เมื่อวัฒนธรรมประจานผ่านโซเชียลมีเดียกำลังแพร่ระบาด ทำให้พักนี้มีเรื่องราวในทางที่ไม่ค่อยจะดีนักเกี่ยวกับการให้บริการของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บ่อยครั้งถูกประจานทั้งภาพทั้งวิดีโอคลิป ทำเอาผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการไปรษณีย์ในการส่งจดหมาย เอกสาร แม้กระทั่งพัสดุไปรษณีย์ก็รู้สึกหวั่นไหวอยู่บ้าง คงไม่ต้องบรรยายว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เพราะหาได้จากสื่อที่นำเสนอข่าวมาโดยตลอดอยู่แล้ว
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ใช้บริการไปรษณีย์มาทั้งชีวิต สมัยมัธยมมีพ่อของเพื่อนที่ทำงานไปรษณีย์ หรือแม้กระทั่งเพื่อนสมัยประถมก็ทำงานไปรษณีย์ แม้จะรู้สึกไม่ค่อยน่าพอใจกับการให้บริการ แต่ก็ยังคงใช้บริการต่อไป อย่างไปรษณีย์สมุทรสาครแถวบ้าน ช่วงหนึ่งจดหมายถูกดองไว้นานเป็นเดือน บางครั้งเอกสารสำคัญก็ไม่ถึงมือ ภายหลังเลยใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการให้ส่งจดหมายและพัสดุสำคัญๆ เช่น ใบแจ้งยอดบัตรเครดิตมาที่ออฟฟิศแทน
แต่เอกสารบางอย่างมักจะส่งมาที่บ้าน โดยไม่สามารถระบุให้ไปส่งที่ออฟฟิศได้ เมื่อที่บ้านไม่ได้ยินเสียงบุรุษไปรษณีย์เรียก เลยได้ใบสีชมพู ต้องเสียเวลาแวะไปที่ไปรษณีย์สมุทรสาคร ซึ่งห่างจากตัวเมืองออกไป 6 กิโลเมตร เพื่อไปรับเอกสารที่นั่นก่อนเข้างานบ่อยครั้ง ภายหลังเพื่อนแนะนำว่าให้บอกบุรุษไปรษณีย์เซ็นรับเองไปเลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลา แต่ผมคงไม่คิดจะทำเช่นนั้น เพราะเคยมีเคสไปรษณีย์ภูเก็ตเซ็นรับเองแล้วขว้างจดหมายเข้าไปในบ้านจนเป็นข่าวมาแล้ว
หรือจะเป็นวันก่อนผมไปทำเรื่องขอใบรับรองผลการศึกษา หรือทรานสคริปต์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยให้ส่งมาที่บ้าน จ่าหน้าชื่อและที่อยู่บนซองของมหาวิทยาลัย เลือกส่งแบบอีเอ็มเอส ปรากฏว่าอีเอ็มเอสมาถึงที่บ้าน หน้าซองบ่งบอกถึงความยับ ภายในซอง ใบทรานสคริปต์สองใบก็ยับตาม ผมเห็นสภาพก็แทบโกรธในใจ โชคดีที่ใบรับรองสภามหาวิทยาลัยตัดสินใจไปรับด้วยตัวเอง เพราะมหาวิทยาลัยออกให้เพียงใบเดียวเท่านั้น หากยับอีกคงได้โกรธเป็นบ้าแน่ๆ
ย้อนกลับไปในช่วงที่ทำงานจัดหน้าหนังสือ มีอยู่ครั้งหนึ่งลูกค้าส่งซีดีข้อมูลจากสุราษฎร์ธานีมาที่บ้าน ปรากฏว่าเช็กสถานะ มาถึงแถวบ้านแล้ว จากนั้นถูกตีกลับไปที่สุราษฎร์ธานีอีก สอบถามไปที่ไปรษณีย์แถวบ้านปรากฏว่าผู้ส่งไม่ได้ใส่เลขหมู่ จึงไม่สามารถส่งได้ ต้องตีกลับต้นทาง ผมก็เลยให้เขาเสียเวลาส่งไปใหม่ บางครั้งถึงขนาดต้องยอมโรคจิตนิดๆ เวลาเช็กสถานะถ้าพัสดุมาถึงไปรษณีย์แถวบ้านแล้ว ก็ต้องรีบไปที่ทำการไปรษณีย์ก่อนที่เขาจะนำจ่ายเพื่อขอรับโดยตรง
กิจการไปรษณีย์เกิดขึ้นมานานถึง 131 ปี นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศสยาม เมื่อปี 2426 จนกระทั่งพัฒนาเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข แปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้ชื่อ การสื่อสารแห่งประเทศไทย แต่เมื่อนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เทียบเท่าภาคเอกชน จึงกลายมาเป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นผู้ดูแลบริการด้านไปรษณีย์ทั้งหมด
เนื่องจากกิจการไปรษณีย์จัดว่าเป็นธุรกิจผูกขาดอันเนื่องมาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 โดยมาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลอื่นรับฝากส่งจดหมาย หรือไปรษณียบัตรโดยทางอื่นนอกจากทางไปรษณีย์ รวมทั้งมาตรา 7 ยังห้ามผู้ทำการรับขนของ หรือคนโดยสารปกติส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตร ถึงกระนั้น เมื่อไปรษณีย์ไทยไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 100 % จึงนับว่าโชคดีที่เวลานี้คงไม่ต้องจ่ายค่าบริการในราคาแพง แต่ก็ต้องเจอบริการอย่างที่เห็น
และด้วย พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ใช้มานานกว่า 80 ปี ราวกับว่าเป็นกิจการสงวนให้เฉพาะภาครัฐ สวนทางกับแนวคิดประชาชนที่ไม่พอใจการทำงานของไปรษณีย์ไทย อยากที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนกิจการไปรษณีย์เป็นของตัวเองบ้าง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคงต้องแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ไปรษณีย์ให้ภาคเอกชนสามารถรับฝากส่งจดหมาย หรือไปรษณียบัตรได้ แต่ถ้าทำแบบนั้นคงหนีไม่พ้นเสียงคัดค้านจากคนไปรษณีย์ไทย ซึ่งมีบุคลากรทั้งประเทศกว่า 2 หมื่นคน โดยหนึ่งในเหตุผลก็คือ ต้องการรักษาองค์กรที่ก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเปรียบเสมือนสมบัติของชาติเอาไว้
วันก่อน คุณมานพ ศรวิบูลย์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไปรษณีย์ไทย เคยชี้แจงว่า ไปรษณีย์ไทยมีการคัดแยกพัสดุและจดหมายออกจากกัน แบ่งออกเป็นแบบธรรมดา แบบลงทะเบียน และแบบด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) ซึ่งปกติจะลำเลียงใส่ถุงขนาดใหญ่เพื่อยกขึ้นรถ น้ำหนักไม่เกิน 30 กิโลกรัม ยกเว้นพัสดุที่มีน้ำหนักสูงจะใช้วิธีการสไลด์แทน
แต่คุณมานพก็ยอมรับว่า ในการจัดส่งพัสดุและจดหมายของไปรษณีย์ไทย มีรถขนส่งที่เป็นของบริษัทเพียงร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทเอกชนที่ชนะประมูลถึงร้อยละ 90 จึงทำให้ยากต่อการควบคุมดูแล แต่ก็มีการกำหนดไม่ให้โยนหรือขว้างพัสดุอยู่แล้ว หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตั้งแต่ตักเตือนถึงเลิกจ้าง
และเมื่อกระแสความไม่พอใจการให้บริการไปรษณีย์ไทยมีมากขึ้น เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารไปรษณีย์ไทยถึงกับเปิดบ้านให้สื่อมวลชนเข้าชมระบบการทำงานของไปรษณีย์ในทุกขั้นตอนก่อนถึงมือผู้รับปลายทาง และสาธิตวิธีการหุ้มห่ออย่างถูกวิธี ที่ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพ (ศูนย์อีเอ็มเอส หลักสี่) ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 พร้อมขออภัยต่อเหตุการณ์และการบริการที่ไม่ประทับใจ
ตามรายงานสถิติปริมาณงานของไปรษณีย์ไทย จากฝ่ายควบคุมคุณภาพของไปรษณีย์ไทย พบว่าปี 2556 ที่ผ่านมา มีปริมาณงานของไปรษณีย์ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 2,166,563,900 ชิ้น หนึ่งในนั้นมีปัญหาถูกร้องเรียนขอสอบสวน 56,179 ชิ้น แบ่งออกเป็น ล่าช้า 2,743 ชิ้น สูญหาย 2,127 ชิ้น เสียหาย 473 ชิ้น ท้ายที่สุดสามารถนำจ่ายได้ปกติ 50,836 ชิ้น ซึ่งผู้บริหารบางคนถึงกับยืนยันว่าตัวเลขความเสียหายสวนทางกับกระแสในโซเชียลมีเดียที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด
ขณะเดียวกัน คุณมานพ ยังให้คำแนะนำว่า ควรหุ้มห่อสิ่งของที่จะฝากส่งให้ถูกต้องและแข็งแรง หากผู้ฝากส่งเลือกใช้กล่องหรือซองที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับสิ่งของที่ฝากส่ง และทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ไปรษณียภัณฑ์จะเสียหายน้อยมาก เช่น การส่งเครื่องสำอาง พระเครื่อง แต่ใส่ซองเอกสาร ถ้าซองขาด ของอาจหลุดเสียหาย หรือสูญหายได้
“การขนส่งขึ้นรถบรรทุกใหญ่ๆ ในบางครั้งพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถอุ้มไปใส่รถทีละถุงได้ เพราะน้ำหนักแต่ละถุง 20-30 กิโลกรัม ผนวกกับการทำงานในเวลาที่เร่งด่วนเพื่อให้ไปรษณียภัณฑ์ทุกชิ้นถูกส่งต่อให้เร็วที่สุด หากมีไปรษณียภัณฑ์ที่แตกหัก เสียหาย พบเป็นความผิดพลาดของไปรษณีย์ไทยจริง ตรวจสอบแล้วผิดจริง ไปรษณีย์ไทยก็มีมาตรการชดใช้ตามบริการในราคาปกติ และบริการรับประกันที่ผู้ฝากส่งเลือกใช้ และหากตรวจสอบพบเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ ก็มีบทลงโทษตั้งแต่การว่ากล่าว ตักเตือน ทัณฑ์บน ตัดเงินเดือน ถึงไล่ออก”
คุณมานพยังยอมรับว่า ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีปริมาณงานที่สูงขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งกระบวนการทำงานของไปรษณีย์ มีระบบลำเลียงซับซ้อน มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องหลายคนหลายขั้นตอนกว่าพัสดุจะถึงมือผู้รับจำนวนพนักงานก็ไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราว (เอาท์ซอส) ความรับผิดชอบและประสิทธิภาพจึงไม่เทียบเท่าพนักงานประจำที่มีประสบการณ์และความชำนาญมากกว่า นำไปสู่ปัญหาด้านการบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับปัญหาต่างๆ อาทิ พัสดุพังเสียหาย นอกจากเจ้าหน้าที่บางคนที่ไม่ใส่ใจระมัดระวังแล้ว ยังต้องพิจารณาไปถึงวิธีการห่อหุ้มพัสดุของผู้ส่ง อาจเลือกใช้กล่องหรือซองที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสมกับสิ่งของที่บรรจุภายใน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแนะนำผู้ฝากส่งทุกครั้ง แต่หากยืนยันจะส่งแบบนี้ ก็จะมีตราประทับบนพัสดุให้เซ็นชื่อ ระบุว่า “ข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายกับการชำรุด/เสียหายที่เกิดขึ้นทุกกรณี เนื่องจากการหุ้มห่อของที่ส่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด”
ส่วนปัญหาพัสดุล่าช้า ปัจจุบันคนนิยมสั่งซื้อของทางออนไลน์กันมาก เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย ผู้ขายมักจะนำสินค้ามาฝากส่งไม่ทันเวลา ทำให้พัสดุที่จะส่งต้องล่าช้าไปอีก 1 วัน และปัญหาพัสดุสูญหายนั้น โดยปกติจะมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานที่เข้มงวด มีหัวหน้างานดูแล และมีกล้องวงจรปิด แต่เกระบวนการลำเลียงขนส่งมีหลายขั้นตอน กระจายไปในหลายพื้นที่ อีกกรณีหนึ่งที่พบบ่อยมากคือจ่าหน้าซองผิด เขียนที่อยู่ไม่ชัดเจน ทำให้ไปไม่ถึงผู้รับ
โดยปกติในกรณีที่จดหมายหรือพัสดุสูญหายหรือเสียหายทั้งหมดเพราะความบกพร่องของไปรษณีย์ ผู้ฝากส่งจะได้รับคืนค่าฝากส่งและค่าบริการพิเศษ รวมทั้งการชดใช้ตามมูลค่าของสิ่งที่บรรจุแต่ไม่เกินอัตราชดใช้สูงสุด ซึ่งก็คือ อีเอ็มเอสไม่เกิน 2,000 บาท พัสดุไปรษณีย์ไม่เกิน 1,000 บาท จดหมายลงทะเบียนไม่เกิน 300 บาท แต่ถ้าหากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง จะมีบริการอีเอ็มเอสแบบรับประกัน โดยมีวงเงินประกันสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งจ่ายค่าธรรมเนียมอัตราสูงสุดรวม 257 บาท
ที่สำคัญ หากเป็นสิ่งของที่มีมูลค่าสูง เช่น โทรศัพท์มือถือ ที่ผ่านมามักจะใส่มือถือลงไปทั้งกล่อง ซ้อนในกล่องพัสดุอีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้นในกระบวนการคัดแยก เมื่อพนักงานบางคนดาจากน้ำหนักกล่องว่าเป็นมือถือก็จะมีการแงะเอาสิ่งของออกไป หลายคนจึงมีวิธีการพรางสิ่งของไม่ให้เห็นว่าเป็นมือถือ โดยใช้วิธีพิสดารทั้งห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ ห่อโฟม ห่อแผ่นกันกระแทกหลายชั้นป้องกันการกดทับ
วันก่อนผมคุยกับเพื่อนที่ทำงานไปรษณีย์ ผมถามถึงเรื่องที่ลูกค้ารายหนึ่งส่งโทรศัพท์ไอโฟน 4 เอส ไปยัง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ผ่านบริการ EMS แล้วปรากฏว่าพอบุรุษไปรษณีย์นำจ่าย เปิดออกมากลายเป็นก้อนหิน เขาตั้งข้อสังเกตว่าหากฝากส่งมือถือรุ่นดังกล่าวจริงทำไมถึงใส่ซองกันกระแทกธรรมดามา เพราะเป็นสิ่งของมีค่า อีกทั้งซองกันกระแทกไม่มีรอยแกะออกมา จึงน่าจะมีพิรุธมาจากต้นทาง แต่ก็ต้องรอดูว่าผลการสอบสวนจะเป็นยังไงต่อไป
ถึงกระนั้นเขายังบ่นกับผมอีกว่า ช่วงนี้ไปรษณีย์โดนโจมตีบ่อย เพราะมีคู่แข่งเยอะ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางรถทัวร์ หรือบริษัทรับส่งสินค้า ส่วนตัวเขาเองนอกจากวันๆ หนึ่งจะต้องนำจ่ายจดหมายแล้ว ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก ต้องหาเวลาหลังเลิกงานไปนั่งขายไปรษณียบัตรอีก กว่าจะขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านก็ค่ำแล้ว
แม้การส่งจดหมายจะยังคงผูกขาดกับไปรษณีย์ไทย แต่สำหรับพัสดุนั้นจะพบว่ามีตัวเลือกในการขนส่งจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าขนาดใหญ่ หรือสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงมาก ยิ่งไปกว่านั้นในกรณีที่เป็นซองเอกสาร แม้ตามกฎหมายจะห้ามไม่ให้บุคคลอื่นรับฝากส่งจดหมาย หรือไปรษณียบัตรโดยทางอื่นนอกจากทางไปรษณีย์ แต่สำหรับการส่งเอกสารไม่มีกฎหมายห้ามไว้ จึงทำให้บริษัทบางแห่งพลิกแพลงบริการส่งเอกสารได้ด้วย
ปัจจุบันมีบริษัทขนส่งที่มีรูปแบบคล้ายคลึงไปรษณีย์ โดยเฉพาะมีเคาน์เตอร์บริการเป็นสาขา และส่งสินค้าถึงผู้รับแบบเคาะประตูบ้าน ตัวอย่างเช่น ปอลอเอ็กซ์เพรส ซึ่งมีสาขาในห้างสรรพสินค้าประมาณ 40 แห่ง หรือ เคอรี่เอ็กซ์เพรส บริษัทสัญชาติฮ่องกง ซึ่งเปิดพาร์เซิล ช้อป 5 สาขาในกรุงเทพฯ และกำลังขยายแฟรนไชส์ไปยังต่างจังหวัด โดยชูจุดเด่นส่งสินค้าถึงที่หมายในวันถัดไป แต่ก็มีบางบริษัทมีปัญหาในการจัดส่งบ่อยครั้ง โดยเฉพาะพัสดุล่าช้านานกว่า 2 วัน
อีกด้านหนึ่ง ยังผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ ที่เปิดบริการรับส่งพัสดุภัณฑ์อย่างจริงจัง เฉกเช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ บขส. เปิดให้บริการรับ – ส่งพัสดุภัณฑ์ ไปกับรถโดยสารในเส้นทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคใต้ (เฉพาะภูเก็ต สมุย หาดใหญ่) โดยเปิดให้บริการสถานีต้นทาง 2 แห่ง คือ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 และสถานีเดินรถรังสิต ส่วนปลายทางมี 2 แห่ง คือ จ.เชียงราย และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
โดยชูคอนเซปต์สามารถรับได้ในวันเดียว แต่ต้องไปรับเองที่สถานีขนส่ง บขส. ไม่มีบริการส่งถึงบ้าน โดยค่าบริการสำหรับส่งซองเอกสาร ราคาเริ่มต้นที่ 50-100 บาท กล่องกระดาษพัสดุคิดตามขนาด ตั้งแต่ 100-300 บาท ถ้าเป็นของมีน้ำหนักชั่งเป็นกิโลกรัม กิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งทาง บขส. แนะนำว่าให้ส่งสินค้าก่อนเวลารถออก 45 นาที กรณีพัสดุภัณฑ์เสียหายหรือสูญหายจะรับผิดชอบชดใช้ วงเงินไม่เกิน 1,000 บาท จึงเหมาะสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงมาก
นอกจากนี้ รถร่วมบริการ บขส. ยังมีบริการรับฝากขนส่งสินค้าตามเส้นทางที่เดินรถเช่นกัน อาทิ นครชัยแอร์ ซึ่งมีบริการตรวจสอบสถานะของฝากส่งผ่านเว็บไซต์ หรือจะเป็นสยามเฟิสท์ทัวร์ ที่มีบริการส่งสินค้าถึงบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ หรือจะเป็นบริษัทอื่น เช่น สมบัติทัวร์ รถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างภูมิภาคอย่างนครชัยทัวร์ ในเส้นทางภาคเหนือถึงภาคอีสาน หรือ รถรุ่งเรือง (มุกดาหาร) ในเส้นทางภาคอีสานถึงภาคตะวันออกและภาคใต้ ฯลฯ
ส่วนสายการบิน ก็มีบริการรับส่งสินค้าตามเส้นทางการบิน และรับสินค้าได้ที่สนามบินปลายทาง โดยสายการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์จะอยู่ที่คลังสินค้าภายในประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนสายการบินนกแอร์อยู่ที่คลังสินค้าการบินไทยเก่า ติดกับอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยเฉพาะการบินไทย หากต้องการส่งสินค้าถึงที่หมาย ก็มีบริการพิเศษที่ชื่อว่า ไทย เอกซเพรส คาร์โก้ โดยคิดเพิ่มตามระยะทาง ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ในการบรรทุกขึ้นเครื่องก่อนสินค้าประเภทอื่น
โดยกระบวนการในการจัดส่งจะต้องส่งสินค้าไปที่คลังสินค้าก่อนเที่ยวบินออกประมาณ 2 ชั่วโมง โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที หลังจากนั้นจะใช้เวลาเคลียร์สินค้าขาออกประมาณ 30 นาที ก่อนที่จะทำการส่งมอบสินค้าให้กับผู้รับที่สนามบิน หรือสำนักงาน ซึ่งจะต้องแจ้งปลายทางให้ทราบเพื่อเตรียมรับสินค้า เหมาะสำหรับสินค้าที่ต้องการความเร่งด่วน หรือสินค้าประเภทสัตว์เลี้ยง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะแยกกับสินค้าขนาดใหญ่ต่างหาก แต่ต้องบรรจุหีบห่อให้ดี
แม้สายการบินไทยแอร์เอเชียจะไม่มีบริการรับส่งสินค้าโดยตรง แต่ภายหลังได้ร่วมกับไปรษณีย์ไทยให้บริการ อีเอ็มเอส ซูเปอร์สปีด โดยส่งเอกสารหรือสิ่งของให้ถึงผู้รับใน อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ จ.ภูเก็ต และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภายในวันเดียวกัน อธิบายคร่าวๆ ก็คือ คิดค่าบริการเริ่มต้นไม่เกิน 1 กิโลกรัม 150 บาท, ไม่เกิน 2 กิโลกรัม 250 บาท, ไม่เกิน 3 กิโลกรัม 350 บาท ส่งได้สูงสุดไม่เกิน 20 กิโลกรัม 1,055 บาท
ผู้ใช้บริการจะต้องส่งพัสดุก่อน 10.30 น. จากที่ทำการไปรษณีย์ 17 แห่งในกรุงเทพฯ หรือส่งที่ทำการไปรษณีย์สนามบินดอนเมืองก่อน 11.30 น. โดยต้องระบุหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับและผู้ส่งปลายทาง จากนั้นจะส่งไปยังอาคารคลังสินค้า ทำการสแกนก่อนนำขึ้นเครื่องเที่ยวบินช่วงเวลา 14.00 น. เมื่อถึงสนามบินปลายทาง เจ้าหน้าที่ศูนย์ไปรษณีย์จะรับพัสดุก่อนโทรศัพท์ติดต่อผู้รับเพื่อนัดเวลาส่ง และนำส่งก่อนเวลา 20.30 น. หรือสามารถเลือกรับที่สนามบินก็ได้
อย่างไรก็ตาม แม้จากประสบการณ์ในการขนส่ง ไปรษณีย์ไทยดูเหมือนว่าจะได้เปรียบตรงที่เป็นคนรับส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตรตามบ้านเรือนและบริษัทห้างร้านโดยตรง ซึ่งเชื่อว่ายังมีประชาชนสะดวกที่จะใช้บริการอยู่ แต่เสียงความไม่พอใจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีของหาย ของชำรุด รวมกับมีผู้ประกอบการขนส่งพัสดุสินค้าจากภาคธุรกิจอื่นเข้ามาแข่งขันโดยตรง ไปรษณีย์ไทยอาจต้องปรับตัว และปรับปรุงบริการเพื่อแข่งขันกับธุรกิจเหล่านี้ในอนาคต
ขณะเดียวกัน เมื่อผู้ส่งได้รับประสบการณ์แย่ๆ จากไปรษณีย์ไทย หากผู้บริโภครู้สึกว่ามีตัวเลือกในการขนส่งเอกสาร พัสดุ หรือสินค้าที่ดีกว่า แม้จะแพงกว่าส่งทางไปรษณีย์ แต่ได้รับความปลอดภัย ไม่สูญหายและเสียหายมากกว่า จึงเป็นสิ่งที่ไปรษณีย์ไทยมองข้ามไม่ได้ต่อปฏิกิริยาของลูกค้าเช่นกัน ไม่เช่นนั้นหากต้องแข่งขันกับคนอื่น แม้จะไม่เจ๊งแต่ก็ต้องสูญเสียรายได้ไปจากความเชื่อมั่นของลูกค้าไม่น้อยเลยทีเดียว