พระนครศรีอยุธยา - ผู้ตรวจราชการกรม รักษาการในตำแหน่งสถาปนิกใหญ่ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ส่งรายงานความคิดเห็นวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ระบุกรณีสะพาน 200 ปีพระนครศรีอยุธยาถล่ม พบสาเหตุมาจาก “ลวดสลิงผิดแบบ” ไม่ได้มาตรฐาน มอก.420 ด้านท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยมีผู้เกี่ยวข้องกระทำความผิด 7 คน เตรียมดำเนินคดีทางวินัย และอาญา
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (6 มิ.ย.) นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายสุนัย อภิรักษ์ธาธาร ผู้ตรวจราชการกรม รักษาการในตำแหน่งสถาปนิกใหญ่ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ส่งรายงานความคิดเห็นจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ด้านวิศวกรรม กรณีสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทน์ 200 ปี ถล่มที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผุ้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายราย
โดยจากรายงานระบุว่า จากการตรวจสอบแบบของสะพานที่ออกแบบโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า รายละเอียดบางประการที่ระบุในแบบมีความขัดแย้ง และไม่สอดคล้องกันอยู่บ้าง เช่น จำนวนสลิงที่ระบุในแบบไม่ตรงกัน นอกจากนี้ จากการทดสอบลวดสลิงที่พังถล่มด้วยการพินิจ Visual inspection พบว่ามีการก่อสร้างและการใช้วัสดุบางส่วนไม่ตรงตามที่ระบุในแบบ เช่น ชนิดของลวดสลิง พบว่าการก่อสร้างจริงเป็นลวดเหล็กกล้าชนิดไส้เชือก wire rope ซึ่งแตกต่างจากวัสดุในแบบก่อสร้างที่ระบุเป็นลวดเหล็กกล้าตีเกลียวชนิด 7 เส้น ตามมาตรฐาน มอก.420
ขณะที่จากการตรวจสอบการก่อสร้างพบว่า มีการระบุคอนกรีตทับหน้า toppling concrete แผ่นพื้นสำเร็จที่ใช้ทั่วไป โดยระบุเช่นในแบบก่อสร้างแสดงว่าวิศวกรผู้ออกแบบได้คำนึงถึงน้ำหนักในส่วนดังกล่าวที่สะพานต้องแบกรับไว้แล้ว ส่วนจำนวนลวดสลิงที่เพิ่มจาก 12 เส้น เป็น 14 เส้น ตามหลักทฤษฎีแล้ว การเพิ่มจำนวนสลิงส่งผลต่อการรับน้ำหนัก และการก่อสร้างถนนถูกต้องตามมาตรฐานที่แบบอ้างถึง และเป็นไปตามหลักวิศวกรรม ถนนดังกล่าวสามารถรับน้ำหนักบรรทุก Live load ไม่น้อยกว่า 500 กก.ต่อ ตารางเมตร เป็นค่าที่สอดคล้องกับค่าที่กำหนดในมาตรฐานของสะพานกับค่ามาตรฐานของ AASHTO หรือค่ามาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของกรมทางหลวง
ในส่วนของการบำรุงรักษาสะพาน เป็นไปตามมาตรฐานการบำรุงรักษาสะพานของกรมทางหลวงชนบท หรือกรมทางหลวง ส่วนการซ่อมแซมพื้นผิวทางวิศวกรรมสถานไม่สามารถให้ความคิดเห็นในส่วนนี้ได้ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงในเรื่องการซ่อม
ด้านนายวีรณรงค์ อังคารขุน ท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประธานกรรมการตรวจสอบด้านวินัยและค่าเสียหายเหตุสะพานถล่ม เปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อไปหลังจากได้รับรายงานจากป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ โดยอ้างถึงรายงานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยและกรมโยธาธิการ ทำให้พบว่าจากการตรวจสอบหาตัวผู้กระทำความผิด และตรวจสอบเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
“มีผู้กระทำผิดเกี่ยวข้อง จำนวน 7 คน โดยเป็นข้าราชการของเทศบาลตำบลท่าหลวง 5 คน เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง 3 คน และช่างควบคุมงาน 2 คน และผู้แทนชุมชน 2 คน โดยจะดำเนินการทางวินัยและฟ้องร้องค่าเสียหาย ซึ่งจะสรุปผลให้แก่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำรวจชุดสอบสวนในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บต่อไป” นายวีรณรงค์ กล่าว