xs
xsm
sm
md
lg

แง่คิดจากกรณีพม่าหยุดส่งก๊าซให้ไทย / สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรากฏการณ์ที่ประเทศพม่าหยุดส่งก๊าซธรรมชาติช่วงวันที่ 5 - 14 เมษายน ที่ผ่านมา เล่นเอาวงการธุรกิจอุตสาหกรรมพากันเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบถึงขั้นต้องดับไฟ เพราะพลังงานสำรองของไม่พอใช้
แต่ก็มีการตื่นตัวพอสมควรในการร่วมมือกันแผนรณรงค์เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้า
อภิชัย  อินตะแก้ว  ผู้อำนวยการสำนักงานไอทีและบีเอ็มซีกลาง เอสซีจี
องค์กรชั้นนำหลายแห่งถึงกับกำหนดเป้าหมายลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า โดยลดการเดินเครื่องจักรบางจุด หรืออย่างที่บริษัทเครือซิเมนต์ไทย ตามได้คุยกับ อภิชัย อินตะแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานไอทีและบีเอ็มซีกลางซึ่งมีหน้าที่ติดตามระบบเพื่อบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Management ) ตั้งวอร์รูม ติดตามการใช้ไฟฟ้าของบริษัทในเครือตลอดเวลา ในช่วงวันที่ 4 - 5 และ 9 -10 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าให้ได้ 100 เมกะวัตต์ ตามเป้าที่ทางเอสซีจี ประกาศให้ความร่วมมือกับทางราชการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยอดรวมที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ชักชวนสมาชิกให้ร่วมกันลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง 800 เมกะวัตต์
วงการค้าปลีกก็แสดงออกเช่นกันในการช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เกิดภาวะวิกฤตครั้งนี้ ดังที่สมาคมศูนย์การค้าไทยตกลงกับสมาชิก 10 บริษัท ร่วมมือกันประหยัดพลังงานทั้ง 74 สาขาทั่วประเทศ ด้วยการยืดเวลาเปิดศูนย์ออกไป 1 ชั่วโมง และปิดให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง คาดว่าช่วง 10 วันดังกล่าวจะประหยัดพลังงานในศูนย์การค้าต่างๆ ได้ประมาณเกือบ 10 % คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาททีเดียว
เอสซีจีตั้งวอร์รูมติดตามการใช้ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง โดยเมื่อปีก่อนเคยตั้งตอนที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ
อย่างเช่นห้างแม็คโครได้ใช้มาตรการลดใช้พลังงาน ระหว่างวันที่ 5 - 14 เมษายนที่ผ่านมา โดยลดการเปิดไฟโคมสูงในแต่ละสาขาลงครึ่งหนึ่ง ตั้งแต่เวลา 6.00-8.00 น. และ 20.00-22.00 น. ตลอดจนลดการทำงานเครื่องทำน้ำเย็นระบบปรับอากาศเพิ่มอุณหภูมิ ลดการเปิดเครื่องส่งลมเย็น และปรับเพิ่มอุณหภูมิระบบทำความเย็นตู้แช่ขึ้น 1 องศาเซลเซียส
มาตรการนี้จะทำในช่วงเวลาที่ไม่มีผลกระทบกับการ ซื้อสินค้าของลูกค้าสมาชิกที่แม็คโคร และ แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส ทุกสาขา ตลอด 9 วันดังกล่าวคาดว่าจะสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ประมาณ 571,437 กิโลวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 2.308 ล้านบาท
ปรียานุช ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “การริเริ่มมาตรการต่างๆ เหล่านี้เป็นวิธีที่ผ่านการวิเคราะห์เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าสมาชิก และ การปฏิบัติงานของพนักงาน ในขณะที่สินค้าอาหารแช่แข็งหรือแช่เย็นทั้งหมดจะยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถลดปริมาณการใช้พลังงานได้อีกด้วย”
“ที่ผ่านมา แม็คโครมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านการประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เมื่อหน่วยงานภาครัฐขอความร่วมมือเช่นในครั้งนี้ เราจึงมีความยินดีที่จะสนับสนุน เพราะเป็นการเน้นย้ำจุดยืนของบริษัทฯ และยังเป็นการช่วยประเทศชาติในอีกทางหนึ่งด้วย”
ตัวอย่างหนึ่งที่จัดกิจกรรมรณรงค์ประหยัดไฟฟ้าสู้วิกฤตพลังงาน เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า โดยอาคารสำนักงานและสาขาของธนาคารกรุงเทพทุกแห่งปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ 26 องศาเซนเซียส อนุโลมให้พนักงานทั้งชาย-หญิง สวมเสื้อแขนสั้นโดยไม่ต้องสวมสูท หรือผูกเนกไทมาทำงาน รวมถึงการลดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ปิดสวิตซ์ไฟฟ้า และถอดปลั๊กไฟทุกครั้งเมื่อได้ใช้งาน
ข้อคิด...
เราผ่านเหตุการณ์ใกล้วิกฤตพลังงานไฟฟ้ามาได้ดีก็ด้วยความร่วมมือของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งใช้ไฟฟ้าจำนวนมหาศาล
การรณรงค์ให้ปิดไฟ บางจุดลง ปรับแอร์ที่ 36 องค์ศา และปลดปลั๊กไฟ เมื่อหยุดใช้เครื่องไฟฟ้า นั่นก็เป็นการกระตุ้นทางหนึ่ง
เหตุการณ์ครั้งนี้ให้ข้อคิดหลายประการ
1. เสมือนพม่าได้สกิดประเทศไทยให้คิดว่าการหวังพึ่งพลังงานจากนอกประเทศ ถ้าสักวันหนึ่งมีเหตุให้มีการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติมาไทยอีก เราจะทำอย่างไร
2. ความตื่นตัวเพื่อผ่านพ้นวิกฤติ ทำให้หลายหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนมีการปรับเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นการปรับแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาระดับชาติแบบเฉพาะกิจ ซึ่งน่าจะได้ข้อมูลความรู้มาปรับใช้เพื่อการประหยัดแบบถาวร
3. การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนค่อนข้างสูงถึงประมาณ 70 % ถ้าภายใน 10 ปี ข้างหน้าก๊าซในอ่าวไทยหมดเราจะทำอย่างไร จึงควรส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. การสร้างจิตสำนึกของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ในการประหยัดพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา และใช้เท่าที่จำเป็น และใช้อย่างคุ้มจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำอย่างจริงจังและเป็นกระบวนการ ไม่ใช่แค่การรณรงค์เชิงคำขวัญ หรือการจัดกิจกรรมแบบชั่วครั้งชั่วคราวตามสถานการณ์
5. จำเป็นต้องมีกฏระเบียบและมาตรการเพื่อการประหยัด ทั้งการสนับสนุนด้วยมาตรการภาษี สนับสนุนการผลิตวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือ ทั้งการส่งเสริมด้วยการยกย่องให้รางวัลการค้นคิดนวัตกรรม ควรต้องพัฒนาต่อเนื่อง

suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น