xs
xsm
sm
md
lg

Thailand Robot@Home Championship 2014 ตอบเทรนด์สังคมผู้สูงวัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กำลังสั่งงานหุ่นยนต์ด้วยเสียงภาษาอังกฤษเพื่อทำภารกิจ Follow Me
ปิดฉากลงเรียบร้อยสำหรับการแข่งขัน Thailand Robot@Home Championship 2014 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลกว่าหนึ่งล้านบาท โดยปีนี้เน้นเรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุ” ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยไทยในอนาคต
เอสซีจี ร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ หรือ Thailand Robot@Home Championship 2014 เป็นปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมทักษะและพัฒนาความสามารถของเยาวชนไทยด้านการประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อให้บริการและช่วยเหลืองานต่างๆ ภายในบ้านให้สามารถใช้ประโชยน์ได้จริง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมของมนุษย์โดยรวม
ทำภารกิจหยิบจับและส่งของ
ถ้วยรางวัลในปีนี้
ในปีนี้ มีนักศึกษา 8 ทีมจาก 8 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยผู้เข้าแข่งขันต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่อยู่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลืองานบ้านและแบ่งเบาภาระให้กับมนุษย์ได้หลายรูปแบบ ผ่านการทำภารกิจต่างๆ เช่น การเคลื่อนที่หลบสิ่งกีดขวางไปยังเป้าหมายที่กำหนดด้วยคำสั่งเสียง การจดจำลักษณะของคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน การส่งและรับสิ่งของ ไปจนถึงการคิดค้นความสามารถเฉพาะตัวในการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่งปีนี้ได้จัดการแข่งขันในบรรยากาศสมจริง ณ SCG Experience
“เอสซีจีเชื่อมั่นว่าเด็กไทยมีทักษะและความสามารถไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลก”
ธนวงษ์ อารีรัชชกุล
ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า "ความสำเร็จของการจัดแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และทีมเยาวชนไทยที่สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาหลายสมัย เอสซีจีเชื่อมั่นว่าเด็กไทยมีทักษะและความสามารถไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลก โดยเรามั่นใจว่าสิ่งประดิษฐ์จากเด็กไทยมีความเป็นไปได้มากที่จะใช้งานได้จริงในอนาคต และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่พวกเขาพัฒนาขึ้นจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาว เอสซีจีจึงจัดงานประกวดหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยและต่อยอดองค์ความรู้สู่การนำไปประยุกต์ใช้จริงในอนาคต"
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์
ด้าน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขัน บอกว่าโจทย์การแข่งขันจะเพิ่มความยากขึ้นทุกปี จะเป็นโจทย์ที่ต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปีนี้ เห็นได้ชัดว่าหุ่นยนต์ของแต่ละทีมฉลาดขึ้น และมีรูปร่างหน้าตาที่สวยขึ้น สมบูรณ์ขึ้นมาก
“เป้าหมายที่แท้จริงของการประกวดหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะนั้น เราไม่ได้มุ่งหวังเพียงการสร้างและพัฒนาตัวหุ่นยนต์ แต่นี่คือเวทีที่สร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพ ทั้งในด้านการวิเคราะห์ แก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม การแข่งขันครั้งนี้ มีน้องๆ สมัครมามากถึง 200 กว่าคน นั่นหมายความว่าเราได้สร้างทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพขึ้นมากมายในแต่ละปี”
ทีมดงยาง จากมอ.และทีมทูไอดีอาร์ จากมจพ. คว้าแชมป์ร่วม Robot@Home 2014 ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
ได้ทีมผู้ชนะเลิศ 2 ทีมร่วมกัน
ผลการแข่งขันในปีนี้ ได้ทีมรับรางวัลชนะเลิศ 2 ทีมร่วมกัน ได้แก่ ทีม Dong Yang (ดงยาง) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และ ทีม 2IDR (ทูไอดีอาร์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครอง พร้อมทุนการศึกษาทีมละ 200,000 บาท นอกจากนี้ ทีม Dong Yang (ดงยาง) ยังสามารถคว้าอีกหนึ่งรางวัล คือ รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (The Best Technique Award) ได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท อีกด้วย
น้องเต้-นายปราการ จรูญสอน หัวหน้าทีมดงยาง กล่าวถึงหุ่นยนต์ของทีมที่ได้รับ 2 รางวัลนี้ว่า “จุดเด่นของหุ่นยนต์ของเราคือหน้าตาที่ดูเป็นมิตร และมีความสามารถมากมาย เช่น การตรวจจับอุณหภูมิ การช่วยปลุกคนแก่พร้อมพยุงเดิน รับคำสั่งเปิดทีวี ตรวจสอบสภาพอากาศ และที่สำคัญคือสามารถเดินไปชาร์ตไฟด้วยตัวเองได้ในระบบไร้สาย หุ่นยนต์ตัวนี้พัฒนามาโดยรุ่นพี่ของพวกเราตั้งแต่ 3 ปีก่อน ซึ่งเราก็ปรับปรุงให้หุ่นจับสิ่งของให้ได้แม่นยำขึ้น การได้รับรางวัลนี้จะเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นแรงผลักดันให้เราพัฒนาหุ่นยนต์ต่อไปให้สามารถใช้งานได้จริงในอนาคต”
น้องวอย-นายสมวิท สาตแสงธรรม หัวหน้าทีมทูไอดีอาร์ กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะทีมเราเพิ่งจะลงแข่งขันเป็นปีแรกและมีสมาชิกในทีมเพียง 3 คน โดยความสามารถพิเศษของหุ่นตัวนี้คือ การเคลื่อนที่ได้เร็ว อิสระและมีความแม่นยำ กว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะเสร็จสมบูรณ์ได้ ต้องผ่านการทดสอบด้านต่างๆ มากมาย การมาถึงจุดนี้พวกเราทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ ความพยายาม และมุมานะ ดังนั้น เมื่อรู้ว่าได้รางวัลพวกเราเลยดีใจมาก แต่สิ่งที่ได้นอกเหนือจากรางวัลคือการได้พบและรู้จักกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน มีเครือข่ายเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ทำให้เราได้รับคำแนะนำดีๆ จากรุ่นพี่ทีมอื่น ถึงตอนนี้พวกเรากำลังจะเรียนจบ แต่เราก็จะมองหาน้องรุ่นใหม่ที่สนใจด้านหุ่นยนต์มาพัฒนางานต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น