“ธนาคารเพื่อความสำเร็จของลูกค้า และประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อสังคม”
กว่า 4 ทศวรรษที่ธนาคารเกียรตินาคิน ยืนหยัดอยู่ในเส้นทางธุรกิจการเงินและการธนาคาร เคยร้อนผ่านหนาว เผชิญหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 และสามารถเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงดังเช่นในปัจจุบันเพราะธนาคารพาณิชย์แห่งนี้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส ยึดมั่นตามหลักบรรษัทภิบาล โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ซีเอสอาร์ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ธนาคารที่ว่า “ธนาคารเพื่อความสำเร็จของลูกค้า และประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อสังคม”
โดยการปลูกฝังผู้บริหารและพนักงานของธนาคารให้ตระหนักถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในเรื่องของกระบวนการทำงาน (CSR in process) และการช่วยเหลือสังคมนอกเหนือกระบวนการทำงาน (CSR after process) เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน เจ้าหนี้ คู่ค้า สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน
บ่มเพาะกระบวนธุรกิจให้มีซีเอสอาร์
ฐิตินันท์ วัธนเวคิน กรรมการ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการ มุลนิธิธนาคารเกียรตินาคิน เล่าถึงแนวทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของธนาคารว่า “การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมของธนาคารตลอดมา คือ หลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด เพื่อให้ธุรกิจของเราได้ทำประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ได้ถ่ายทอดและปฏิบัติสืบต่อกันมาตามปณิธานของคุณเกียรติ วัธนเวคิน ประธานผู้ก่อตั้ง กลุ่มเกียรตินาคิน ที่กล่าวไว้ว่า “เกียรตินาคินไปอยู่ที่ไหนก็ต้องมีส่วนทำให้สังคมแห่งนั้นเจริญ” หลังจากนั้น คุณนวพร เรืองสกุล อดีตประธานกรรมการของธนาคารได้เสริมว่า “การทำ CSR ไม่ต้องใช้เงินเป็นหลักเสมอไป แต่เป็นเรื่องของจิตสำนึกของคนในองค์กร ซึ่งสามารถใช้ทรัพยากรอื่นๆ ที่มีอยู่ได้ เช่น ทักษะ และความถนัดต่างๆ ที่คนในองค์กรมีไปพัฒนาผู้อื่นในชุมชนที่ยังด้อยกว่า” ต่อมาคุณสุพล วัธนเวคิน ประธานกรรมการปัจจุบัน ได้วางกรอบแนวทางการทำซีเอสอาร์ของธนาคารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเน้นความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการช่วยเหลือสังคม คือ การลดปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนส่วนใหญ่ในประเทศ สร้างงานสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ห่างไกล และนำทรัพย์สินที่มีมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
ฐิตินันท์ ยกตัวอย่างแนวทางการทำธุรกิจของธนาคารโดยเข้าไปช่วยเหลือคนให้มีอาชีพ เช่น ในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์นั้น ธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อรถกระบะซึ่งเป็นรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เพราะเห็นว่ารถกระบะเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพทั้งทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ธนาคารได้ส่งเสริมความสำเร็จในธุรกิจของลูกค้า โดยมองว่าเมื่อธุรกิจของลูกค้าประสบความสำเร็จแล้วก็จะส่งผลถึงการจ้างงานและการกระจายรายได้ในชุมชนและสังคมรอบข้าง เช่น ธนาคารได้เช่าพื้นที่ในงานมหกรรมบ้านและคอนโดเพื่อให้ลูกค้าสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารไปออกบูธส่งเสริมการขาย และธนาคารยังได้ให้บริการด้านคำปรึกษาต่างๆ กับลูกค้าโดยทีมวิศวกร สถาปนิก สินเชื่อ เพื่อให้ลูกค้ามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้ ตั้งแต่เรื่องการดำเนินโครงการ เลือกทำเล การตั้งราคาขายที่เหมาะสม เป็นการเอาความเชี่ยวชาญไปถ่ายทอด ซึ่งทุกวันนี้มีหลายโครงการที่เติบโตกลายเป็นโครงการใหญ่
นอกจากความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทำงานดังที่ยกตัวอย่างไปแล้ว ฐิตินันท์อธิบายเพิ่มเติมว่า ธนาคารให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล ทำให้ธนาคารได้รับรางวัล SET Award of Honor ด้านการรายงานบรรษัทภิบาล ปี 2012 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และวารสารการเงินธนาคาร และรางวัล “บริทที่มีธรรมาภิบาลดีเด่นของเอเชีย ประจำปี 2555” จากวารสาร Corporate governance Asia ด้วย “อย่างการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ต้องดูว่าเป็นการสร้างคุณค่าให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม เมื่อแนะนำลูกค้าต้องมีข้อมูลเปิดเผยที่อ้างอิงอย่างเพียงพอ ไม่ละเมิดกฎหมายและกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแล อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย นโยบายและระเบียบภายในของธนาคารเอง”
ธนาคารแบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน ผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะมีจำนวนหุ้นเท่าใด ต้องได้รับการปฏิบัติจากธนาคารอย่างเท่าเทียมกัน กรรมการ ทำหน้าที่กำกับให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล พนักงาน ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ลูกค้า ต้องได้รับมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเสมอ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ต้องได้รับผลกระทบเชิงลบจากการดำเนินธุรกิจของธนาคารน้อยที่สุดหรือไม่ได้รับผลกระทบทางลบเลย เช่น การให้สินเชื่อธุรกิจนั้น ธนาคารต้องดูว่าไม่เป็นธุรกิจที่ขัดแย้งกับหลักศีลธรรม และไม่ก่อความเดือนร้อนต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป้นต้น
“แนวคิดซีเอสอาร์แบบนี้จะสำเร็จต้องเกิดจากผู้บริหารที่มีแนวคิดอย่างนี้ก่อนถึงจะออกนโยบาย จัดตั้งโครงการ และแผนปฏิบัติงาน ส่วนพนักงานซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในขั้นปฏิบัติการ เราปลูกฝังการคิดทำเพื่อส่วนรวม เกียรตินาคินจึงไม่ได้มองคนเฉพาะด้านความเก่งอย่างเดียว แต่ให้คุณค่ากับพนักงานที่เป็นคนดีมีจิตอาสาด้วย ดังนั้น ธนาคารจึงส่งเสริมให้พนักงานได้ออกไปทำ CSR after process เพื่อสร้างวัฒนธรรมจิตอาสาในองค์กร และทำให้การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของธนาคารครอบคลุมรอบด้านก้าวตามพันธกิจ “ธนาคารที่ดี”
ปัจจุบัน ธนาคารแห่งนี้มุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักบรรษัทภิบาลควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมไทย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และสังคม ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ 2 ประการหลัก
1. ให้บริการอย่างเชี่ยวชาญและครบครัน พร้อมส่งเสริมศักยภาพของลูกค้าเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน
2. ดำเนินการด้วยหลักบรรษัทภิบาล โดยคำนึงถึงผลที่ผู้ถือหุ้น พนักงานและสังคมจะได้รับ
ฐิตินันท์ ย้ำว่า จากปณิธานนับตั้งแต่ก่อตั้ง ธนาคารมุ่งเป้าหมายในการเป็นธนาคารที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการดำเนินกลยุทธ์ที่เข้าถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างต่อเนื่อง เน้นลดปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนของคนส่วนใหญ่ในประเทศ และให้ความรู้ด้านการเงิน ธุรกิจ การลงทุน แก่ลูกค้า รวมถึงกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ของธนาคารเพื่อความสำเร็จในทางธุรกิจและการลงทุนของลูกค้า และส่งเสริมวินัยทางการเงินในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและสังคมส่วนรวม “ตอนที่เริ่มเป็นบริษัทมหาชน ต้องปรับเปลี่ยนจากบริหารแบบครอบครัว เข้าสู่การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้เป็นกิจการที่ดี สิ่งเหล่านี้เราก็ต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการมีซีเอสอาร์จากภายใน กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานเป็นคนดีมีคุณธรรม มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม หากเราเชื่อมั่นว่าตนเองดีจากข้างในแล้ว การทำธุรกิจใดๆ ก็สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งอาจจะมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้เสียอีก”
ตัวอย่างโครงการ CSR ธนาคารเกียรตินาคิน
โครงการ “พัฒนาคน พัฒนาชาติ กับเกียรตินาคิน”
เกียรตินาคินไปอยู่ที่ไหนก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ไปร่วมพัฒนาให้ชุมชน สังคมแห่งนั้นเจริญ เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ ก็ต้องเอื้อเฟื้อผู้อื่น” เป็นปณิธานของผู้ก่อตั้งที่จะสร้างกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม นำไปสู่การดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ มากมายนับแต่ปีแรกของการก่อตั้งกิจการ ซึ่งธนาคารได้รวบรวมกิจกรรมทั้งหมดไว้ภายใต้กรอบการดำเนินงานสาธารณประโยชน์ของธนาคาร เรียกว่า “โครงการพัฒนาคน พัฒนาชาติ กับเกียรตินาคิน” ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาจริยธรรมและภูมิคุ้มกันสังคม และ บรรเทาทุกข์และสาธารณกุศล ซึ่งแต่ละด้านถูกต่อยอดเป็นอีกหลากหลายโครงการ เช่น
ด้านส่งเสริมการศักษา ได้แก่โครงการทุนการศึกษาต่อเนื่องระดับปริญญาตรี Kiatnakin Responsibility Scholarship โครงการ Kiatnakin Responsibility Award @ Sasin โครงการ The mai Bangkok Business Challenge @ Sasin, โครงการมอบทุนการศึกษาร่วมกับมูลนิธิ เกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา, โครงการจักรยานเพื่อน้องร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ, โครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ “เงินทองของมีค่า” เป็นต้น
ด้านพัฒนาจริยธรรมและภูมิคุ้มกันสังคม ได้แก่ โครงการพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา และสันติสุข โครงการอบรมเยาวชนสัมพันธ์ โครงการส่งเสริมการออมดีเด่น
ด้านบรรเทาทุกข์และสาธารณกุศล เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย บริจาคคอมพิวเตอร์มือสอง สนับสนุนการตั้งจุดตรวจจราจร โครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โครงการซุ้มรักษ์การอ่าน โครงการจัดหาอุปกรณ์ห้องพยาบาล เป็นต้น
ปัจจุบัน ธนาคารมีพนักงานที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Agents) ร่วมกับฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคาร 115 คนจากทุกฝ่ายงานและสาขา โดยพนักงานกลุ่มนี้ได้ผ่านการอบรม ในโครงการ CSR Day : 1st CSR Day @ Kiatnakin จากสสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม และการให้ความรู้ด้าน CSR ในโอกาสอื่นๆ
นอกจากนี้ ธนาคารส่งเสริมให้พนักงานได้จัดทำโครงการเพื่อสังคมร่วมกับชุมชนรอบข้างอีกมากมาย อาทิ โครงการ KK รวมพลังปลูกร่มชมพูพันธุ์ทิพย์ พัฒนาภูมิทัศน์ของโครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้น ที่จังหวัดอ่างทอง โครงการ Save Energy @ Kiatnakin Bank เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่องแก่ผู้บริหาร พนักงานและครอบครัว โครงการ KK กล้าใหม่ ร้อยดวงใจปลูกป่าชายเลน ปีที่ 2 เพื่อปลูกฝังให้ผู้บริหารและพนักงานร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ป่าชายเลน จังหวัดชลบุรี โครงการ 1 เดือน 1 คน 1 ต้น สวนสวยเพื่อน้อง เพื่อนำไปจัดสวนหย่อมให้น้องโรงเรียนจารุศรบำรุง จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น