเทือน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง แสดงให้เห็นความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ของทรัพยากรดิน น้ำ คุณภาพอากาศ ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรแร่ธาตุและพลังงาน
ถึงเวลาคนไทยจะต้องสำนึกรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิการจัดการทรัพยากรแบบยั่งยืน  ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์พิเศษ ในหัวข้อ ถึงเวลาหรือยัง “ที่จะต้องสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมให้คนไทย” จัดโดยมูลนิธิการจัดการทรัพยากรแบบยั่งยืน (3 R) ณ ห้องประชุม อาคารสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
3 ทศวรรษของโลกที่เติบโตเร็วเป็นสาเหตุหลัก
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานที่ปรึกษามูลนิธิการจัดการ ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3 อาร์) ได้วิเคราะห์สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน ได้แก่ ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน น้ำ และทรัพยากรชายฝั่ง
รวมแม้กระทั่งสถานการณ์ปัญหาขยะมูลฝอยอันเกิดจาก ความมักง่ายและขาดจิตสำนึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งจะเห็นได้จากการทิ้งขยะลงตามพื้น หรือ แหล่งน้ำ โดยไม่ทิ้งลงในถังรองรับที่จัดไว้ให้ ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจ อย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม ก็ยังคงลักลอบนำสิ่งปฏิกูลไปทิ้งตามที่ว่างเปล่าอย่างไม่ได้มาตรฐาน
ดร.สุเมธ กล่าวว่า ยุคปัจจุบันนี้จะเห็นว่ามีกระบวนการผลิตทันสมัย และใช้สิ่งของที่มากเกินความจำเป็น เช่น การผลิตสินค้าที่มีกระดาษ หรือใช้พลาสติกหุ้มห่อหลายชั้น และการซื้อสินค้าโดยห่อแยก หรือใส่ถุงพลาสติก หลายถุง ทำให้เกิดขยะปริมาณมาก เมื่อการเก็บและทำลาย หรือ นำขยะไปใช้ประโยชน์อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีขยะตกค้าง กองหมักหมม และส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณจนก่อปัญหามลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม
“ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มีแต่เฉพาะแค่เมืองไทย แต่เป็นปัญหาในทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงมาก ที่ต้องพูดอย่างนี้เพราะ มนุษย์บนโลกใบนี้ลืมที่จะนึกถึงชีวิตของตัวเอง มัวแต่ใช้ชีวิตด้วยความสุรุ่ยสุร่าย ไม่พิถีพิถันในการใช้ชีวิต ทั้งที่แท้จริงแล้วตัวเราเองก็ยังต้องอาศัยทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้อยู่ “
ไทย หนึ่งในประเทศน่าห่วงด้านสิ่งแวดล้อม
ดร.สุเมธ บอกว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดตอนนี้ ก็คือพื้นที่ซึ่งมีจำกัดของแต่ละประเทศ ถ้าประเทศใดมีพื้นที่มากแต่มีปริมาณประชากรน้อยก็ยังไม่น่าเป็นห่วงมาก แต่ก็ไม่ได้หมายถึงประเทศนั้นจะหนีปัญหาดังกล่าวพ้น เพียงแค่ชะลอปัญหาไปได้บ้างเท่านั้น แต่สำหรับประเทศที่มีพื้นที่จำกัด แล้วยังมีปริมาณประชากรภายในประเทศหนาแน่น ประเทศนั้นจะน่าเป็นห่วงมาก
อย่างในประเทศไทยของเรา ณ วันนี้ คงต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงมากเช่นกัน ที่ต้องพูดอย่างนั้นเพราะเมื่อเราใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมากเท่าใด มันก็จะกลายกลับมาเป็น “ขยะ” มากเท่านั้น ทำให้ปัญหาที่น่าเป็นห่วงต่อไปก็คือ เราจะสามารถบริหารจัดการกับขยะได้ดี ทำได้อย่างครบวงจรหรือไม่ แต่เชื่อว่าหลายประเทศทั่วโลกก็ยังมีระบบบริหารจัดการในเรื่อง “ขยะ” ทั้งได้ดีและไม่ดีเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการบริโภคของมนุษย์ซึ่งถูกกระตุ้นโดยระบบบริโภคนิยม ซึ่งถ้าเรายังบริโภคกันเกินเหตุ อย่างไม่มีเหตุมีผล อย่างไม่พอดี ก็เท่ากับมนุษย์เรากำลังถลุงโลกและทำลายโลกกันทางอ้อมอยู่นั่นเอง แล้วสิ่งซึ่งน่ากลัวที่สุดที่จะตามมาก็คือ เราจะไม่หลงเหลือสิ่งแวดล้อมในโลกให้ใช้กันอีกต่อไป

สิ่งแวดล้อมที่เสีย ต้องมีการบูรณาการที่ดี
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ซี่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อโลกก็คือ การบริหารจัดการ และสิ่งแวดล้อมที่เสีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะมูลฝอย น้ำเสีย หรืออื่นๆ ล้วนเป็นปัญหาทั่ว ไปที่ไม่ว่าประเทศใดในโลกก็คงต้องประสบเช่นกัน แต่การบริหารจัดการที่ดี ต้องใช้การบูรณาการที่ดี เป็นสิ่งที่ทุกประเทศจำเป็นต้องมีวิธีจัดการ ซึ่งปัญหาแต่ละปัญหาของแต่ละประเทศนั้นล้วนต้องใช้ การบริหารจัดการและการบูรณาการที่ดีอย่างเหมาะสม แต่เหนืออื่นใด ความพร้อมของ “มนุษย์” ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะสามารถนำพาให้การบริหารจัดการ หรือกลไกต่างๆ สามารถประสานสัมพันธ์ กันจนทำให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
ดร.สุเมธ บอกอีกว่าทุกวันนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ล้วนแต่แวดล้อมไปด้วยมลพิษซึ่งถ้าเราสามารถแก้ปัญหา ให้หมดไปได้ ความงดงามอย่างยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นบนโลก อยากจะวิงวอนให้ทุกคนในโลกใบนี้ และในประเทศไทยคำนึงถึง “อนาคต” กันให้มาก เพราะสิ่งแวดล้อมในโลกใบนี้ ไม่ได้กำเนิดขึ้นมา เพียงเพื่อให้ใช้ได้แค่ในยุคเรายุคเดียว แต่มันเป็นสมบัติของโลกที่ยังคงต้องถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน และรุ่นต่อๆ ไปอีก ด้วยความรับผิดชอบที่ใสสะอาดของพวกเราทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้
ทุกครั้งที่มูลนิธิ 3 อาร์ ลงพื้นที่ สิ่งแรกที่เราจะต้องพบเจอคือ คนแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ จะมีผลประโยชน์ ซึ่งไม่สอดคล้องกัน เพราะเวลามนุษย์พูดกันมักจะพูดถึงเรื่องของผลประโยชน์ก่อน และยังมีภาพของความเข้าใจซึ่งไม่ใช่สิ่งเดียวกันอีก งานของเราจึงเป็นการเข้าไปสร้าง “ความเข้าใจ” กับคนในชุมชนให้เป็นไป ในทิศทางเดียวกัน ให้เข้าใจในสิ่งเดียวกัน
ซึ่งนี่คือหลักการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า...เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นใจในวันนี้ก็คือ ประชาชนคนไทย เริ่มหันมาสนใจและเริ่มมีจิตสำนึกในเรื่องของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้เรื่องของสิ่งแวดล้อม ในหลายชุมชน หลายจังหวัด เริ่มมีฟันเฟืองให้ขับเคลื่อนไปได้ เริ่มมีเสียงตอบรับซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ยกตัวอย่าง การกำจัดขยะบนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ตอนนี้เริ่มขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการบริหารจัดการและการบูรณาการที่ดีขึ้น เพื่อการเปลี่ยนแปลงกลไก และขับเคลื่อน ไปสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่เริ่มจะดีขึ้นในอนาคต และนั่นหมายถึงสิ่งที่จะตามมาก็คือ การสร้างรายได้ จากการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่จะตามมาอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่ ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน ตำบลห้วยสัก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ของ ท่านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) สถานที่แห่งนี้ก็ถือเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งอยากแนะนำให้ได้ไปเห็นถึงการสร้างจิตสำนึกที่ดีควบคู่ไปกับ การสร้างสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งแม้แต่ตนเองก็ยังทึ่งและคิดสงสัยว่า ท่านคิดทำได้อย่างไร จึงทำให้เห็นสัจจธรรมอย่างหนึ่งที่ว่า การศึกษาธรรมะ คือ การสอนให้มนุษบย์เข้าใจในธรรมชาติ ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และรักษาธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน
ดร.สุเมธ ให้คำแนะนำถึงวิธีแก้ปัญหาหรือการสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในเรื่อง การดูแลและสร้าง จิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมของคนในสังคมว่า “สื่อสารมวลชน” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่แต่เฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แม้แต่ในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ ก็เช่นกัน เพราะการสื่อสารเปรียบเสมือนเครื่องจักรกลสำคัญ ที่จะช่วยกระพือ หรือนำพาให้กระแสการสร้างจิตสำนึกต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถูกต้องขึ้น และยั่งยืนขึ้นได้
แต่ถ้าไม่มีสื่อเข้ามาร่วมรณรงค์ช่วยกัน สิ่งเหล่านั้นก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะแม้แต่รัฐบาลเองก็ยัง ไม่สามารถนำพาการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นกับคนในประเทศชาติได้ สื่อเองจึงควรหันมาร่วมใจกัน ส่งต่อข่าวสาร เพื่อการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้เกิดกับประชาชนในประเทศของตน หรือในโลกนี้ โดยไม่ต้อง คำนึงถึงเรื่องในเชิงธุรกิจ แต่อยากให้เป็นการคืนกำไรกลับสู่สังคมด้วยความรับผิดชอบและความเข้าใจ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการได้สร้างกุศลร่วมกัน รวมทั้งยังได้ร่วมกัน รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ “มนุษย์รู้รักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถอยู่รอดต่อไปบนโลกใบนี้ได้อย่างยั่งยืน”
กำลังโหลดความคิดเห็น