xs
xsm
sm
md
lg

จงโง่และหิวตลอดเวลา! : หนังปรัชญา ต้มยำกุ้งน้ำข้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงแม้จะไร้เงาของพระเอกนักบู๊ “จา พนม” หรือ “โทนี่ จา” มาร่วมงานในวันเปิดตัวภาพยนตร์อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่เชื่อได้แน่นอนว่า ปฏิบัติการตามล่าหา “ไอ้ขอน” ช้างคู่บุญของไอ้ขาม ก็จะยังคงเดินหน้าทำรายได้ให้กับค่ายหนังตราใบโพธิ์อย่างมโหฬารเช่นเดิม เพราะว่ากันตามจริง ด้วยชื่อชั้นและความนิยมในตัวของจา พนม สำหรับบ้านเรา ชื่อของเขาผู้นี้ยังเรียกคนดูได้เสมอๆ นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ในระดับตลาดนานาชาติหรือต่างประเทศ ที่ก็พร้อมเสมอต่อการเปิดใจรับทุกผลงานอันมีชื่อ “โทนี่ จา” เป็นตราประทับอยู่บนโปสเตอร์

แน่นอนครับ สำหรับแฟนคลับของโทนี่ จา ข่าวที่ดีมากๆ ข่าวหนึ่งก็คือ การที่โทนี่ จา ได้มีโอกาสขยับที่ทางของตัวเองไปสู่ฮอลลีวูดเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายปลายทางจะเป็นเช่นใด แต่หลายคนก็มองว่านี่คืออีกก้าวหนึ่งซึ่งยิ่งใหญ่ของนักแสดงชาวไทยหนึ่งคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพูดถึงว่า ทักษะเฉพาะตัวที่โทนี่ จา มีอยู่ในตนนั้น เปรียบเสมือน “สมบัติหายาก” ที่ถ้าฟูมฟักบริหารดีๆ โทนี่ จา มีโอกาสสูงมากที่จะเติบโตในฮอลลีวูด คำที่หลายๆ คนพูดว่า “โทนี่ จา ไปได้ดีแล้ว” จึงมีความหมายอย่างลึกซึ้งและหลายนัย ตามแต่ใครปรารถนาจะตีความ (?)

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่โทนี่ จา จะไปออกสตาร์ทงานชิ้นแรกบนดินแดนภาพยนตร์ระดับโลก กับงานเรื่อง Fast & Furious ภาคที่ 7 แฟนหนังชาวไทยและทั่วโลกจะได้ชมการแสดงศิลปะการต่อสู้ของพระเอกนักบู๊คนนี้ ใน “ต้มยำกุ้ง 2” ไปพลางๆ ก่อน

หลังทิ้งช่วงห่างจากภาคแรกไปเกือบสิบปี “โทนี่ จา” กลับมาอีกครั้งในบทเดิม คือ “ไอ้ขาม” พร้อมกับปฏิบัติการเดิมที่จ่ามาร์ค (หม่ำ จ๊กมก) เอ่ยถามอย่างหาเรื่อง นั่นก็คือ เขาต้องออกเดินทางตามหา “ไอ้ขอน” ช้างเพื่อนชีพที่หายไปอีกครั้งหนึ่ง โดยมีสถานการณ์ให้ต้องต่อสู้เตะต่อยคอยดักอยู่ตลอดรายทาง

ก็อย่างที่หลายคนคงทราบกันดีนั่นล่ะครับว่า “ต้มยำกุ้ง” ภาคแรกนั้น มีปัญหาค่อนข้างมากในแง่ของบทภาพยนตร์ ดังนั้น สิ่งแรกที่ย่อมจะต้องถูกจับจ้องมองดูก่อนสิ่งอื่นในหนังภาคนี้ ก็คงหนีไม่พ้นหัวข้อของบทภาพยนตร์ พูดกันตามความจริง ยอมรับว่าผมเองก็มึนหัวเหมือนกันกับบทหนังของต้มยำกุ้งภาคหนึ่ง คือไม่ต้องไปพูดถึงความลึกซึ้งหรือมีมิติของตัวละครอะไร เอาง่ายๆ แค่ความสมเหตุสมผลของเรื่องราวก็ดูจะเข้าป่าออกทะเลไปเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี มาภาคนี้ ผมคิดว่าทางทีมผู้สร้างก็คงเก็บจุดบอดตรงนั้นมาพิจารณาและซ่อมแซม เส้นเรื่องที่หนังค่อยๆ ไต่ไปจนถึงตอนจบ มันไม่กะพร่องกะแพร่งถึงขั้นเสียหลัก เค้าโครงของหนังก็ยังออกแนวนิยายผจญภัยทั่วไปที่ตัวเอกต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างแล้วต้องตามมาคืน จะว่าไปก็คล้ายๆ กับละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ตัวเอกมักจะพลัดพรากจากบางสิ่ง เช่น โดนตัวร้ายแย่งชิงบัลลังก์แล้วก็ต้องระหกระเหินก่อนจะกลับมาช่วงชิงสิ่งนั้นกลับคืน

หนังต้มยำกุ้ง จึงเป็นหนังที่ดูเข้าใจง่ายมาตั้งแต่ภาคหนึ่งในเชิงเนื้อหาเรื่องราว บางจังหวะเหมือนดูลิเก ซึ่งเป็นความบันเทิงแบบไทยๆ ผู้ชมไม่จำเป็นต้องขบคิดอะไรให้วุ่นวาย เพราะดาวร้ายหรือพระเอกก็เปิดหน้ากันชัดเจน เวลาแต่ละตัวเข้าฉากออกโรงก็ประกาศออกมาโต้งๆ เลยว่า ข้าเป็นตัวดีตัวร้าย ซึ่งในต้มยำกุ้ง เราจะสัมผัสได้ถึงสิ่งนี้เด่นชัด หนังไม่ให้ตัวละครต้องแสดงอะไรมากเท่ากับ “พูดออกมา” เพื่อประกาศความเป็นตัวเอง อันที่จริง จะว่าไป นี่คือลักษณะภาพรวมของหนังคุณปรัชญา ปิ่นแก้ว อยู่แล้ว ทีมงานการันตีของช่องซูเปอร์บันเทิงถามผมว่า ผมรู้สึกอย่างไรกับบทหนังเรื่องนี้ ผมก็ตอบออกไปตามความเป็นจริงว่าไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เนื่องจากคุ้นเคยกับหนังของคุณปรัชญาเป็นอย่างดี ว่านี่ไม่ใช่ “หนังปรัชญาชีวิต” แต่เป็น “หนังปรัชญา ปิ่นแก้ว”

ด้วยเหตุนี้ ทั้งก่อนดูและตอนที่ดู ผมจึงไม่ได้คาดหวังถึงความมีมิติของตัวเรื่องหรือตัวละครมากเท่ากับเอาใจช่วยว่าขอให้หนังดำเนินเรื่องไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง และหนังก็ทำออกมาได้ในระดับที่ถือว่าไม่ขี้เหร่ หนังตั้งโครงไว้ชัดเจนว่าโทนี่ จา จะต้องเจออะไรตรงไหนบ้าง แล้วก็เล่าไปทีละขั้นตอน แม้พูดกันตามจริง การเชื่อมต่อสถานการณ์หนึ่งเข้ากับอีกสถานการณ์หนึ่งจะยังดูเป็นการตัดแบบก้าวกระโดด ไม่ลื่นไหลไม่สมูธ ให้เห็นอยู่ เช่นเดียวกับรูโหว่รอยรั่วที่ชวนให้ตั้งคำถามในหลายจุด แต่ก็ถือว่าไม่เลวร้ายมากนัก เมื่อเทียบกับหนังภาคหนึ่งซึ่งเคยทำให้คนดูรู้สึกอัศจรรย์ใจ เมื่อโทนี่ จา แสดงปาฏิหาริย์ด้วยการหายตัวไปโผล่ที่ต่างประเทศราวกับมีอิทธิฤทธิ์ล่องหน

อันที่จริง “ต้มยำกุ้ง” นั้น ให้ความหมายเปรียบเทียบไปถึงอาหารไทยรสชาติแซ่บถูกปากคนชอบรสจัด แน่นอนว่า จุดมุ่งหมายหนึ่งของหนังก็คงอยากเปรียบตัวเองเป็นอาหารรสจัดแบบนั้นเช่นกัน เพียงแต่ในความรู้สึกส่วนตัวของผม อยากเปรียบเทียบต้มยำกุ้ง ไม่ว่าจะภาคหนึ่งหรือภาคสองนี้ ในแบบ “ต้มยำกุ้ง น้ำข้น” เพราะรู้สึกว่า “น้ำ” จะข้นเป็นพิเศษ “เนื้อ” หาได้ไม่ค่อยมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมีมิติของตัวละครแต่ละตัวที่หนังนำเสนอออกมาค่อนข้างบางเบา ไล่ไปตั้งแต่ตัวเอกอย่างจา พนม, แฝดกังฟูที่เป็นบทของจีจ้า ไปจนถึงตัวร้ายอย่างรีซ่า หรือหญิง รฐา ทั้งหมดไม่สามารถเปล่งรัศมีของความเป็นตัวละครที่น่าจดจำประทับใจออกมาได้เลย

ผมคิดว่าหลักอย่างหนึ่งซึ่งคุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับ ก็น่าจะทราบอยู่แล้วโดยที่ผมไม่จำเป็นต้องเอามะพร้าวมาขายสวน ก็คือ การทำให้คนดูรู้สึกรักหรือผูกพันกับตัวละครนั้น เป็นสิ่งที่พึงกระทำในหนัง ซึ่งจะว่าไป แม้กระทั่งละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ผมเอ่ยถึง ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้คนดูรู้สึกร่วม (ไม่ว่าจะรัก ผูกพัน หรือเห็นอกเห็นใจ) ไปกับตัวละครที่ต้องเผชิญกับความเลวร้ายทั้งนั้น ตรงกันข้าม กับหนังเรื่องนี้ เรากลับรู้สึกผูกพันกับ “โทนี่ จา” มากกว่าจะรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวของ “ไอ้ขาม” นั่นยังไม่ต้องพูดถึงตัวละครอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” โดยไม่ทิ้งร่องรอยหลักฐานความผูกพันใดๆ ไว้ในใจของคนดู

แต่เอาล่ะ ในความเป็น “ต้มยำกุ้ง” ที่มุ่งหมายให้เป็น “ครัวไทย” สู่ “ครัวโลก” ผมคิดว่าลีลาของจา พนม ในการโชว์ศิลปะการต่อสู้ ก็จะยังพอเป็นความแซ่บให้กับคนที่ชอบอะไรแบบนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อย่าลืมนะครับว่า ต่อให้ที่บ้านเราวิพากษ์วิจารณ์ว่าต้มยำกุ้งภาคหนึ่งนั้นอ่อนด้อยแค่ไหนในความเป็นหนัง แต่ที่ตลาดต่างประเทศ กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เครซี่โทนี่ จา อยู่แล้ว ผมเชื่อว่า นี่คือหนังที่พร้อมตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ รวมถึงเมืองไทยเราด้วย เพราะหนังจัดหนักฉากแอ็กชั่นตลอดทั้งเรื่อง อย่างไรก็ดี ณ จุดนี้ ผมขออนุญาตกล่าวในเชิงหลักการเล็กน้อยครับว่า การทำหนังแอ็กชั่นนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความลุ้นระทึกหรือความกดดันบีบคั้นสถานการณ์ หมายถึงว่าหนังจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อทำให้ตัวละครรู้สึกบีบคั้นจากสิ่งที่เผชิญอยู่เบื้องหน้า และฝั่งคนดูก็รู้สึกกดดันไปกับตัวละครว่าจะผ่านไปได้หรือไม่อย่างไร (ซึ่งยังไงก็ต้องผ่านได้อยู่แล้ว เพราะเป็นตัวเอก แต่จะจะผ่านได้อย่างไรและเจ็บมากเจ็บน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง)

แต่เรากลับสัมผัสความรู้สึกแบบนี้ได้ยากพอสมควรในหนังต้มยำกุ้ง สิ่งที่เห็นก็คือการแสดงการต่อสู้ในท่วงท่าต่างๆ ของโทนี่ จา คล้ายลักษณะแสดงโชว์กายกรรมการต่อสู้ โดยมีการเลือดตกยางออกเป็นส่วนประกอบ หนังยังหนีไปไม่พ้นกรอบคิดเดิม แบบที่ทำไว้ในภาคแรก นั่นก็คือ เน้นการโชว์ศิลปะการต่อสู้ ดังนั้น ผมคิดว่าคนสองกลุ่มที่สมควรต้องดูและคุณจะสนุกกับหนังอย่างแน่นอนก็คือ คนที่เป็นแฟนโทนี่ จา และชื่นชอบท่วงท่าศิลปะการต่อสู้อยู่แล้ว แม้ว่ากันอย่างถึงที่สุด นอกจากบทพูดที่มากขึ้น เราจะไม่ได้เห็นอะไรสดใหม่จากโทนี่ จา ในแง่ของท่วงท่าลีลาศิลปะการต่อสู้เลยก็ตาม

ในขณะที่รู้สึกว่าเทคนิคสามมิติของหนังพอสอบผ่าน เพราะรู้สึกว่า ภาพนั้นค่อนข้างเบลอ ดูแล้วไม่คมชัด และเชื่อว่าหลายคนดูแล้วคงปวดตา...สิ่งที่ทำให้ผมเซอร์ไพรส์ กลับเป็นจุดเล็กจุดน้อยในหนังมากกว่า โดยเฉพาะการปรากฏตัวของ “ล่ามภาษา” ที่มาช่วยแปลคำอังกฤษของรีซ่าให้ไอ้ขามฟัง ผมคิดว่า “ติ่งเล็กๆ ของเรื่อง” ติ่งนี้จะติดอยู่ในใจของคนดูและถูกนำเอาไปโม้กับเพื่อนๆ ได้สนุกปาก พ้นไปจากนั้น ความทะเยอทะยานของหนังที่เปิดเรื่องมาราวกับจะเล่นกลกับการเมืองระหว่างประเทศก็ถือเป็นทิศทางที่ดี (ถ้าเพียงแต่คุณพี่จะทำได้ถึงและไปให้มันจริงจังกว่านี้) แต่ที่ผมคิดว่ามันมีความหมายอย่างลึกซึ้งและแทบจะเป็นเหตุผลหนึ่งเดียวซึ่งทำให้เรื่องราวในหนังมันลุกลามใหญ่โต ก็คือคำพูดของเพื่อนไอ้ขามที่พูดกับไอ้ขามทำนองว่า “จงโง่และหิวตลอดเวลา”

ด้วยคำนี้คำเดียว มันเหมือนเปิดกะโหลกให้เรามองโลกที่กว้างออกไปมากกว่าการตามล่าหาช้างเพียงตัวเดียว แต่มันเกี่ยวเนื่องกับทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ปัญหา อย่างปฏิเสธได้ยาก การที่หนังนำการเมืองมาเป็นส่วนประกอบ พร้อมกับเอาบุคคลที่มีตราสัญลักษณ์ทางการเมืองแปะอยู่เต็มหน้าผาก มาเป็นตัวเสริม (ซึ่งก็คือ “ล่าม” คนดังกล่าว) มันจึงมีน้ำหนักที่ชักชวนให้หวนคิดถึงชีวิตทางการเมืองในบ้านเราอย่างเบาบางแต่สัมผัสได้ เพราะใครล่ะจะปฏิเสธว่า ความโง่และความหิวไม่ใช่ชิ้นส่วนชิ้นสำคัญที่ผลักดันให้หลายอย่างในสังคมกำลังเดินไปสู่ความล่มจมอย่างที่เห็น?

สรุป “ต้มยำกุ้ง” หม้อนี้ อาจจะไม่ได้รสชาติจัดจ้านมาก เครื่องปรุงส่วนผสมแม้จะทำให้น้ำดูข้น แต่ทว่าผ่านการปรุงผสมรสชาติไม่กลมกล่อมเท่าที่ควร แต่เอาเป็นว่าถ้าคุณชอบ “กุ้ง” อย่างโทนี่ จา ก็อย่าไปกังวลกับ “น้ำ” ที่มัน “ข้น” ซะเหลือเกินนั้นเลย








กำลังโหลดความคิดเห็น