มจธ. วิจัยบรรจุภัณฑ์ใหม่ “กรีนโฟม” นับว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เมื่อมีผู้ประกอบการนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ในอนาคตยังจะต้องพัฒนาเพิ่มคุณสมบัติ “ทนร้อน” ให้ใช้ในไมโครเวฟ และ“กันน้ำซึม”
ปัจจุบันเราจะเห็น “บรรจุภัณฑ์” ที่ใช้งานส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากพลาสติกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณของขยะที่เกิดจากพลาสติกสูงขึ้นตามไปด้วย ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้นำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ แต่ขยะที่เกิดขึ้นก็มีจำนวนมากและเป็นที่มาของมลพิษต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ในธรรมชาติมากขึ้น เช่น โพลิไวนิลแอลกอฮอล์ และโพลิแลกติกแอซิก เป็นต้น แต่เนื่องจากพลาสติกสังเคราะห์เหล่านี้มีราคาแพง จึงเป็นข้อจำกัดในการนำไปใช้งาน
ทางเลือกหนึ่งที่เริ่มมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก คือ การเลือกใช้โพลิเมอร์จากธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หาง่าย ราคาถูก เช่น แป้ง เซลลูโลส และไคโตแซน เป็นต้น
โครงการวิจัย “การพัฒนาถาดไบโอโฟม” เป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร.อรพิน เกิดชูชื่น และ รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว โดยการนำผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศมาทดลองผลิตโฟมที่ย่อยสลายได้, ฟิล์มที่บริโภค และกระดาษกันเชื้อรา
วัตถุประสงค์เพื่อทดแทนการใช้โฟม (EPS) หรือทดแทนพลาสติก หรือสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ป้องกันเชื้อราในกระดาษ เพื่อให้ได้วัสดุที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับวัสดุสังเคราะห์ สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร และผัก ผลไม้สด รวมทั้ง ใช้สารจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.อรพิน กล่าวว่า “การผลิตไบโอพลาสติกนั้นต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน และมีต้นทุนสูง ประกอบกับความไม่มั่นใจเกี่ยวกับอันตรายที่อาจได้รับจากสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ที่นำมาใช้ในกระบวนการที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติก”
จึงมีแนวคิดนำวัสดุธรรมชาติ โดยเฉพาะแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณการผลิตสูงมาก หากนำมาพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์จากแป้งธรรมชาตินอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย
กรีนโฟม” นอกจากใช้เป็นบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังสามารถนำเมล็ดพันธุ์พืชใส่ลงใต้ถาด เมื่อนำถาดที่ไม่ใช้แล้วไปฝังดินก็จะเป็นวัสดุปลูกพืชได้อีก
โดยถาดไบโอโฟม ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง ผสมกับขุยมะพร้าว หรือ เยื่อ Kraft หรือ ไคโตแซน นำมาให้ความร้อนให้อยู่ในรูปของเจลแป้ง ก่อนนำมาปั่นส่วนผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยสัดส่วนของส่วนผสมจะขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้
นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบแม่พิมพ์สำหรับขึ้นรูปถาดโฟมแป้ง เป็นการประยุกต์จากเครื่องอบขนมวาฟเฟิล โดยมีการติดตั้งฮีตเตอร์ทั้งฝาบนและล่างเพื่อควบคุมความร้อนให้ได้ตามที่กำหนด คือที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส ซึ่งที่ถาดโฟมแป้งยังเคลือบด้วยน้ำมันหอมระเหยที่ทางคณะฯพัฒนาขึ้น จากน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อรา
หากต้องการเพิ่มสีสันให้กับตัวถาด ก็สามารถนำสีจากธรรมชาติมาผสมได้ อาทิ สีม่วงจากดอกอัญชัน สีเขียวจากใบเตย สีแดงจากกระเจี๊ยบแดง หรือ สีเหลืองจากขมิ้น ก็จะทำให้ถาดนั้นมีสีสันสดใสยิ่งขึ้นและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะกรรมวิธีในการผลิตไม่มีส่วนผสมของสารเคมีแต่อย่างใด
“ถาดไบโอโฟมที่ทำจากแป้งนี้ เรียกอีกอย่างว่า “กรีนโฟม” นอกจากใช้เป็นบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังสามารถนำเมล็ดพันธุ์พืชใส่ลงใต้ถาด เมื่อนำถาดที่ไม่ใช้แล้วไปฝังดินก็จะเป็นวัสดุปลูกพืชได้อีก เนื่องจากผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงสามารถย่อยสลายได้เองภายใน 1 เดือน”
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการผลิตโฟมหรือถาดพลาสติกสนใจผลงานวิจัยชิ้นนี้ และนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะเห็นว่าโอกาสที่โฟมแป้งจะเข้ามาแทนการใช้โฟมพลาสติกได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มตลาดที่รักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
แต่การจะนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมนั้น จะต้องมีการออกแบบแม่พิมพ์หรือเครื่องขึ้นรูปโฟมแป้งรูปทรงต่างๆ ที่เหมาะกับการนำไปใช้งาน เนื่องจากเครื่องที่ใช้กันอยู่เป็นเครื่องขึ้นรูปโฟมจากพลาสติกซึ่งไม่สามารถใช้แทนกันได้
ส่วนทางคณะฯ เตรียมต่อยอดงานวิจัยนี้ โดยจะปรับปรุงคุณสมบัติด้านการทนร้อนเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในไมโครเวฟได้ และการต้านทานการซึมผ่านของน้ำ เพราะปัจจุบันตัวถาดโฟมที่พัฒนาขึ้นมีข้อจำกัดคือไม่สามารถกันน้ำได้ จึงต้องการพัฒนาให้เป็นโฟมที่สามารถกันการซึมของน้ำได้ต่อไป