xs
xsm
sm
md
lg

บทบาท CSV ธุรกิจข้าวตราฉัตร มิติใหม่ในแนวทาง CSR / สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเร็วๆ นี้ กิจการธุรกิจข้าวตราฉัตรได้จัดงานวันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก ปีที่ 1 จังหวัดศรีสะเกษ และกิจกรรมการประชาสัมพันธ์บทบาทผลงานครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ของแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ผมจะแสดงข้อคิดตอนท้ายครับ

บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด (หรือข้าวตราฉัตร) ตระหนักถึงปัญหาของเกษตรกรเรื่องผลผลิต ทั้งด้านปริมาณ ซึ่งไม่คงที่และด้านคุณภาพที่ไม่แน่นอนนี้ จึงได้ทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ ปี 2556/57 ขึ้น ในพื้นที่ 4 จังหวัดของภาคอีสานซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีของประเทศขึ้น โดยตั้งใจจะให้เป็นโครงการความร่วมมือที่สามารถสร้างความยั่งยืนร่วมกันระหว่างชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ และบริษัทฯ ในฐานะผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศ

สุเมธ เหล่าโมราพร ผู้บริหารสูงสุด (CEO) กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (รับผิดชอบธุรกิจข้าวและอาหาร) เครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าให้ฟังว่า “ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารตราฉัตร บริษัทฯ จึงต้องการมีแหล่งผลิตข้าวที่มั่นใจในคุณภาพเพื่อรักษามาตรฐานของข้าวตราฉัตร ขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างตลาดให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จึงมีแนวคิดที่จะผนึกรวมจุดเด่นของเกษตรกรและความชำนาญของบริษัทฯ เข้าด้วยกัน นับเป็นการทำธุรกิจที่เกื้อกูลกัน โดยมีเป้าหมายที่ความยั่งยืน”
โครงการฯ นี้เลือกพื้นที่นำร่องใน 4 อำเภอของ 4 จังหวัด ได้แก่ อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
“4 อำเภอ ใน 4 จังหวัดเหล่านี้ เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ได้คุณภาพดี แต่เกษตรกรยังขาดความมั่นใจในการทำตลาด จึงเข้าไปส่งเสริมเกษตรกร และรับซื้อวัตถุดิบคือ ข้าวเปลือกจากเกษตรกรตามเงื่อนไขการรับจำนำข้าวของรัฐบาลซึ่งสูงกว่าราคาตลาด จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะรู้ว่ามีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน บริษัทฯ จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของข้าวแต่ละพื้นที่”

บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด จัดทีมงานผู้ชำนาญการลงพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำในการปลูกข้าวหอมมะลิกับเกษตรกรผู้ร่วมโครงการ โดยสุเมธกล่าวถึงบทบาทเช่นนี้ว่า
“ทีมงานวิชาการที่เข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิโดยให้คำแนะนำเกษตรกร เริ่มตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีจากกรมการข้าว และชี้ให้เห็นผลดีที่จะได้จากการเปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่จะส่งผลดีที่สุด รวมถึงการจัดการพื้นนา ให้มีการควบคุมวัชพืช การควบคุมน้ำในแปลงนาให้มีความเหมาะสม จะทำให้ได้ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีขึ้น โดยเราคิดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ราว 10-20%”
สุเมธกล่าวว่า “ทุกกระบวนการส่งเสริมฯ ของทางบริษัทฯ มุ่งผลลัพธ์ไปที่คุณภาพของข้าว เช่น มีกลิ่นหอม, มีเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดที่สมบูรณ์ อย่างข้าวที่เกษตรกรทั่วไปปลูกจะได้ผลผลิตประมาณ 320-330 กิโลกรัม/ไร่ แต่จากการส่งเสริมของบริษัทฯ คาดว่าจะได้ผลผลิตเพิ่มถึง 380 กิโลกรัม/ไร่ โดยเราจะรับซื้อข้าวเปลือกทั้งหมดจากทุกไร่ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงของบริษัทฯ”
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขกับเกษตรกรว่า บริษัทฯ จะจัดหาเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นแม่พันธุ์จากกรมการข้าวมาให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก พร้อมประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เครดิตกับเกษตรกรเป็นสินเชื่อเรื่องปุ๋ย เมื่อเกษตรกรขายข้าวเปลือกให้กับทางบริษัทฯ แล้วนำรายได้ไปชำระคืนให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งที่ผ่านมาบางกรณีเกษตรกรอาจจะมีปัญหาเรื่องเงินทุนทำให้ละเลยถึงเรื่องการใส่ปุ๋ย จึงทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในเรื่องของการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมที่สุด ควรจะเป็นช่วงที่ข้าวอยู่ระยะหลังออกดอกประมาณ 25-30 วัน ที่จะได้ผลผลิตข้าวมีเปอร์เซ็นต์ดี และเมื่อได้ข้าวคุณภาพดี เกษตรกรก็สามารถขายข้าวในราคาที่สูงขึ้น

นี่นับเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรพอสมควร จากคำแนะนำเพื่อไปจัดระเบียบ ให้ถูกต้องตามลักษณะที่ควรในการปลูกข้าวหอมมะลิ อันจะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อเกษตรกรโดยตรงเพราะได้ความรู้ที่ผ่านการค้นคว้าวิจัย และทดลองจนได้ผลมาแล้ว ส่งต่อให้เกษตรกรนำไปใช้ได้ตลอดไป

ข้อคิด....

ผมสนใจบทบาทธุรกิจข้าวตราฉัตรในการส่งทีมงานเข้าไปส่งเสริมกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดีของประเทศ เพราะนี่เป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งของการผนึกหลักความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าสู่กระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR-in-Process)

ทั้งนี้ สอดคลัองกับกลยุทธ์ CSR ที่ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ เรียกว่า Creating Shared Value หรือ CSV ซึ่งเป็น “การสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้เกิดผลดีทั้งองค์กรและสังคม”

อย่างกรณีนี้ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด หรือธุรกิจข้าวตราฉัตรเข้าไปช่วยเกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน โดยส่งเสริมความรู้และการจัดการระบบการผลิตข้าวให้มีมาตรฐานคุณภาพและประสิทธิภาพดีขึ้น ชุมชนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 4 จังหวัด ก็มีความมั่นคงด้านการตลาด เพิ่มรายได้และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ขณะที่ตัวธุรกิจก็ได้วัตถุดิบที่มั่นคงด้วยคุณภาพและปริมาณ ได้มาตรฐานตามที่ตั้งเป้าหมายเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน

เรียกว่าเป็นกระบวนการที่ยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ที่มุ่งสู่คุณภาพ ประสิทธิภาพ โดยมีการพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมที่ดี ทั้งพื้นที่พันธุ์ข้าว เทคโนโลยี สินเชื่อ และการสร้างวินัยที่ดี

ผู้บริหารสูงสุดของ ซี.พี.อินเตอร์เทรด ยืนยันว่า “นี่คือการเกื้อกูลกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้ง 3 ฝ่าย คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะมีความมั่นคงในอาชีพของตน บริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงข้าวตราฉัตร ก็จะมีความมั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบที่ได้รับ ขณะเดียวกันประชาชนผู้บริโภคก็จะมีความมั่นใจในคุณภาพของข้าวที่ซื้อไปบริโภค เพราะรู้กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาชัดเจน รับประกันความปลอดภัยของข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักที่คนไทยนิยมบริโภค ถือเป็นความยั่งยืนที่จะได้รับร่วมกัน”
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น