xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน ทอ. เดินหน้ามุ่งสร้างความยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


•ติดตามความเคลื่อนไหวด้านพลังงานทดแทนของกองทัพอากาศ
•เผย 4 โครงการสำคัญคืบหน้าเกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
•ย้ำเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนผลิตและใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ2 ในปี 2560 ผ่าน 3 ตัวชี้วัด

คณะกรรมการพลังงานทดแทน กองทัพอากาศ ได้กำหนดทิศทางการดำเนินการพลังงานทดแทน ตามแนวทางโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้กำหนดกรอบทิศทางการดำเนินการดังกล่าวในยุทธศาสตร์ กองทัพอากาศ พ.ศ.2551 ถึง 2562 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2552 และ 2557) โดยมีวิสัยทัศน์เป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค ซึ่งมีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่สองด้านการเสริมสร้างสมรรถนะและความพร้อมในการป้องกันประเทศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุง ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานสำรองทั้งในยามปกติและในยามขาดแคลนพลังงาน รวมทั้งมุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงานทุกรูปแบบ

สำหรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ พ.ศ.2556-2560 เพื่อเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และสามารถติดตามการดำเนินการปฏิบัติเป็นรูปธรรม อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทน
2. ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทน
3. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน
4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานทดแทน
5.ยุทธศาสตร์การจัดการองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทน

โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ คือ การเพิ่มสัดส่วนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนให้เป็นร้อยละ 2 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของกองทัพอากาศภายใน พ.ศ.2560 โดยมี 3 ตัวชี้วัด ดังนี้ คือ1.พลังงานไฟฟ้าทดแทนต่อพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด 2.ปริมาณแก๊สชีวภาพที่ผลิตได้ต่อปริมาณแก๊สที่ใช้ทั้งหมด 3.ปริมาณไบโอดีเซลที่ผลิตได้ต่อปริมาณแก๊สที่ใช้ทั้งหมด (ดูตารางประกอบ)
กังหันลมขนาด 5 กิโลวัตต์ ที่สถานีรายงานเขาเขียว
ติดตามผล 4 โครงการพลังงานทดแทนของกองทัพอากาศ 4 ด้าน ประกอบด้วย พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอากาศยานของกองทัพอากาศ มีความคืบหน้า ดังนี้

พลังงานลม
ในส่วนของ “พลังงานลม” ในปัจจุบันกองทัพอากาศได้เริ่มดำเนินการทดลองติดตั้งระบบกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการศึกษาเรียนรู้การทำงานของระบบกังหันลมในพื้นที่ของกองทัพอากาศในภาคใต้ 3 แห่ง ประกอบด้วย 1) สถานีรายงานสมุยติด ตั้งกังหันลมขนาด 2.4 กิโลวัตต์ จำนวน 3 ชุด 2) สถานีรายงานภูเก็ต ติดตั้งกังหันลมขนาด 2.4 กิโลวัตต์ จำนวน 3 ชุด และ 3) สถานีรายงานเขาเขียว ติดตั้งกังหันลมขนาด 5 กิโลวัตต์ จำนวน 5 ชุด โดยทั้ง 3 แห่ง เป็นการติดตั้งกังหันลมแบบเชื่อมต่อกับระบบสายส่งเพื่อใช้โหลดไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่นั้นๆ

นอกจากนี้ กองทัพอากาศได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอาคารพลังงานด้านต่างๆ รวมทั้งอาคารลมของศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ ได้ติดตั้งกังหันลมขนาด 1 กิโลวัตต์ จำนวน 3 ชุดแบบประจุเข้าแบตเตอรี่ พ่วงกับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 16 กิโลวัตต์ เป็นการติดตั้งกังหันลมทำงานร่วมกับระบบโซลาร์เซลล์ หรือที่เรียกว่า “ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานพลังงานลมและแสงอาทิตย์” เพื่อสาธิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและนำไฟฟ้ามาใช้พื้นที่ของในศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ รวมทั้ง ศึกษาการทำงานระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานพลังงานลมและแสงอาทิตย์ (Hybrid System)

ในส่วนของชุดกังหันลมที่ติดตั้งแต่ละชุดมีระบบควบคุมการทำงานของกังหันลมทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้เป็นกระแสตรงและประจุไฟฟ้าไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ โดยพลังงานที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่เมื่อจะนำไปใช้จะต้องผ่านเครื่องแปลงไฟฟ้ากระแสตรงให้เป็นกระแสสลับ ก่อนถูกนำไปใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในอาคารบ้านตัวอย่างของศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ

ทั้งนี้ จากการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงาน ได้ศึกษาแหล่งศักยภาพลังงานลม รวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนที่ลม (Wind Map) พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีศักยภาพความเร็วลมต่ำ โดยในแผนที่ศักยภาพพลังงานลมของประเทสไทยพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในพื้นที่สีเขียวเข้ม เขียวอ่อน และเหลือง โดยแหล่งศักยภาพพลังงานลมที่ดีของประเทศไทยคือ บริเวณโซนพื้นที่สีแดงในแผนที่ศักยภาพพลังงานลม ซึ่งจะพบได้ที่ภาคใต้บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ตามแนรวชายฝั่งทะเลสาบสงขลา จากข้อมูลการศึกษาของภาคเอกชนยังค้นพบว่า พื้นที่จังหวัดลพบุรี นครราชสีมา และชัยภูมิ ยังมีศักยภาพด้านพลังงานลม ที่ดี เหมาะสำหรับการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์

คณะอนุกรรมการพลังงานทดแทนด้านพลังงานลมจึงได้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมในพื้นที่อยู่ในการดูแลของกองทัพอากาศที่มีศักยภาพพลังงานลม โดยอาศัยโปรแกรม Wind Map สำรวจหาพื้นที่ที่มีศักยภาพ และนำชุดอุปกรณ์วัดสภาพอากาศไปทำการติดตั้งและบันทึกข้อมูลความเร็วลม เพื่อศึกษาหาพื้นที่ที่มีศักยภาพ ความเหมาะสมในการดำเนินโครงการติดตั้งกังหันลมของกองทัพอากาศต่อไปในอนาคต
Stand-alone system 75 kW.ณ สถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมภูกระดึง
พลังงานแสงอาทิตย์

คณะอนุกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ตามแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ พ.ศ.2553-2568 โดยสำรวจพื้นที่ตามความเหมาะสม และดำเนินการเก็บข้อมูล เพื่อรองรับโครงการในการดำเนินการติดตั้งแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินงานเริ่มตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการติดตั้งทั้งในที่พื้นที่ราบ ณ กองบินต่างๆ และพื้นที่ในส่วนที่กองทัพอากาศรับผิดชอบที่ไม่มีไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าถึง เช่น สถานีรายงาน สถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมต่างๆ เป็นต้น

โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ ใช้ทดแทนไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและไฟฟ้าส่วนหนึ่งถูกประจุเก็บในแบตเตอรี่ไว้ใช้เป็นไฟฟ้าสำรองสำหรับใช้ในเวลากลางคืน สำหรับโครงการของกองบินต่างๆ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกแปลงแล้วส่งจ่ายเข้าสายส่ง และไฟฟ้าส่วนหนึ่งถูกประจุเก็บในแบตเตอรี่ไว้ใช้เป็นไฟฟ้าสำรองสำหรับไฟฟ้าแสงสว่างภายในกองบิน ในกรณีที่ไฟฟ้าจากสายส่งเกิดขัดข้อง

จุดเด่นอีกข้อก็คือ การติดตั้งใช้งานเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์กับสถานีรายงานที่ตั้งอยู่บนภูเขา เช่น สถานีรายงานดอยอินทนนท์ (สร.ดอยอินทนนท์) สถานีรายงานภูหมันขาว (สร.ภูหมันขาว) สถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมภูกระดึง (สถทค.ภูกระดึง) ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น โดยเครื่องทำน้ำร้อนจะดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์และผลิตน้ำร้อนและเก็บไว้ในถังเพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใช้ได้ตลอดเวลา

ผลที่ได้จากการดำเนินการ ทำให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อีกทั้ง ยังช่วยลดมลภาวะอันเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ปัจจุบันรวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 273 กิโลวัตต์ ปริมาณไฟฟ้ารวม (ณ 31 ม.ค. 56) ได้ทั้งสิ้น 679,905 ยูนิต โดยในปี 2557 นี้มีแผนการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 6 แห่งคือ โรงเรียนการบิน, กองบิน 5, กองบิน 21, กองบิน 41, กองบิน 46 และกองบิน 56 รวมกำลังผลิต 30 กิโลวัตต์
เครื่องผลิตก๊าซชีวภาพ ขนาด 100 กก.แบบขั้นตอนเดียว (One Stage) ชนิดถังแยก
พลังงานชีวมวล

สำหรับ “พลังงานชีวมวล” คณะอนุกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศด้านพลังงานชีวมวล โดยกรมขนส่งทหารอากาศ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ศึกษาและดำเนินการในการนำเชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้จากพืชและสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ในรูปแบบพลังงานความร้อนซึ่งได้ติดตั้งเครื่องผลิตก๊าซชีวภาพที่ใช้เศษอาหารขยะเปียกเป็นวัตถุดิบและเครื่องผลิตก๊าซชีวมวลที่ใช้เศษกิ่งไม้เป็นวัตถุดิบโดยกองบินต่าง ๆ ที่เป็นเป้าหมายด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ดังนี้

1. เครื่องผลิตก๊าซชีวภาพ ขนาด 40 กก. ติดตั้งและใช้งาน ณ กองบิน 1, กองบิน 2, กองบิน 4,กองบิน 21, กองบิน 23, กองบิน 41 และโรงเรียนการบิน 2.เครื่องผลิตก๊าซชีวภาพขนาด 100 กก. ติดตั้งและใช้งาน ณ กองบิน 46 และกรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์ 3.เครื่องผลิตก๊าซชีวมวล ติดตั้งและทดลองใช้งาน ณ กองบิน 1, กองบิน 4, กองบิน 21, กองบิน 23 และกองบิน 41
วิจัยและพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ เพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานชนิด JET A-1 และ JP-8
น้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอากาศยาน
นอกจากนี้ “โครงการวิจัยและพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอากาศยานของกองทัพอากาศ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์
เพื่อวิจัยและพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ เพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานชนิด JET A-1 และ JP-8 ขึ้นในประเทศ เพื่อความมั่นคงทางทหาร และความมั่นคงทางพลังงานของชาติอย่างยั่งยืนในอนาคต มีผลสำเร็จจากการที่สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ ที่มีคุณสมบัติด้านการเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานเทียบเท่าน้ำมัน JP-8 และผสมรวมกับน้ำมัน JP-8 ในอัตราส่วน 50:50 ซึ่งเป็นอัตราส่วนสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ในการบินสากล

ผลการทดสอบคุณสมบัติและเปรียบเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐานสากล พบว่าคุณสมบัติ ความเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญ ได้แก่ ค่าพลังงานความร้อน จุดวาบไฟ ค่าความหนาแน่น ค่าความถ่วงจำเพาะ ใกล้เคียงกับน้ำมันอากาศยานตามมาตรฐานสากล หรือ MIL-DTL-83133 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

การทดสอบการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์กับเครื่องยนต์ทดสอบ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ผลการทดสอบการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์กับเครื่องยนต์ทดสอบ สรุปได้ว่า ค่าแรงบิด อุณหภูมิท่อท้าย อัตราการไหล เวลาติดและเวลาดับเครื่องยนต์ จากการใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (RTAF BIO-JET FUEL) ค่าที่ได้ใกล้เคียงกับ JP-8 การใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (RTAF BIO-JET FUEL) ตลอดเวลาการทดสอบ ไม่พบผลกระทบที่จะทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหาย และมีอัตราการสิ้นเปลืองน้อยกว่า JP-8 ร้อยละ 29

ที่สำคัญ กองทัพอากาศได้รับองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานในด้านการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ ด้วยกระบวนการไฮโดรโพรเซสซิ่งเท่าทันกับเทคโนโลยีด้านนี้ของต่างประเทศ ซึ่งมีการขยายผลอย่างกว้างขวางเพื่อนำไปสู่การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต และกองทัพอากาศสามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ เพื่อการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ เป็นการเตรียมการลดผลกระทบต่อภารกิจด้านยุทธการอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ด้านพลังงาน และภัยสงครามในอนาคต

โดยสามารถบูรณาการความรู้ความสามารถของบุคลากรของกองทัพอากาศ และความเชี่ยวชาญของนักวิจัยจากสถาบันอื่น ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน อีกทั้ง สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศมาใช้ให้เต็มศักยภาพ ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ รวมถึง เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทัพอากาศและกระทรวงกลาโหม ในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากทรัพยากรบุคคลของกองทัพอากาศเองและนักวิจัยในประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางทหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น