xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจี สู่ต้นแบบ Green Building ระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล ปลื้มกับถาดรับรองมาตรฐานระดับสูงสุด LEED Platinum เป็นรายแรกในอาเซียน

  • กรณีผลสำเร็จของประเภทอาคารใช้งาน ที่ได้รับรองมาตรฐานระดับสูงสุด LEED Platinum เป็นรายแรกในอาเซียน

  • สู่การต่อยอดในธุรกิจ Green Building ให้คำปรึกษา-สนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


ดูกันชัดๆ ถาดรับรองมาตรฐานสูงสุด LEED Platinum
นับว่าเป็นความสำเร็จของเอสซีจี ในระดับสูงสุดของภูมิภาคอาเซียนซึ่งไปสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ที่ว่า “ภายในปี พ.ศ. 2558 เอสซีจี จะเป็นองค์กรที่ได้รับการยกย่องในฐานะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

เดินหน้า Green Business สู่ Green Building
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เอสซีจี มีนโยบายมุ่งสู่ Green Business โดยดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมหลายๆ เรื่องอย่างชัดเจน เช่น การจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียอุตสาหกรรมด้วยการไม่นำไปฝังกลบ (Zero Waste to Landfill) การพัฒนาระบบการจัดการขยะชุมชนเพื่อนำของเหลือใช้ที่ยังมีคุณค่ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน การใช้ถ่านหิน หรือน้ำมัน การผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนเหลือใช้ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ SCG eco value ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางไปสอดรับต่อการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน Green Building
ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซิเมนต์ และ ประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงอาคารต่างๆ ในบริเวณสำนักงานใหญ่ คือ อาคาร 1, 2 และ อาคาร 5 ซึ่งอยู่ในพื้นที่เชื่อมต่อกัน ที่สำคัญเป็นอาคารที่ใช้งานมานานถึง 30 ปี ซึ่งค่อนข้างยากกว่าการเริ่มดำเนินการในอาคารใหม่ เพราะจะต้องทำการปรับปรุงแก้ไขให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม เรามีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นจากการปรับปรุงให้ลดผลกระทบจากมลภาวะ และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
ร่วมยินดีกับ ชลธร ดำรงศักดิ์  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศและความยั่งยืน เอสซีจี และ นำพล ลิ้มประเสริฐ  ผู้จัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเภทการปรับปรุงอาคารใช้งาน (LEED EB:OM) ระดับสูงสุด LEED Platinum เป็นรายแรกในอาเซียน
เอสซีจี แสดงความมุ่งมั่นที่จะได้รับรองมาตรฐาน LEED ระดับสูงสุดอย่างต่อเนื่อง จึงดำเนินการตั้งแต่ การดูแลรักษาทั้งด้าน Hardware เช่น สภาพภูมิทัศน์ ระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ประหยัดน้ำ และด้าน Humanware เช่น การปลูกฝังจิตสำนึกด้านการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม การร่วมกันอนุรักษ์พลังงาน การประหยัดน้ำ ระบบการจัดการของเสียจากอาคาร และการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระทั่งการขยายผล Green Buildingไปสู่อาคารอื่นๆ โดยเฉพาะอาคารสร้างใหม่ อาทิ อาคารสำนักงานใหญ่ 3 และอาคารจอดรถที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยมุ่งสู่ LEED ประเภทอาคารสร้างใหม่ ในระดับสูงสุดต่อไปด้วยเช่นกัน
“เราตั้งเป้าหมาแต่แรกว่าต้องการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน LEED ในระดับสูงสุด คือ ระดับแพลตินัม และเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้ ทั้ง 3 อาคารก็ได้รับการรับรองมาตรฐานมาพร้อมๆ กัน โดยได้ 95 คะแนนจากคะแนนเต็ม 110 คะแนน”
ทั้งนี้ การแบ่งระดับการรับรองมาตรฐานของ LEED แบ่งเป็น 4 ระดับด้วยกัน คือ 1) LEED Certified ระดับประกาศนียบัตรรับรอง ได้คะแนน 40-49 คะแนน 2) LEED Silver ระดับเงิน ได้ 50-59 คะแนน 3) LEED Gold ระดับทอง ได้ 60-79 คะแนน และ 4) LEED Platinum เป็นระดับแพลทินัม จะต้องได้ 80 คะแนนขึ้นไป
ส่วนการใช้หลักเกณฑ์การพิจาณาของ LEED สำหรับประเมินระดับการรับรองมี 7 ประการด้วยกัน ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งอย่างยั่งยืน (Sustainable Site : SS) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency : WE) พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere : EA) วัสดุและทรัพยากร (Materials and Resources : MR) คุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environment Quality : IEQ) นวัตกรรมในการออกแบบ (Innovation in Design : ID) และลำดับความสำคัญของท้องถิ่น (Regional Priority : RP)
โมเดลกรีน สโตร์ ของร้านกาแฟสตาร์บัคส์ สาขาแรกที่ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ หรือซีดีซี ล่าสุดได้รับใบรับรองมาตรฐาน LEED® ระดับ Silver คือ หนึ่งในผลงานธุรกิจใหม่ของเอสซีจี
ส่งเสริมธุรกิจใหม่ Green Building
การที่เอสซีจี ได้มาตรฐาน LEED ระดับสูงสุด ย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจกรีนบิลดิ้ง ซึ่งจัดตั้งใหม่เมื่อปีที่ผ่านมาที่มี คณาปภา อรรคภาส์ เป็นผู้จัดการกรีนบิลดิ้ง ปัจจุบันมีทีมงานอยู่ 10 คน และมีที่ปรึกษาที่เป็นคณาจารย์ทั้งด้านสถาปนิกและวิศวกรก่อสร้างในมหาวิทยาลัยชั้นนำ
ก่อนหน้านี้ปรากฏว่าได้ผลตอบรับที่ดีจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างประเภทอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเอสซีจีมีวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกือบ 80% เช่น คอนกรีตมวลเบา สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง กระเบื้องมุงหลังคา บล็อกปูถนน เป็นต้น
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซิเมนต์ บอกว่า ธุรกิจกรีนบิลดิ้ง เป็นการให้คำปรึกษาเพื่อให้อาคารสำนักงานได้รับการรับรองมาตรฐานของ LEED เอสซีจี เข้าสู่ธุรกิจนี้เพราะมองเห็นกระแสการเติบโตของธุรกิจที่หันมาใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจึงตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2559 จะทำรายได้จากธุรกิจนี้ 1,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ เอสซีจียังมุ่งยกระดับและขยายผลเรื่องอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดผลกระทบจากการใช้งานอาคาร ด้วยการจัดทำมาตรฐาน SCG eco Office ที่มุ่งเน้นเรื่อง Green Activities อาทิ ลดการเดินทางของพนักงานโดยใช้การสื่อสารแบบ Tele-conference มากขึ้น ลดการใช้กระดาษในสำนักงานสู่สำนักงานไร้กระดาษ (Paperless Office) บริหารจัดการของเสียแบบแยกประเภทให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อมุ่งสู่การไม่นำของเสียไปฝังกลบ (Zero-waste to Landfill) และการ Reuse/Recycle น้ำจากการใช้งานทั้งหมดเพื่อมุ่งสู่การไม่ปล่อยน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม (Zero Water Discharge)
“การที่เอสซีจี ได้รับมาตรฐาน LEED ระดับสูงสุด ย่อมจะช่วยสร้างคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขอนามัยที่ดีสำหรับพนักงาน ตลอดจนเพื่อเป็นต้นแบบให้ทุกๆ อาคาร ไม่ว่าอาคารใช้งานและอาคารใหม่ ก็สามารถปรับปรุงให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ เพื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการนำระบบนิเวศที่ดีกลับคืนมาอย่างยั่งยืน” ปราโมทย์ กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น