xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตอาคารสีเขียวในจีน จะชี้นำโลกกรีนในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าปัจจุบัน สัดส่วนของอาคารสีเขียวในจีนจะยังน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการก่อสร้างโดยรวม แต่การเอาจริงเอาจังของรัฐบาลจีนในการขยายเป้าหมายอาคารสีเขียว กลับมีส่วนที่ทำให้อาคารสีเขียวในจีนจะมีความยั่งยืนในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

อาคารสีเขียวของจีนได้รับรางวัล Gold Rating จาก LEED Rating System เมื่อปี 2005 มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความนิยมในอาคารสีเขียวจนเป็นกระแสต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน และมีแนวโน้มของการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ภาคการก่อสร้างในจีนมองอาคารสีเขียวเป็นช่องทางการทำกำไร และลดค่าใช้จ่ายการก่อสร้างอาคารในส่วนของประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการออกแบบให้เกิดการพัฒนาและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน
ผู้ที่มีความต้องการให้เกิดอาคารสีเขียวในจีน คือ บริษัทข้ามชาติ บริษัทจีนขนาดใหญ่ โรงแรมและรีสอร์ตหลายแห่ง ซึ่งมาจากแรงจูงใจทางธุรกิจเอง
แต่ในอนาคตการที่รัฐบาลกลางประกาศนโยบายด้านนี้อย่างชัดเจน และสื่อสารให้เกิดความตระหนักในการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คาดว่าจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการดำเนินงานเพื่อให้เกิดอาคารสีเขียวรองรับนโยบายรัฐเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีต่อจากนี้ ทั้งอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว
อาคารสีเขียวในจีนให้ความสนใจกับการออกแบบอาคารแนวกรีนแทนอาคารแนวทางเดิม การดำเนินการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในตัวอาคาร ควบคู่กับการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขอาคารสีเขียวของ LEED
ในการดำเนินการส่วนนี้ ผู้ก่อสร้างและเจ้าของอาคารจึงใช้หลักการเลือกสถานที่ พื้นที่ที่จะสร้างอาคารกรีน จากการส่องสว่างของแสงแดด และทิศทางของแดด การเลือกพื้นที่ใกล้กับระบบการขนส่งสาธารณะ ใกล้ร้านสะดวกซื้อ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ต้องเดินทางไกล


อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญการตลาดระบุว่า ยังมีความยากลำบากและปัญหาในการประเมินและติดตามความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างและพัฒนาอาคารตามนโยบายรัฐในแผ่นดินใหญ่จีนพอสมควร ยกเว้นเจ้าของอาคารจะขอรับการรับรอง LEED หรือมาตรฐานอาคารกรีนของจีนเอง ที่รู้จักกันดีในชื่อของ Green Building Design Label หรือ Three Star ที่ให้ดาวแก่อาคารเป็น 1 ดาว 2 ดาว และ3 ดาว เป็นเงื่อนไขสูงสุด
ความท้าทายที่ยังคงอยู่ในการพัฒนาอาคารสีเขียวในจีน ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะใช้ระบบการออกใบรับรองภายใต้ระบบใดก็ตาม แนวคิดอาคารสีเขียวในจีนไม่ได้มีอิทธิพลต่อตลาดในจีนเสมอไป ซึ่งสอดคล้องกับตามรายงานของ The China Green tech Initiative ที่ร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในจีนกว่า 100 องค์กรชี้ว่าการระบุและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นในการพัฒนากรีนในจีน ยังคงขาดความเข้าใจที่ครบถ้วนและถูกต้องเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารสีเขียว และยังขาดแรงจูงใจที่เพียงพอจนกระทั่งไม่ได้มีอิทธิพลต่อการพัฒนาอาคารสีเขียวในจีนอย่างที่คาดหวังไว้แต่แรก
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ผู้ประกอบการในจีนตัดสินใจกำหนดรูปแบบการก่อสร้างโดยอิงอยู่บนต้นทุนระยะสั้น อย่างเช่น วัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานเป็นสำคัญ แทนที่จะพิจารณาจากมูลค่าตัวเงินที่จะประหยัดได้ในระยะยาว ที่เกิดจาก
(ก) การประหยัดพลังงาน
(ข) เทคนิคการก่อสร้างอาคารสีเขียว
แนวคิดแบบนี้ตรงกันข้ามกับการตัดสินใจด้านรูปแบบการก่อสร้างในสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากช่องว่างขององค์ความรู้ด้านกรีน
ดังนั้น การจะก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปได้ จะต้องมีการทำกิจกรรมและใช้ความพยายามเพิ่มเติมอีกหลายอย่างในจีน และทำให้มองข้ามต้นทุนที่เป็นตัวเงินในช่วงแรกของการก่อสร้างให้ได้
ซึ่งมีการประมาณการว่า โครงการก่อสร้างอาคารสีเขียวในจีน จะใช้เวลา 5-10 ปี ถึงจะคืนทุน ยกเว้นในบางอาคารที่สามารถคืนทุนได้ในเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งในช่วงบุกเบิกธุรกิจอาคารสีเขียวในจีน ผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับต้นทุนโครงการน้อยกว่า นักพัฒนาในระยะหลังๆ ซึ่งหันมาสนใจค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ผลตอบแทนจากการลงทุน อัตราการเช่าพื้นที่ที่สูงกว่า และคิดค่าเช่าสูงกว่า ซึ่งล้วนแต่เป็นผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน จนละเลยผลตอบแทนทางสังคมที่เป็นจุดหมายหลักของการส่งเสริมอาคารสีเขียว
กำลังโหลดความคิดเห็น