xs
xsm
sm
md
lg

มาตรฐานใหม่ มอก. 9999 เป็นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม/ สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดตัว มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุดใหม่ “แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม” เป็นมาตรฐานเลขที่ มอก.9999 เล่ม 1-2556 ต่อไปนี้ผู้ประกอบการในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือสมอ. ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ หวังว่าการมีมาตรฐานมอก.9999 จะช่วยให้วงการอุตสาหกรรมรวมทั้งธุรกิจต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน มีความเข้าใจในหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” และเป็นแนวคิดไปในแนวเดียวกันตามจุดมุ่งหมายข้างต้น
ภาพรวมของมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม
เป็นความชัดเจนว่า ที่เคยมีคนเข้าใจว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องของเกษตรกรรมและสำหรับสังคมชนบท หรือเป็นเรื่องไกลตัวจากสังคม ซึ่งตัวฉันอาจไม่ใช่นั้น
แต่แท้จริงแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้เป็นทั้งแนวคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์แก่คนในสังคมทุกอาชีพและทุกวงการตั้งแต่ระดับองค์กร ผู้บริหารตลอดจนพนักงาน ใช้เป็นแนวทางสร้างความสมดุลให้แก่ธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
องค์กรเช่นนี้จึงได้รับความนิยมเชื่อถือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย กิจการจึงได้ก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการวิชาการที่เตรียมการมาตรฐานแนวปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชุดนี้ ได้เป็นผู้บรรยายนำเมื่อวันเปิดตัวมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่า ต่อไปนี้ จะเป็นนักการเกษตร นักธุรกิจและนักอุตสาหกรรม ขอให้ยึดหลัก 3 ประการและปรัชญาว่าเศรษฐกิจพอเพียง คือ
1.ประมาณตน ให้รู้จักตนเองก่อนไม่ว่าอยู่วงการธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ที่มีลักษณะงานขนาดของเงินทุนที่ต่างกัน แนวทางการพัฒนากิจการย่อมต้องต่งกัน ทั้งเรื่องาน เรื่องทุน การผลิตและการตลาด
ดังนั้น ความพอประมาณจึงต้องมีทั้งระดับส่วนตัว ระดับองค์กร ระดับธุรกิจ จนถึงระดับการบริหารประเทศ
2.ใช้เหตุผล พิจารณาด้วยสตินำทาง พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนให้ “หยุดก่อนชน ตรองให้ดี”
เลือกดำเนินการในสิ่งที่เก่งและถนัด
3.สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันหรือรู้จักบริหารความเสี่ยง มีแผนการจัดการกับความไม่แน่นอน จึงไม่ควรใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือก่อหนี้จนกินตัว
ขณะเดียวกัน ต้องดำเนินการด้วยเงื่อนไขความรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวัง พร้อมกับจิตสำนึกมีคุณธรรม คือ ซื่อสัตย์สุจริต อดทน และมีความเพียร
ดร.วิฑูรย์  สิมะโชคดี
ในวันนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 1045 มาตรฐานแนวปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มุ่งหวังให้ภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งองค์กรในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหน่วยงานของตนให้มีความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และพนักงานในหน่วยงานมีความสุข
“ เรื่องมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมนี้ เกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจที่ได้เห็นผลสำเร็จจากการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตรกรรมและในชนบท กระทรวงอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือของกรมและสถาบันในสังกัดหลายหน่วยงานได้ริเริ่มจัดทำมาตรฐานฉบับนี้เพื่อให้คนทั่วไปรู้ว่าสามารถนำหลักปรัชญาดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมได้เช่นกัน”
“มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ได้กำหนด มอก. เป็นมาตรฐานเลขที่ มอก.9999 ซึ่งเป็นเลขมหามงคลเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่และประยุกต์ใช้ในวงกว้างรวมถึงภาคอุตสาหกรรม” ดร.วิฑูรย์กล่าว
ผู้ประกอบการที่สนใจจะนำ มอก.9999 เล่ม 1-2256 ไปประยุกต์ให้เกิดความยั่งยืนในองค์กรสามารถติดต่อข้อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ข้อคิด...
การเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้องเป็นประเด็นสำคัญมาก และนับวันปรากฎการณ์ภาวะวิกฤตของโลก ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หลักปรัชญาพระราชาชุดนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการป้องกันปัญหาและการแก้ปัญหาของทุกระดับประเทศไทยไปจนถึงระดับโลกได้
เพื่อมีการศึกษาและจัดทำเป็นมาตรฐานมอก.9999 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมจะได้หลักการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่คำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพและคุณธรรม โดยมีการบริหารความเสี่ยง (Risk Manament) เพื่อดำเนินกิจการสู่ความยั่งยืน
มาตรฐานการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ ไม่ใช่มาตรฐานระบบการจัดการ และไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะนำไปใช้เพื่อการรับรอง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของความสมัครใจและดำเนินการแบบควบคุมตัวเอง เช่นเดียวกับ มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000
ผมเชื่อว่า กิจการที่มีแนวคิดและเศรษฐกิจพอเพียง ที่ดำเนินธุรกิจตามทางสายกลางคือไม่หวังผลสุดโต่ง ประเภทหวังกำไรสูงสุด ส่วนครองตลาด ราคาหุ้นสูงสุด กิจการแบบนี้ย่อมเอื้อต่อการมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลลัพธ์ก็จะนำไปสู่ความมั่นคง ยั่งยืน
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น