xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคาร มันติดขัดตรงไหนจะแก้ไขอย่างไร? / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
ภาพนี้เป็นมุมหนึ่งของหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อ Wildpolsried มีประชากร 2,600 คน จาก 1,900 ครอบครัว ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี เป็นหมู่บ้านที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าที่ตนเองใช้ถึง 321% โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม 7 ตัว โรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 5 โรง ซึ่งทั้งหมดเป็นทรัพยากรในชุมชน มูลค่าไฟฟ้าที่ขายให้แก่การไฟฟ้าปีละประมาณ 170 ล้านบาท
 

 
ความน่าสนใจของหมู่บ้านนี้มีหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาหมู่บ้านเมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งผมได้เคยนำมาเล่าไว้ในคอลัมน์ “โลกที่ซับซ้อน” แล้ว น่าจะเป็นหมู่บ้านที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการพลังงานแบบพึ่งตนเองได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ในบทความนี้ ผมจะขอลงรายละเอียดในเรื่องความเป็นไปได้ของการติดแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นคำถามที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า (1) ต้องลงทุนเท่าใด จะคุ้มทุนในกี่ปี (2) ติดขัดปัญหาอะไรทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีแสงแดดเข้มกว่าประเทศเยอรมนี และ (3) จะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร

แต่ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว ต้องขอเรียนว่า ผมไม่ใช่วิศวกร และไม่มีประสบการณ์ตรงในการติดตั้งแผงดังกล่าว ผมเป็นนักคณิตศาสตร์ที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนไหวทางสังคม ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาจากเอกสาร การอบรมดูงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับการจุดประกายทางความคิดที่ได้ฟังการบรรยายโดย ดร.เฮอร์มันน์ เชียร์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นฮีโร่สีเขียว แห่งศตวรรษ เมื่อปี 2547

คำถามที่หนึ่ง ต้องลงทุนเท่าใด จะคุ้มทุนในกี่ปี

ถ้าที่บ้านท่านมีไฟฟ้าใช้อยู่แล้ว และใช้ไฟฟ้าไม่มาก ผมไม่สนับสนุนให้ติดตั้งครับ แต่ถ้าเป็นสำนักงาน หรือสถาบันการศึกษาที่ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมากอาจมีความเป็นไปได้ แต่ต้องศึกษาให้ละเอียดก่อนการตัดสินใจ ในกรณีที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และอยู่ไกลจากสายส่งก็มีความจำเป็นครับ

เหตุผลสำคัญในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ คือต้องผลิตเพื่อขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้า ไม่ใช่ผลิตเพื่อใช้เอง เมื่อถึงคราวที่เราจะใช้ไฟฟ้า เราก็ต้องซื้อคืนมาจากระบบสายส่ง เพราะไฟฟ้าที่เราผลิตได้เองอาจจะไม่เพียงพอต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีวัตต์สูง เช่น เครื่องปรับอากาศ กาต้มน้ำ เป็นต้น

แต่ถ้าไฟฟ้าที่เราผลิตได้รายละเล็กรายละน้อย เมื่อถูกส่งไปรวมกันในระบบสายส่งก็จะกลายเป็นจำนวนมากจึงสามารถนำไปใช้งานได้ตามปกติ ดังนั้น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้องรับซื้อไฟฟ้าที่ชาวบ้านผลิตได้เท่านั้น

บทเรียนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเคยใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 21,000 บาท แต่หลังจากได้ติดตั้งขนาด 11 กิโลวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 1.5 ล้านบาท ค่าไฟฟ้าได้ลดลงมาเหลือ 13,000 บาท คือลดลงได้ 8,000 บาทต่อเดือน ถ้าคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของเงินลงทุนก็เท่ากับร้อยละ 6.4 ต่อปี

ผลตอบแทนดังกล่าวสูงกว่าอัตราเงินฝากประจำของธนาคารในปัจจุบัน (อยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปี) ทั้งๆ ที่ไฟฟ้าบางส่วนที่ผลิตได้ในวันหยุดทำงานของมูลนิธิฯ ทางการไฟฟ้าได้รับไปโดยไม่มีการจ่ายเงิน

มาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่า ทำไมผมจึงได้ตั้งชื่อบทความว่า “เปลี่ยนหลังคาเป็นธนาคาร” นี่ขนาดว่ายังไม่มีการชดเชยราคา และเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างแพงเพราะติดมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลเก่าแล้ว เพราะโดยเฉลี่ยแล้วราคาอุปกรณ์จะลดลงเฉลี่ยปีละ 10-15%

ปัจจุบัน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยได้มีโครงการ “พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop)” โดยจะส่งเสริมให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จำนวน 200 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นอาคารบ้านอาศัย 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจ 100 เมกะวัตต์ โดยจะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้าน ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง-ใหญ่ ในราคาหน่วยละ 6.96, 6.55 และ 6.16 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ตามลำดับ ในขณะที่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ที่บ้านผมราคาหน่วยละ 3.88 บาท (ใช้ 141 หน่วย หรือวันละประมาณ 5 หน่วย เคยใช้สูงสุด 263 หน่วยในหน้าร้อน)

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำประกาศนี้ได้ประกาศให้ผู้สนใจยื่นคำขอภายในวันที่ 23 กันยายน ถึง 11 ตุลาคม 2556 (รวม 15 วันทำการ) โดยจะต้องติดตั้งเพื่อให้สามารถขายไฟฟ้าได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2556

ผมไม่ทราบว่า โครงการดังกล่าวได้เริ่มประกาศเมื่อใด แต่การกำหนดวันยื่นคำขอกับวันกำหนดเดินไฟฟ้าให้ห่างกันเพียงแค่ 80 วัน ทั้งๆ ที่เป็นการติดตั้งบนหลังคาซึ่งต้องใช้เวลา ต้องใช้ช่างจำนวนมาก ถ้าคิดว่าหลังละ 10 กิโลวัตต์ ถ้าให้ครบตามเป้าหมายโครงการคือ 200 เมกะวัตต์ ต้องใช้อาคารถึง 2 แสนหลัง จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมต้องรีบเร่งถึงขนาดนี้ เพราะปกติมักจะอืดเหมือนเรือเกลือ

วันที่เขียนบทความนี้ บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้บอกผมว่า โครงการนี้ยังดำเนินการไม่ได้เลย เพราะต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงาน (ที่เรียกว่า รง4) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทางกรมฯ ยังไม่ได้อนุญาต

ต่อไปจะพูดถึงหลักการคิดว่า ถ้าจะติดตั้งควรจะติดตั้งขนาดเท่าใด ลงทุนเท่าใด และกี่ปีจึงจะคุ้มทุน โดยคิดเฉพาะราคาไฟฟ้าบนหลังคาบ้านหน่วยละ 6.96 บาท

โดยปกติ กำลังผลิตของแผงโซลาร์เซลล์จะขึ้นอยู่กับพื้นที่รับแสงแดดบนหลังคา และคุณภาพของแผง ค่าเฉลี่ยของแสงแดดในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้วันละ 5.05 หน่วยต่อตารางเมตร (kwh ต่อตารางเมตร) ในขณะที่เยอรมนีได้เพียง 3.44 kwh ดังแผนภาพประกอบ) ดังนั้น ในเชิงทฤษฎี ถ้าเรามีอุปกรณ์ที่สามารถแปลงพลังงานแสงแดดให้มาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ทั้งหมด พื้นที่ 1 ตารางเมตรก็เพียงพอสำหรับการใช้ 5.05 หน่วยแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงขนาดนั้น จึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากขึ้น
 

 
เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการติดแผงโซลาร์เซลล์ก็เพื่อขายไฟฟ้าเป็นสำคัญ (และเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วย) ดังนั้น วิธีคิดว่าจะติดตั้งขนาดเท่าใดก็ต้องให้เหมาะสมกับขนาดของบ้าน และกำลังเงินลงทุน

จากข้อมูลที่ผมค้นได้จากบริษัทรับติดตั้ง (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) พบว่า แผงรุ่นหนึ่งจำนวน 12 แผงมีขนาดพื้นที่รวมกัน 24 ตารางเมตร (หรือกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร) มีกำลังผลิตตามศักยภาพได้ 3.6 กิโลวัตต์ ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 270,000 บาท รวมค่าติดตั้งแล้ว ตีเป็นว่ารวมทุกอย่างที่ 294,000 บาท (หมายเหตุ อย่าลืมว่าราคาอุปกรณ์จะลดลงประมาณปีละ 10-15%)

พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้วันละ 3.6X5.04 หรือ 18.14 หน่วย แต่พลังงานส่วนนี้จะสูญเสียไปเป็นพลังงานความร้อน 20% คงเหลือพลังงานไฟฟ้าวันละ 14.51 หน่วย หรือเดือนละ 435 หน่วย ปีละ 5,298 หน่วย (บ้านผมใช้เฉลี่ยเดือนละ 180 หน่วย)

ถ้าการไฟฟ้าฯ รับซื้อหน่วยละ 6.96 บาท บ้านหลังนี้ก็จะมีรายได้ปีละ 36,874 บาท ดังนั้น เมื่อครบ 8 ปี ก็จะได้ทุนคืนทั้งหมด (หมายเหตุ เอกสารของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานคำนวณได้ว่าจะคุ้มทุนใน 9 ปี โดยที่อายุการใช้งานของแผงนานถึง 25 ปี) ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนรายปีก็ประมาณร้อยละ 12.5 ของเงินลงทุน

อนึ่ง คนในวงการสภาอุตสาหกรรมได้เล่าให้ที่ประชุมเล็กๆ แห่งหนึ่งฟังว่า การทำโซลาร์ฟาร์มซึ่งติดตั้งบนพื้นดินของบริษัทพลังงานจะสามารถได้ทุนคืนในเวลา 4 ปีเท่านั้น (ตอนนั้นการไฟฟ้าฯ รับซื้อในราคาหน่วยละ 8-12 บาท) ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าชนิดนี้จึงเป็นที่หมายปองของบริษัท แต่กับประชาชนธรรมดาๆ รัฐบาลกลับกีดกัน 

คำถามที่สอง ติดขัดปัญหาอะไร

ตามที่ได้เรียนแล้วในคำถามแรกว่า ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ออกใบอนุญาตให้ติดตั้ง เพราะทางกรมโรงงานถือว่า พลังงานที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์มีขนาดเทียบเท่ากับเครื่องจักรที่มีขนาด 3.7 แรงม้า เนื่องจากเครื่องจักรจะทำให้เกิดเสียงดังรบกวนชาวบ้านข้างเคียง แต่แผงโซลาร์เซลล์ไม่มีเสียงครับ ผมจึงไม่เข้าใจ เมืองไทยเรามีเรื่องเชยๆ แบบนี้เยอะครับ

ความจริงแล้วหลักการจ่ายเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (หรือพลังงานที่ใช้แล้วไม่มีวันหมด) เป็นหลักการที่ใช้จนประสบผลสำเร็จมากที่สุดในโลกก็คือ ประเทศเยอรมนี ที่ริเริ่ม และผลักดันโดย ดร.เฮอร์มันน์ เชียร์ แต่ประเทศไทยเราเอามาใช้ไม่ครบองค์ประกอบ และเพี้ยนไป หลักการของเยอรมนีมี 3 ข้อง่ายๆ คือ

ข้อที่ 1 ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อน (Feed In) กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อนและไม่จำกัดจำนวน

ข้อที่ เป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 20-25 ปี

ข้อที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (บ้าง) ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

การไปจำกัดจำนวนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของไทยจึงเป็นการฝ่าฝืนหลักการสำคัญในข้อแรกครับ

คำถามที่สาม จะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร

ถ้าว่ากันอย่างกว้างๆ คือ ยึดตามรัฐธรรมนูญ 2550 หมวดว่าด้วย แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 วรรค 5 “เพื่อให้การจัดทำและเพื่อให้การบริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน” 

ผมมั่นใจว่าโครงการ พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ของรัฐบาลในครั้งนี้นั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือประเด็นหลักการของโครงการที่ขัดแย้งกันเองระหว่างวัตถุประสงค์กับวิธีการ (แต่ขอไม่ลงรายละเอียด)

วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดซึ่ง ดร.เฮอร์มันน์ ได้สรุปไว้ว่า ต้องให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาแล้วประชาชนจะร่วมกันรณรงค์ด้วยตัวเอง

ในทัศนะของผมแล้วเรื่องไฟฟ้ามีหลายปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่สิทธิชุมชน มลพิษ สภาวะโลกร้อน การกระจายรายได้ การจ้างงาน รวมถึงการคอร์รัปชัน แต่ในที่นี้ผมขอกล่าวถึง 2 ปัญหา คือ

หนึ่ง ปัญหาสุขภาพ ขณะนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินนับ 10 โรงกำลังบุกอาละวาดในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคใต้ ถ้าเราส่งเสริมโซลาร์เซลล์กันอย่างจริงจังก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่

สอง ทำไมเราไม่กระจายการลงทุนไปให้ประชาชนบ้าง จากหลักคิดในคำถามข้อที่ 2 พบว่า ผลตอบแทนจากการติดแผงโซลาร์เซลล์จะให้ผลตอบแทนสูงกว่านำเงินไปฝากธนาคาร ทำไมนโยบายของรัฐบาลจึงปิดกั้นการเปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคารด้วยเล่า? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้เกษียณอายุ ที่มีเงินเหลือบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ต้องนำไปฝากธนาคารที่ได้ผลตอบแทนในอัตราที่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานจำนวนมาก ทำไมไม่เปิดโอกาสให้เขาตั้งธนาคารบนหลังคาบ้านของตนเอง อาจมีผู้ท้วงติงว่า การติดโซลาร์เซลล์จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ก็จริงครับ แต่ไม่มากอย่างที่เรารู้สึกครับ จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว สมมติเราส่งเสริมให้อาคาร 1 ล้านหลังติดแผงโซลาร์เซลล์ หลังละ 3.6 กิโลวัตต์ (รวม 3,600 เมกะวัตต์ คิดเป็น 15% ของกำลังการติดตั้งในประเทศเยอรมนีปี 2554 ไม่ใช่แค่ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งยังทำไม่ได้) ก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากหน่วยละ 4 บาท เป็น 4.08 บาทเท่านั้น

คำถามคือ เรายอมเสียเงินเพิ่มขึ้นหน่วยละ 8 สตางค์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และแหล่งทำมาหากิน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวของชาวชนบทได้ไหม ทำไมเรายอมเสียค่าเอฟทีซึ่งไม่ค่อยจะมีความโปร่งใสถึงหน่วยละ 83.19 สตางค์ได้

ผมขอจบบทความนี้ด้วย 2 ภาพครับ ภาพแรกเป็นข้อมูลความก้าวหน้าของประเทศเยอรมนี เราจะเห็นว่าทุกครั้งที่นโยบายดีๆ ของรัฐบาลออกมา จะมีการติดแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยที่เกินครึ่งหนึ่งของเจ้าของอาคารเป็นพลเมืองและชาวนา ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในปี 2556 ได้ถึง 29,300 ล้านหน่วย ในขณะที่ประเทศไทยใช้ทั้งหมด 170,000 ล้านหน่วย
 

 
สำหรับภาพที่ 2 เชิญดูครับ พร้อมแหล่งที่มา ขอบคุณครับ
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น