ในร่างกายของมนุษย์เรามีจุลินทรีย์และแบคทีเรียในลำไส้มากถึง 100 ล้านล้านตัว มีทั้งที่เป็นตัวดีและตัวไม่ดี แล้วรู้ไหมคะว่า ถ้าแบคทีเรียในลำไส้ไม่สมดุล จะสัมพันธ์กับการเกิดโรค แล้วจะมีโรคอะไรบ้าง
พญ.กฤดากร เกสรคำ แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้เผยว่า โดยส่วนใหญ่เมื่อถึงแบคทีเรียจะเน้นไปที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทโพรไบโอติก (Probiotic) ซึ่งเป็นชนิดดี และประเภทจุลินทรีย์ก่อโรค (Pathogen) ซึ่งเป็นชนิดไม่ดี
1. ประเภทโพรไบโอติก (Probiotic)
โพรไบโอติก เป็นประเภทของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ มีประโยชน์มากมายต่อร่างกาย โดยทั่วไปจะเป็นแบคทีเรียประจำถิ่น อาจพบได้หลายที่ในระบบทางเดินอาหาร แต่พบได้มากที่สุดในลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้โพรไบโอติก ยังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของวิธีรักษาภาวะสุขภาพให้สมดุล เนื่องจากเป็นแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่ทำหน้าที่สร้างกรดแลกติก พร้อมยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อโรค และการย่อยอาหารของจุลินทรีย์ พร้อมส่งเสริมการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของโพรไบโอติก
•สร้างสมดุลให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย
•กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย
•รักษาและบรรเทาอาการโรคกระเพาะ
•ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
•ลดอาการอักเสบและภูมิแพ้ของร่างกาย
2. ประเภทจุลินทรีย์ก่อโรค (Pathogen)
ในขณะเดียวกัน ลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ยังมีแบคทีเรียชนิดที่ไม่ดีอยู่ด้วย โดยเป็นประเภทจุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเผชิญกับโรคต่าง ๆ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคติดเชื้อจากอาหาร และโรคจากสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นมา ซึ่งอาจมีอาการความรุนแรงได้ตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก หรืออาจคุกคามต่อชีวิตได้ จุลินทรีย์ก่อโรคนั้นเป็นได้ทั้งรา ไวรัส และปรสิต แต่ตัวที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดคือ แบคทีเรีย ซึ่งเรารับเพิ่มเข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหารนั่นเอง
แบคทีเรียในลำไส้มีบทบาทอย่างมากต่อภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อไม่สามารถรักษาให้สมดุลได้อย่างที่ควรเป็น ร่างกายก็จะแสดงอาการป่วยออกมาผ่านภาวะและโรคต่าง ๆ เช่น
•โรคลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ: เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต โดยสาเหตุที่พบบ่อยมักมาจากเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) และเชื้ออีโคไล (E.coli) ที่ปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำ
•ภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล: เกิดจากการขาดสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับสมอง ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม รวมถึงการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน หรือฮอร์โมนแห่งความสุขที่ลำไส้ต่ำลง จึงไม่แปลกที่จะทำให้รู้สึกเศร้า เครียด และปวดท้องตามมา ทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมถอยเร็วกว่าวัยอันควร
•ภาวะอ้วน: เนื่องจากจุลินทรีย์ในลำไส้มีบทบาทเป็นอย่างมากต่อระบบเผาผลาญพลังงาน ดังนั้นการปรับสมดุลโพรไบโอติก จึงมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากที่จะลดภาวะเสี่ยงจากการเป็นโรคอ้วน
•โรคผิวหนัง: เกิดจากการรั่วซึมของสารพิษจากแบคทีเรียในลำไส้ เมื่อมีภาวะไม่สมดุลก็จะทำให้การดูดซึมและเผาผลาญไม่ดี ทำให้เกิดอาการอักเสบ ส่งผลต่อการเกิดโรคผิวหนัง สิว กลากเกลื้อน และภูมิแพ้ผิวหนังได้ อันจะนำไปสู่การเกิดริ้วรอย ผิวพรรณไม่สดใส แลดูแก่กว่าวัยได้
•โรคมะเร็งลำไส้: แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่บางชนิดอย่างเชื้อฟิวโซแบคทีเรียม (Fusobacterium) และเชื้อโพรวิเดนเซีย (Providencia) ถือเป็นชนิดที่มีความเสี่ยงอย่างมากในการก่อให้เกิดเชื้อมะเร็งในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้การรับประทานเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย
นอกจากโรคและภาวะที่ยกตัวอย่างมา การขาดสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ยังส่งผลต่อความเสี่ยงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคตับอีกด้วย