xs
xsm
sm
md
lg

อพท. ปลุกการท่องเที่ยว “โลว์ คาร์บอน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อพท.สานต่อนโยบายท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หวังสร้างสมดุล 3 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดึง 3 นักคิดนักเขียน นักแสดง “คิ้วต่ำ โดม วุฒิชัย และ จีจ้า ญาณิน ” ปลุกจิตสำนักท่องเที่ยวแบบโลว์ คาร์บอน และเชิงสร้างสรรค์
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค   แสงสนิท
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.จะเร่งสานต่อนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงนโยบายท่องเที่ยวแบบโลว์ คาร์บอน ตามเป้าหมายเพื่อรักษาสมดุล 3 มิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งการทำงานของอพท.จะเข้าไปช่วยบริหารการพัฒนาด้วยการให้ชุมชนรู้จักวิธีการทำงาน รู้จักการนำเสนอสิ่งดีๆ ของชุมชนที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น รู้จักการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าหรือบริการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จีจ้า-ญาณิน  วิสมิตะนันทน์ ดาราที่ช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจในโครงการ
โดยชาวชุมชนจะต้องเป็นผู้เสนอโครงการหรือแนวคิดเองและทำเอง โดยอพท.จะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และช่วยประสานกับเครือข่ายต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำสิ่งที่ดีมาปรับใช้กับชุมชนของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน อพท.จะนำความรู้ที่เป็นประโยชน์มาถ่ายทอดให้กับชุมชน เพื่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากร พัฒนาสินค้าของชุมชน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนด้วย
ทั้งนี้ อพท. เป็นผู้ริเริ่มการท่องเที่ยวในประเทศไทยแบบ “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” หรือ Creative Tourism ซึ่งเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ทำความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ ผ่านประสบการณ์ และได้สัมผัสวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของชุมชน และมีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วย แต่อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างฐานความรู้และความเข้าใจร่วมกันในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น

ปัจจุบัน อพท.ดูแลพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร พื้นที่พิเศษเลย พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งทุกพื้นที่จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวท่องเที่ยวแบบมีจิตสำนึกไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
“ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความรู้และความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อพท. จึงได้ทำโครงการผู้นำทางความคิดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้น เพื่อถ่ายทอดแนวความคิด วิธีการทำงาน ตลอดจนรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ผ่านผู้นำทางความคิด 3 คน ได้แก่ นางสาวญาณิน วิสมิตะนันทน์ หรือ จีจ้า ดารานักแสดงนำภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง 2 นายวุฒิชัย เขียนประเสริฐ เจ้าของนามปากกา “โดม วุฒิชัย” คอลัมนิสต์นิตยสารขวัญเรือน และนายอนุชิต คำน้อย เจ้าของนามปากกา “คิ้วต่ำ” นักเขียนนักวาดภาพรุ่นใหม่ เพื่อที่จะได้ส่งผ่าน หรือ Share ความรู้ ประสบการณ์ และความประทับใจของแต่ละคน ที่ได้สัมผัสจากการเรียนรู้ ณ พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน รวมถึงไปศึกษาดูงานการบริหารการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นความรู้ผ่าน Social Network” พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค กล่าว
เกาะหมากโลว์คาร์บอนโมเดล เป็นต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวของผู้นำทางความคิดทั้ง 3 คน จะท่องเที่ยวด้วยรถจักรยาน เพื่อให้การเดินทางได้สัมผัสและสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ได้เห็นศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

เกาะหมากโลว์คาร์บอน โมเดลสู่สากล
...เกาะหมากโลว์คาร์บอนโมเดล กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป็นหนึ่งในแบรนด์อิมเมจที่ภาคภูมิใจของท้องถิ่น
ในปีนี้ เกาะหมาก แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดตราด ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด บนพื้นที่ขนาด 9,000 ไร่เศษ ห่างจากฝั่งประมาณ 38 กิโลเมตร เตรียมจะสร้างแบรนด์อิมเมจด้านการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนอย่างชัดเจน โดยจะมีไกด์บุ๊กภาคภาษาไทย-อังกฤษ ให้กับนักท่องเที่ยวระดับโลก ในงาน ITB ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในเดือนมีนาคม ปี 2557
เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากว่า 10 ปีที่แล้ว แต่อยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ยุคนั้นต้องนั่งเรือนานถึง 3 ชั่วโมง แต่ในวันนี้การเดินทางสะดวกมาก ด้วยเรือสปีดโบ๊ต ใช้เวลาเพียง 40 นาที

"ตอนนี้บนเกาะมากกว่า 50% มีความเข้าใจเรื่องโลว์คาร์บอน และมีการนำไปใช้ มีกลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมากช่วยให้ความรู้และสอนให้ทำ มีความร่วมมือจากบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นมากๆ ทั้งภาคเอกชน โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก กลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมาก สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดและหน่วยงานของรัฐ อย่าง อบต. เกาะหมาก โรงเรียนบ้านเกาะหมาก ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน รวมทั้งกระแสตอบรับจากนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมกิจกรรมแรลลี่จักรยานเพิ่มจากปีที่แล้ว 30 คัน มาปีนี้มากถึง 150 คัน" ธานินทร์ สุทธิธนกุล สมาชิกชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก กล่าวในเวทีเสวนาเพื่อตอบคำถาม "ทำ Low Carbon" แล้วจะได้อะไร? และเกาะหมากจะเป็น Low Carbon ในปีไหน
ด้าน พล.ต.หญิง จรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการ สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.1) กล่าวเสริมว่า 2 ปีเต็ม ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดย สพพ. 1 และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ได้ร่วมกันพัฒนาเกาะหมากเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ภายหลังการต่อยอดความสำเร็จจากแนวคิดสู่ความเข้าใจ การรับรู้ของชุมชนท้องถิ่นบนเกาะหมากว่า ทำไม ต้อง Low Carbon? ในปีที่ผ่านมา เราได้เน้นใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ด้านการใช้พลังงานอย่างประหยัด ใช้พลังงานทางเลือกโซล่าเซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง 2. ด้านการใช้น้ำอย่างประหยัดและนำกลับมาใช้ใหม่ 3. การคัดแยกขยะจากขยะ วันละ 200-300 ตัน เราคัดแยกขยะทำให้ขยะบนเกาะเป็นศูนย์ 4. การรักษาวิถีชีวิตชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
“ทุกวันนี้ร้านอาหารและพิพิธภัณฑ์เกาะหมากได้นำพลังงานโซล่าเซลล์มาใช้แบบ 100% เมนูอาหารท้องถิ่นไปได้ดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวยอมรับที่จะรับประทานปลาโดยไม่ต้องระบุชนิด หรือคัดเลือกขนาดอีกต่อไป เราใช้ผักที่ปลูกเอง หรือผักพื้นบ้าน ส่วนชาวประมงก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายปลา และลดต้นทุนจากการใช้พลังงานโซล่าเซลล์ ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน” ธานินทร์ สุทธิธนกุล สมาชิกชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก และ ผู้จัดการเกาะหมากซีฟู้ด บอกย้ำถึงแนวทางปฏิบัติทำให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนที่สมบูรณ์แบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น