ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ออกใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ให้ผู้ประกอบการไปแล้วทั้งสิ้น 3,667 ราย ประกอบด้วย ระดับที่ 1 จำนวน 1,619 ราย ระดับที่ 2 จำนวน 870 ราย ระดับที่ 3 จำนวน 1,162 ราย และ ระดับที่ 4จำนวน 30 ราย
ทั้งนี้ ผู้ได้ใบรับรองในระดับที่ 4 เป็นระดับที่แสดงว่าองค์กรดังกล่าวมีวัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) อย่างชัดเจนนั้นทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดพิธีมอบเกียรติบัตร พร้อมการสัมมนา “ก้าวต่อไป...อุตสาหกรรมสีเขียวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น
“ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรม มีหน้าที่ในการส่งเสริมให้สถานประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินกิจการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด นั่นเองที่นำมาสู่แนวคิดเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนตามโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว” ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว และว่า
สถานประกอบการที่เข้าโครงการทั้งในระดับเริ่มต้นก็แสดงออกว่ามีความมุ่งมั่นเพื่อจะก้าวต่อไปในระดับที่สูงขึ้น ส่วนสถานประกอบการที่ได้ระดับที่ 4 แสดงถึงการมีวัฒนธรรมที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าการเดินไปสู่เส้นทางอุตสาหกรรมสีเขียวก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติและผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยสามารถลดต้นทุนการผลิต สร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น สร้างการยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ข้อสำคัญนี่คือหลักประกันถึงความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจในอนาคต
“30 ราย จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 3,667 ราย ได้ในระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว สะท้อนถึงการเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่ารัฐบาล ประชาชนผู้บริโภค ย่อมเชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีคุณภาพ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชุมชนและสังคมไทย รวมถึงมีส่วนช่วย ก.อุตฯ ในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่จะต้องก้าวข้ามแนวคิดเดิมๆ โดยมุ่งแต่ผลกำไรทางตัวเงินเป็นหลัก”
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำว่า ความเป็นจริงของบ้านเราในวันนี้ก็คือความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างโรงงานกับชุมชนโดยรอบโรงงานที่ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแม้จะสามารถอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการกำจัดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ หรือลดระดับปัญหาจนอยู่ในมาตรฐานสากลได้ก็ตาม แต่ชุมชนก็ยังไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อในคุณภาพของผู้ประกอบกิจการโรงงานจนถึงขนาดไม่เชื่อมั่นในผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่าได้มาตรฐานจริง ตลอดจนไม่เชื่อมั่นในระบบราชการ จึงแทบจะไม่มีโรงงานใดที่ไม่ถูกร้องเรียน และขยายผลสู่การชุมนุมประท้วงไม่ให้โรงงานตั้งใหม่ ดังนั้น สถานประกอบการ โรงงาน และสังคมไทย ต้องเลือกระหว่างการมีโรงงานที่เป็น Green Industry หรือจะไม่มีโรงงานใหม่อีกต่อไป (No Industry)
" สถานประกอบการ โรงงาน และสังคมไทย ต้องเลือกระหว่างการมีโรงงานที่เป็น Green Industry หรือจะไม่มีโรงงานใหม่อีกต่อไป (No Industry) "
ยุทธศาสตร์ 5 ระดับอุตสาหกรรมสีเขียว
ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวใน 5 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน
ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ สำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้
ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตาม ประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมถึงการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับและการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือการที่ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือร่วมใจดำเนินงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในทุกด้านของการประกอบกิจการจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือการแสดงถึงการขยายเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียวโดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย