Builder magazine จัด 10 อันดับ แนวโน้มของอาคารกรีนแห่งปี 2012 จากบทความเรื่อง Green Building Megatrends for 2012 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกรีนชื่อ เจอร์รี่ ยูเดลสัน สมญานาม godfather of green ซึ่งได้สรุปแนวโน้มของอาคารกรีนในปี 2012 ว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างจะเป็นไปอย่างไรในอนาคต
ปัจจุบันอุตสาหกรรมก่อสร้างมีแนวโน้มไปทางกรีนมากขึ้นแต่ขณะเดียวกันด้านงบประมาณในการพัฒนาธุรกิจสู่กรีนกลับไม่สามารถเพิ่มขึ้น ความท้าทายจึงอยู่ที่การสร้างสรรค์ผลงานให้ดีขึ้น
ส่วนแนวโน้มของอาคารกรีนที่เรียกว่า Green Mega Trend ที่จะเติบโตขึ้นในปี 2012 ทั้งในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจะเป็นอย่างไรบ้าง กอดฟาร์เธอร์แห่งกรีน บอกว่า
แนวโน้มแรก การเติบโตอย่างต่อเนื่องของระบบการประเมินอาคารกรีนในระบบ LEED ซึ่งเป็นคำย่อของ Leadership in Energy & Environmental Design บริหารงานโดย USGBC (U.S. Green Building Council) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปัจจุบันจะพิจารณาจากหัวข้อต่างๆ ได้แก่ ผังบริเวณและภูมิทัศน์ (Sustainable Sites) ประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Water Efficiency) การใช้พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere) วัสดุและการก่อสร้าง (Material and resources) คุณภาพสภาวะแวดล้อมในอาคาร (Indoor Environmental Quality) การเป็นนวัตกรรมเขียว (Innovation in Design) และการเอื้อต่อสภาวะท้องถิ่น (Regional Priority)
แนวโน้มที่สอง การให้การสนับสนุนจากรัฐบาลด้านการพัฒนาอาคารกรีนเพื่อประหยัดพลังงานมีแนวโน้มลดลงหรือไม่มีงบประมาณเพิ่มเติมให้อีกในอนาคต ทำให้การลงทุนในการพัฒนาอาคารกรีนที่ประหยัดพลังงานมาจากเอกชนเอง
แนวโน้มที่สาม เกณฑ์การประเมินอาคารเขียวที่เป็นอาคารเก่า หรือ LEED for Existing Building Operation and Maintenance หรือ LEED EBOM มีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น โดยประกอบด้วยกิจกรรม 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย (1) การปรับปรุงอาคาร (2) การสำรวจและเก็บข้อมูล (3) การจัดทำและดำเนินงานตามนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะอาคารที่เป็นโรงแรม ที่มีส่วนของการประชุมทางธุรกิจและคอนเวนชั่นที่ต้องการพิสูจน์ว่าเป็นส่วนที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อม และร้านค้าปลีกรายย่อย โรงพยาบาลและห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่ทำท่าว่าจะดำเนินไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกัน
แนวโน้มที่สี่ คือ ประเด็นของการบริหารจัดการน้ำ ที่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงการบริหารน้ำเสียจากระบบการผลิตของกิจการอุตสาหกรรมด้วยระบบการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ หากแต่ยังรวมไปถึงการบริหารน้ำเสียจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง จากระบบน้ำทิ้งจากห้องสุขาไปใช้ในห้องสุขาต่อไป ไม่มีการทิ้งเสีย
แนวโน้มที่ห้า คือ Zero-net-energy ซึ่งเป็นอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 4 ชั้น ที่เน้นกรีนในลักษณะที่บูรณาการทั้งวงจร ทั้งในขั้นตอน การก่อสร้าง การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งมุ่งเน้นอย่างเดียวกันไปที่การประหยัดพลังงาน อีกทั้งมีเทคโนโลยีในการเก็บรักษาไฟฟ้าสำรองและมีการใช้พลังงานทดแทนที่ไม่ได้มาจากระบบพลังงานสิ้นเปลืองแบบเดิม
แนวโน้มที่หก คือ อาคารสีเขียวยังคงมีการเติบโตต่อไป โดยคาดว่าปัจจุบันมีอาคารกรีนในโลกแล้วไม่น้อยกว่า 90 อาคาร และอาคารตามโครงการก่อสร้างอาคารตามแนวทางของ LEED ที่จดทะเบียนแล้วไม่น้อยกว่า 161 ประเทศ โดย 44% ของโครงการอาคารที่ก่อสร้างตามแบบ LEED อยู่นอกสหรัฐ แนวโน้มนี้ชี้ว่านักการตลาดในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อจับตามอง 3 ปัจจัยยักษ์ใหญ่ในวงการได้แก่ LEED , BREEAM และ Green Star ต่างปรับมาตรวัดคุณภาพของความเป็นกรีนมาสู่ระบบที่ใกล้เคียงกัน ทั้งในการวัดด้วย common carbon metric และ common rating concerns
แนวโน้มที่เจ็ด คือ การกดดันให้กิจการก่อสร้างเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานต่อสาธารณชน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในสหรัฐ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ที่กำหนดให้อาคารเปิดเผยความสิ้นเปลืองในการใช้พลังงานของตน ซึ่งทำให้ผู้ที่เข้าไปใช้อาคารสามารถรับรู้และเปรียบเทียบได้ว่าแต่ละอาคารจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะอาคารในเมืองใหญ่ในโลกนี้
แนวโน้มที่แปด การจัดอันดับ ฉลาก Carbon Rating ฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะมีลักษณะคล้ายกับ energy label ในสหภาพยุโรป โดยฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะแบ่งกลุ่มโดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดาว จาก 1 จนถึง 5 ดาว หากสินค้าใดได้จำนวนดาวมากหมายถึงสินค้าชนิดนั้น ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ในปริมาณมากกว่าสินค้าที่ได้ดาวน้อยดวง ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้กับอาคารด้วย เพื่อใช้เป็นประเด็นตัดสินใจลงทุนในทรัพย์สินของกองทุนเงินทดแทน
แนวโน้มที่เก้า คือ การพัฒนาการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันยังถือว่ามีการเติบโตต่ำเพราะต้นทุนที่สูง และทำให้อาคารเดิมที่สร้างไปแล้วหันไปหาทางประหยัดพลังงานแบบอื่นแทน แต่ในทางปฏิบัติมีหลายคนที่ยังชอบพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะเป็นเชิงประจักษ์ที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะในอาคารที่จะสร้างใหม่ยังสนใจจะพยายามใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ หากราคาถูกลงและติดตั้งง่ายกว่านี้
แนวโน้มที่สิบ คือ การบริหารอาคารที่คาดว่าจะเพิ่มการใช้คลาวด์คอมพิวติ้งมากขึ้น โดยเฉพาะอาคารที่ระบบบริหารมีความซับซ้อนมาก ๆ ต้องการนำซอฟท์แวร์มาช่วยสนับสนุนการบริหาร รวมทั้งระบบเซนเซอร์และควบคุมอาคารแบบไร้สาย ที่ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาในอาคารด้วยรีโมท ไม่ต้องส่งคนไปในพื้นที่ ก็สามารถบริหารจัดการปัญหาได้